นักวิจัยหนุนชุมชนปลูกไม้โตเร็วทำพลังงานทดแทน แนะรัฐเพิ่มส่วนรับซื้อชีวมวลใหม่
นักวิจัยบอกไม้โตเร็ว มีศักยภาพสูง หนุนท้องถิ่นปลูกเป็นแหล่งพลังงานทดแทน ชี้โรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนเกิดยาก เพราะรัฐจ่ายส่วนเพิ่มรับซื้อพลังงานชีวมวลต่ำ ชาวบ้านเกรงทำแล้วเสี่ยงไม่คุ้มทุน เสนอรัฐทบทวนปรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อใหม่
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่โรงแรมใบหยก สกาย ราชเทวี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการ “บทบาทพลังงานชีวมวลเพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย” โดย ศ.ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย สกว. กล่าวว่า ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งแล้วประมาณ 33,000 เมกะวัตต์ และแก๊สธรรมชาติยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่มีสัดส่วนสูงสุดตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นและเป็นที่ต้องการของภาคขนส่งมากที่สุด ในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจึงอาจสูงขึ้น และจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกินส่วนแบ่งการปล่อยของประเทศไทย ดังนั้นการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 15 ปี
“แต่จากการประเมินศักยภาพพลังงานน้ำในลุ่มน้ำปิง ยม ชี และมูล ด้วยเขื่อนพลังงานขนาดเล็ก คาดว่าศักยภาพไม่ต่ำกว่า 1,500 เมกะวัตต์ ด้วยส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) ที่รัฐกำหนดเพียง 1.50 บาทต่อหน่วย ในขณะที่พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้แอดเดอร์ถึง 8 บาท ทั้งที่การผลิตไฟฟ้าจากทั้ง 2 แหล่งมีข้อดีคล้ายคลึงกัน”
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยใช้ไม้ทั้งหมดประมาณ 40 ล้านตันในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ โดยเฉพาะการนำมาใช้ด้านพลังงานซึ่งอนาคตจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น การผลิตพลังงานชีวมวลจากไม้โตเร็ว เช่น กระถินยักษ์, กระถินเทพา, กระถินณรงค์, ยูคาลิปตัส ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสูงและมีทั่วไปตามท้องถิ่นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทนได้
ผศ.ดร.นิคม กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลงานวิจัยระดับชุมชนในพื้นที่ ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พบว่ามีการบริหารจัดการวัตถุดิบไม้โตเร็วเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าและแก๊สหุงต้มอย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สวนป่าเชิงเดี่ยว, สวนป่าผสม, วนเกษตร, การปลูกบนหัวไร่ปลายนา, ปลูกเป็นแนวกันลมหรือขอบเขตแปลง และในลักษณะหน้าบ้านหลังครัวรอบรั้วดินแดน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มักอยู่ใกล้กับแหล่งรับซื้อหรือแหล่งอุตสาหกรรมที่มีการใช้ประโยชน์โดยตรง คมนาคมสะดวก โดยปัจจัยหรือแรงจูงใจของเกษตรกรต่อการปลูกพืชเหล่านี้คือ การทำให้ที่ดินที่เป็นปัญหาถูกนำมาใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และช่วยเพิ่มสมรรถภาพของที่ดินในระยาวด้วย
รศ.ดร.สุรีย์ ภูมิภมร จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ไม้ฟืนและถ่านหินมากกว่าร้อยละ 74 โดยไม่มีนโยบายและแผนงานการใช้อย่างยั่งยืนที่ชัดเจน ยังมีการเก็บไม้ฟืนและเผาถ่านเป็นพลังงาน โดยไม่มีการปลูกทดแทนอย่างเป็นระบบ ตรงนี้จะสร้างปัญหาในระยะยาว การใช้พลังงานชีวมวลที่มีอยู่มากในประเทศมีความเหมาะสมและศักยภาพที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าได้
สำหรับประเด็นความพร้อมและศักยภาพในการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กสำหรับชุมชน ศ.ดร.สายัณห์ ทัดศรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ชุมชนมีวัตถุดิบจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น แกลบ ฟางข้าว ซังข้าวโพด ไม้โตเร็ว หรือแม้กระทั่งหญ้า ซึ่งมีจุดเด่นที่ปลูกง่าย ใช้ได้หลายปี สามารถนำมาผลผลิตไฟฟ้าได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ปัจจัยหลักอย่างรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้กำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งหากยังใช้อัตราปัจจุบันอาจเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเอกชนผู้ตั้งโรงไฟฟ้าและเกษตรกรผู้ขายต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและความเสี่ยงในอนาคต
“เอกชนกับเกษตรกรเป็นผู้ผลิตอยู่ข้างล่าง ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนที่ให้แอดเดอร์แค่บาทกว่า กับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของกลุ่มที่มีทุนสูงอยู่แล้ว แต่กลับให้ราคาตั้ง 8 บาทกว่า ตรงนี้รัฐอาจต้องทบทวนว่าควรจะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่”
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่าปัญหาสำคัญคือ 1.ศักยภาพพลังงานชีวมวลที่ใช้ปัจจุบันมีปริมาณจำกัด 2.ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราที่ยังไม่คุ้มทน เนื่องจากชีวมวลมีต้นทุนสูง และ 3.อาจมีความเสี่ยงด้านการบุกรุกพื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชอาหาร
นายรังสรรค์ สโรชวิกสิต ผอ.สำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า พลังงานทดแทนเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งในด้านการสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรท้องถิ่น, ช่วยสร้างตลาดให้พืชที่ไม่มีการใช้ประโยชน์หรือเศษวัสดุเหลือทิ้งจากผลิตผลการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้น, การจ้างงานและการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานของประเทศให้พึ่งตนเองมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศและยืดเวลาการใช้ทรัพยากรให้ยาวนานออกไปด้วย.