17 ส.ค.นี้ เรือด่วน-แสนแสบขึ้นราคา 1 บาท
การรถไฟฯ เตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 และชั้น 2 อีกที่นั่งละ 100 – 200 บาท ขณะที่ เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือแสนแสบ ก็จะปรับราคาขึ้นค่าโดยสารระยะละ 1 บาท มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเจ้าท่า ประกาศขึ้นค่าโดยสาร เรือด่วนเจ้าพระยา เรือแสนแสบ ระยะละ 1 บาท ส่วนเรือข้ามฟากปรับขึ้น 50 สตางค์ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคมนี้ หรือ ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป หลังราคาน้ำมันดีเซลแตะ 25 บาท 19 สตางค์ต่อลิตร ทำให้ราคาเรือด่วนขึ้นเป็น 9 บาท 11 บาท 13 บาทตามระยะทาง ,เรือธงส้ม 15 บาท ,เรือแสนแสบขึ้นเป็น 9-19 บาท
ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป รฟท.จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟรุ่นใหม่ 115 คัน อีก 15 -20 % หรือ เฉลี่ย 100-200 บาทต่อที่นั่ง ทั้ง 4 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ- เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยรถไฟปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จะขึ้นราคาเฉลี่ยไม่เกิน 200 บาทต่อที่นั่ง และรถไฟปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 จะปรับขึ้นราคาเฉลี่ยไม่เกิน 100 บาทต่อที่นั่ง เพื่อปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากรถโดยสารขบวนใหม่ มีต้นทุนทางด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการขสมก.ร้องขอภาครัฐให้ต่ออายุสัมปทานรถเมล์ 7 ปีภายหลังที่จะยกเลิกสัมปทานในการปฎิรูปรถเมล์ทั้งระบบ ล่าสุด ในการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลและแผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางระหว่างกระทรวงคมนาคม และผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางร่วม ขสมก. นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การพูดคุยเบื้องต้นผู้ประกอบการยืนยันว่าจะรวมผู้ประกอบการให้เป็นรายเดียวในการเดินรถ 1 เส้นทาง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเดียวกับที่กรมการขนส่งทางบกจะอนุญาตให้ขสมก.เดินรถต่อไปโดยไม่ต้องประมูล ซึ่งหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามระเบียบข้างต้นก็สามารถที่จะให้สัมปทานการเดินรถต่อ 7 ปี เพราะปัจจุบันหลายเส้นทางมีผู้ประกอบการหลายราย เช่น รถเมล์สาย 8 มีผู้ประกอบการเดินรถถึง 4 บริษัท
ด้านนางภัทราวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารร่วม ขสมก. กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ได้คัดค้านการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ แต่หากภาครัฐไม่ให้สัมปทานเดินรถ 7 ปีจะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเดิม เพราะการใช้ ม.44 กำหนดให้สัญญาสัมปทานการเดินรถหมดลงภายใน 2 ปี ทำให้ผู้ประกอบการถร่วม ขสมก.ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากบางรายมีสัมปทานเหลือ 5 ปี บางราย 10 ปี และบางราย 15 ปี