เอกชนขายของ โชว์ข้อเสนอ ‘รถเมล์’ ยุคปฏิรูป ‘ทำได้’ แลกยืดสัมปทาน
ยุคปฏิรูปรถเมล์ไทย 'เอกชน' ขายของรัฐ รับปากนำเข้ารถใหม่วิ่งบริการ ปชช. ติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัย มีระบบอีทิคเก็ต สมาคมผู้ประกอบการฯ ยอมรับที่ผ่านมาบริการเเย่ เหตุขาดสภาพคล่อง ต้นทุนไม่สมเหตุสมผล เผยพร้อมรวมกลุ่มเป็นรายเดียวเหมือน ขสมก. ยื่นขอสัมปทาน
นโยบายปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในยุครัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่กำลังสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ว่าจะถูกมาตรา 44 ยกเลิกสัญญาทุกรายที่ทำไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภายใน 2 ปี ไม่ว่าจะเหลืออายุสัมปทานการเดินรถนานเท่าใด โดยให้ไปรับใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกผ่านวิธีการประมูลแทน
ทำให้สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ที่มีนางภัทรวดี กล่อมจรูญ เป็นนายกสมาคมฯ พร้อมด้วย 40 จากทั้งหมด 75 บริษัทเอกชน ผู้รับสัมปทานเดินรถ ต้องเข้าพบนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้รัฐยอมให้สัมปทานการเดินรถแก่ผู้ประกอบการ 7 ปี
การหารือเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอ ภายใต้เงื่อนไขผู้ประกอบการรถร่วมฯ ต้องรวมเป็นผู้ประกอบการรายเดียวเหมือน ขสมก.เพื่อขอสัมปทานการเดินรถ 1 ราย/1 เส้นทาง ป้องกันการแข่งขันทับซ้อน มีอายุ 7 ปี โดยไม่ต้องผ่านการประมูล รวมถึงจะต้องพัฒนาการให้บริการให้มีคุณภาพ
นางภัทรวดี บอกว่า นโยบายที่ชัดเจนขึ้นทำให้หลังจากนี้สมาคมฯ ต้องรีบกลับไปทำการบ้าน จากเดิมที่ไม่กล้าทำอะไร เพราะรัฐยังไม่มีแนวทางปฏิรูปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากยินยอมให้สัมปทานอายุ 7 ปี รับปากจะนำเข้ารถโดยสารประจำทางคันใหม่ 100 คันแรก ในต้นปี 2561 และครบ 2,000 คัน ภายใน 1 ปี
รถใหม่ทั้งหมดที่นำมาให้บริการประชาชน สมาคมฯ ยืนยันทุกเส้นทาง ให้เป็นระบบไฟฟ้า (eBus) และไฮบริด (Hybrid) ซึ่งมีข้อดีอย่างมาก ทั้งช่วยลดมลภาวะ โดยรถระบบไฟฟ้าลดปริมาณควันดำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซพิษอื่น ๆ ได้ 100% ขณะที่รถไฮบริดจะลดปริมาณควันดำได้ 100% เช่นกัน ส่วน CO2 ลดลงได้ 50% รวมถึงยังช่วยประหยัดน้ำมันด้วย
นอกจากนี้จะติดตั้งและวางระบบที่ทันสมัย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในรถโดยสาร ระบบติดตามรถโดยสาร (GPS tracking system) ให้รถทุกคัน การตั้งค่าระบบควบคุมรถให้มีความเร็วตามเกณฑ์ควบคุม จัดให้มีศูนย์ควบคุมระบบ มีพนักงานเพียงพอ และปรับปรุงการบริการของพนักงานขับรถให้มีคุณสมบัติที่ดี ตลอดจนปรับเปลี่ยนให้พนักงานได้รับสวัสดิการ
ไม่เพียงเท่านั้น รถโดยสารฯ 2,000 คัน ที่จะนำมาให้บริการนั้น นายกสมาคมฯ ระบุว่า จะมีการกำหนดอัตราค่าบริการให้เลือกในแบบบุฟเฟต์ (เหมาจ่าย) อัตรา 40 บาท ตลอดวัน โดยสามารถขึ้นรถให้บริการในกลุ่มได้ทุกสาย หรือจะเลือกจ่ายในอัตรา 20 บาท/ครั้ง/ตลอดสาย
ตลอดจนมีระบบตั๋วอีทิคเก็ต (e-ticket system) มีบริการ WIFI และแอปพลิเคชันให้ข้อมูลการเดินรถ รวมถึงสามารถจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย และจัดให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ
“แนวทางของสมาคมฯ ที่จะดำเนินในอนาคตนั้น ปัจจุบันยอมรับทำไม่ได้ เพราะต้นทุนการดำเนินธุรกิจไม่สมเหตุสมผล อัตราค่าโดยสารไม่เป็นไปตามกลไกตลาด จึงขาดสภาพคล่อง จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการย่ำแย่” นางภัทรวดี กล่าว
ขณะที่มุมมอง “ดร.สุเมธ องกิตติกุล” นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไม่เห็นด้วยที่จะให้สัมปทานแก่รถร่วมฯ อายุ 7 ปี เพราะจะตอบคำถามประชาชนไม่ได้ว่า เหตุใดต้องได้ และหากวันหนึ่งคุณภาพการให้บริการตกต่ำจะขอถอนใบอนุญาตได้หรือไม่ ดังนั้นกรณีที่ผู้ประกอบการยังเหลือระยะเวลาเดินรถ ต้องอนุญาตให้ดำเนินการต่อไป แต่ควรมีระยะเวลากำหนดชัดเจน
ทั้งนี้ นโยบายปฏิรูปรถโดยสารประจำทางเป็นข้อเสนอที่ร่วมกันจัดทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งเงื่อนไขจะให้อำนาจในการกำกับดูแลมาอยู่ที่กรมการขนส่งทางบกแท้จริง จากเดิมกำกับดูแลผ่าน ขสมก. ในฐานะผู้รับใบอนุญาตรายเดียว จะต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 ม.ค. 2526 เสียก่อน เพื่อจะได้มีอำนาจในการให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการเอกชนรายใดก็ได้ รวมถึง ขสมก. ซึ่งถือเป็นผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่ง
“การดำเนินการ 5 ปีที่ผ่านมา มีความเชื่อระดับหนึ่งว่า ระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะสร้างกำไร และช่วยพลิกฟื้นหนี้ที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท จนคืนทุนและเป็นองค์กรที่มีกำไร แต่ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากรัฐกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำ ทำให้ต้องอุดหนุน แน่นอนว่า จะทำกำไรไม่ได้”
นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความล่าช้าในการยกเลิกมติครม.ฉบับดังกล่าว เพราะรัฐมีความเชื่อเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงทำไม่ได้ เพราะลักษณะโครงข่ายการเดินรถ แม้จะมีเส้นทางทำกำไร แต่ยังมีเส้นทางขาดทุนอยู่ ทำให้หาผู้ประกอบการค่อนข้างยาก ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นภาพ หากไม่เร่งปฏิรูป จะพัฒนาระบบไม่ได้ จึงต้องมีแนวคิดปฏิรูป เปิดให้เอกชนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนด และให้ขสมก.ฟื้นฟูสถานะการเงินด้วย
“ให้ขสมก.เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง และให้ผู้ประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมด้วย โดยมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มข้น เพราะปัจจุบันเห็นภาพว่า ย่ำแย่ขนาดไหน เนื่องจากขาดการควบคุม ซึ่งหากเข้มงวดจับจริง จะพบว่า รถร่วมฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งต้องหยุดเดินรถ” ดร.สุเมธ กล่าวในที่สุด
การปฏิรูปรถโดยสารประจำทางจึงต้องชัดเจน เพื่อเป็นเเนวทางให้ผู้ประกอบการรับมือ เกิดความเชื่อมั่น และหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ได้อย่างมีคุณภาพได้ โดยไม่ตกเป็นจำเลยสังคมต่อไป .
อ่านประกอบ:คมนาคมยอมให้สัมปทาน 7 ปี รถร่วมฯ ใต้เงื่อนไขรวมผู้ประกอบการรายเดียวเหมือน ขสมก.