เอ็นจีโอ-ภาคปชช.6ชาติผนึกค้านเขื่อนไซยะบุรี
องค์กรพัฒนาเอกชนจัดเวทีประสบการณ์เขื่อน เผยอำนาจทุนละเมิดสิทธิชุมชน ชี้เขื่อนไซยะบุรีกั้นน้ำโขงเข้า MRC แล้ว ภาคประชาชน 6 ชาติล่าชื่อผนึกค้าน
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองเทมากาปูลิน ประเทศเม็กซิโก ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนในไทย นำโดย น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเพื่อชีวิต นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) และ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย เป็นตัวแทนจากลุ่มน้ำโขง และสาละวิน เข้าร่วมประชุมนานาชาติผู้เดือดร้อนจากเขื่อนและพันธมิตรครั้งที่ 3 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 450 คนจากกว่า 40 ประเทศ
นายแพททริก แม็กคูลลี ผู้อำนวยการองค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่าทั่วโลกมีเขื่อนขนาดใหญ่สร้างแล้วกว่า 45,000 แห่ง แต่ในประเทศกลุ่มยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้ยกเลิกใช้งานเขื่อนและทุบเขื่อนทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากลับมีการสร้างเขื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ประเทศในอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพม่า
จากผลการศึกษาของนักสังคมศาสตร์ สหรัฐอเมริกา ระบุการสำรวจพบมีผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลกแล้วกว่า 472 ล้านคน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้มักไม่ได้รับค่าชดเชยสำหรับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการอพยพโยกย้าย หรือการสูญเสียที่ทำกิน อาชีพ และวิถีชีวิต
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ กล่าวถึงการประชุมผู้เดือดร้อนนับตั้งแต่ครั้งที่ 1 ที่ประเทศบราซิล เมื่อกว่า 10 ปีก่อนจนถึงวันนี้ จากการแลกเปลี่ยนสถานการณ์แต่ละประเทศ พบบางพื้นที่ยังใช้เหตุผลแบบเดิมๆ เช่น สร้างเขื่อนเพื่อชลประทาน หรือผลิตไฟฟ้า ทั้งผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ หรือส่งขายต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปในระยะหนึ่งก็จะพบว่าพลังงานจากเขื่อนมีความสำคัญน้อย มาก
"จะพบว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ใน ประเทศไม่มีประชาธิปไตยและเสรีภาพ รัฐบาลและบริษัทสร้างเขื่อนก็ยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนโดยการกดขี่ ปกปิดข้อมูล เช่น พม่า ลาว และจีน แต่อีกมุมหนึ่งจะเห็นว่าภาคประชาชนที่เข้มแข็งในหลายประเทศก็สามารถยับยั้ง โครงการเขื่อนได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในอนาคตแนวโน้มการสร้างเขื่อนจะต้องเปลี่ยนไป เนื่องจากความเสียหายทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่รับรู้มากขึ้ เรื่อยๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายในหลายประเทศที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากยิ่ง ขึ้น" นายหาญณรงค์ กล่าว
ขณะที่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวในที่ประชุมว่า คนกลุ่มน้อยใช้อำนาจและทุนในการควบคุมจัดการน้ำและแม่น้ำทั้ง โลก แต่ประชาชนคนเล็กคนน้อยจำนวนมากต้องรับความเดือดร้อนไม่แตกต่างกัน
"แม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในสถานการณ์ระดับ วิกฤต ก็พบชาวบ้านต่างเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ตลอดทั้งลุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบันเขื่อนทั้ง 4 แห่งในจีนสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก นอกจากนี้บริษัทเอกชนของไทยยังเข้าไปสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี ซึ่งภาคประชาชนใน 6 ประเทศกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านอย่างถึงที่สุด เนื่องจากความเดือดร้อนนั้นมีมาก แต่ผลประโยชน์ได้รับแก่บริษัทเท่านั้น" นายนิวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเจเรมี เบิร์ต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้สัมภาษณ์ว่า ทางเอ็มอาร์ซีได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลลาวถึงโครงการพัฒนาไฟฟ้า พลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักในแขวงไซยะบุรี ถือได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำโครงการแรกบนแม่น้ำโขงสายหลัก เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ 1,260 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าผลิตได้จะป้อนให้กับไทย จากอำเภอเชียงแสนในประเทศไทยถึงนครหลวงเวียงจันทน์ในประเทศลาว
ทั้งนี้ การแจ้งโครงการไซยะบุรีอย่างเป็นทางการถือเป็นการปฏิบัติครั้งแรก ทำให้เกิดกระบวนการในการนำระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติของเอ็มอาร์ซีไปใช้ เริ่มจากแจ้งให้ทราบ การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง ซึ่งเอ็มอาร์ซีจะวิเคราะห์รายละเอียดและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศสมาชิกหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยคงใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน .
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/