เปิดสารพัดคดีสำคัญในมือ ปปง.ชาติเสียหายเฉียด5แสนล. อายัด-ยึดแล้ว4หมื่นล.
“…สำหรับมูลค่าความเสียหายในคดีสำคัญต่าง ๆ มีทั้งสิ้น 469,034 ล้านบาท อย่างไรก็ดีทรัพย์สินที่ ปปง. ยึด และอายัด พร้อมกับส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท…”
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2560 พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงถึงผลการดำเนินงานของสำนักงาน ปปง. ในรอบปีที่ผ่านมา ถึงการเข้าไปยึด และอายัดทรัพย์สินในคดีสำคัญต่าง ๆ หลายสิบคดี รวมวงเงินทั้งหมดสูงถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปแต่ละคดีสำคัญไว้ ดังนี้
คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับเอกชนกระทำความผิด อย่างน้อย 4 คดี ได้แก่
1. คดีทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่าความเสียหาย 32,555 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 6,352 ล้านบาท และกล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 8 ราย คือ 1.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด 2.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 3.บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด 4.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด 5.บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด 6.บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล 8.บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันอัยการสูงสุดมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดรายแล้ว
2.คดีเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีคดีกว่า 100 คดี มูลค่าความเสียหาย 405,000 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ส่วนหนึ่งที่มาจาก 4 สัญญา (ซึ่งเป็นสัญญาจีทูจี) ซึ่งเป็นเพียงคดีเดียวใน 100 กว่าคดี มูลค่า 12,909 ล้านบาท และกล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 4 ราย ดังนี้ 1. นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง 2. นายสุธี เชื่อมไธสง 3. นายนิมล หรือณพชร รักดี 4. นายสมคิด เอื้อนสุภา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3. คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อโดยทุจริต มูลค่าความเสียหาย 10,000 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 64 ล้านบาท
4. คดีทุจริตการจัดซื้อสารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน มูลค่าความเสียหาย 657 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 461 ล้านบาท
คดีที่เอกชนกระทำความผิด อย่างน้อย 8 คดี ได้แก่
1.คดีค้ามนุษย์ (สถานบริการนาตารี) สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 724 ล้านบาท
2. คดีบริษัทฝูอัน ทราเวล จำกัดและบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต หรือคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 9,542 ล้านบาท และสำนักงาน ปปง. ได้กล่าวโทษความผิดอาญาฐานฟอกเงินต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 13 ราย คือ 1.นายสมเกียรติ คงเจริญ 2. นางธวัล แจ่มโชคชัย 3. นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี 4. นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี 5. บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต 6. บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 7. บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด 8. บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ จำกัด 9. บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด 10. นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี 11. บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด 12. นางสาวสายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี 13. นายวินิจ จันทรมณี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา
3.คดีธรรมกาย มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 2,344 ล้านบาท อาทิเช่น กรณีสั่งจ่ายเช็ค 27 ฉบับให้ พระธัมมชโย (โครงการเวิลด์พีซ) มูลค่า 1,585 ล้านบาท กรณีที่ดินนางสาวอลิสา อัศวโภคิน จำนวน 8 แปลง มูลค่า 289 ล้านบาท กรณีการซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัท เอ็ม – โฮม เอสพีวี 2 จำกัด กับนายอนันต์ อัศวโภคินและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ มูลค่า 470 ล้านบาท เป็นต้น
4. คดีผู้ลำเลียงยาเสพติดไปยังภาคใต้โดยใช้รถไฟ สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 196 ล้านบาท
5.คดีเครือข่ายไซซะนะ สำนักงาน ปปง. บูรณาการเข้าร่วมตรวจค้นกับสำนักงาน ป.ป.ส., บช.ปส., กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 500 ล้านบาท
6.คดีนายเล่าต๋า แสนลี่ สำนักงาน ปปง. บูรณาการร่วมกันกับ บช.ปส. และตำรวจภูธรภาค 5 ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 24 ล้านบาท
7.คดี พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ มูลค่าความเสียหาย 263 ล้านบาท สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 29 ล้านบาท
8.คดีการพนันออนไลน์ สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 115 ล้านบาท
คดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดระหว่างประเทศ เช่น คดีนายจาง ชิง ตวน สำนักงาน ปปง. ประสานงานกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มูลค่าประมาณ 1,000 ล้าน สำนักงาน ปปง. ทำการยึดและอายัดทรัพย์สินได้ มูลค่า 346 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าความเสียหายในคดีสำคัญต่าง ๆ มีทั้งสิ้น 469,034 ล้านบาท อย่างไรก็ดีทรัพย์สินที่ ปปง. ยึด และอายัด พร้อมกับส่งสำนวนให้อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท
พล.ต.อ.ชัยยะ ยืนยันว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีคดีอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำนักงาน ปปง. จะต้องนำกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปดำเนินการเพื่อนำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความความผิดกลับคืนสู่แผ่นดินต่อไป
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้น จะเห็นได้ว่า มูลค่าความเสียหายในคดีต่าง ๆ มีสูงถึงเกือบ 5 แสนล้านบาท แต่ ปปง. ยึด-อายัด ส่งให้อัยการร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแค่เพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นต้องรอจับตาดูหลังจากนี้ว่า คดีสำคัญต่าง ๆ ที่มีนักการเมืองระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น คดีจำนำข้าว คดีกรุงไทย จะดำเนินการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมได้เมื่อไหร่ เสร็จสิ้นตอนไหน แล้วจะสาวไปถึงทรัพย์สินของตัวการใหญ่ทั้งหมดได้หรือไม่
ต้องติดตามกันต่อไป !