เจาะข้อมูลลับ “สยามอินดิก้า” อุ้ม“เพรซิเดนท์ฯ”ก่อนล้มละลาย ช่วยใช้หนี้ กรุงไทย 1.05 พันล้าน
เจาะกลยุทธ์ “สยามอินดิก้า” ช่วย “เพรซิเดนท์” ใช้หนี้กรุงไทย 1.05 พันล. เข้าตำรา “อัตยายซื้อขนมยาย” พบข้อมูลใหม่ผู้บริหาร ฯ ไฟเขียวแทงหนี้สูญ ผู้สอบบัญชี ชี้ข้อสงสัยเงินเบิกเกินบัญชี – เงินกู้ยืมระยะสั้น กระทบความสามารถการดำเนินงานต่อเนื่อง !!
การตรวจพบความสัมพันธ์ในตัวกรรมการ และผู้ถือหุ้น ระหว่าง บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า บริษัททั้งสองแห่ง เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน อาจไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของใครหลายคน
(อ่านรายละเอียดในเรื่อง เปิดสัมพันธ์ลึก “สยามอินดิก้า-เพรซิเดนท์ ฯ ”เมีย นพ. หุ้นใหญ่ ก่อนคว้าข้าวรัฐฯ 3 แสนตัน)
แต่การที่ บริษัท สยามอินดิก้า มีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และผู้ถือหุ้นใหญ่หลายครั้ง ในช่วงการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า บริษัท สยามอินดิก้า มีวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ??
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2551 บริษัท สยามอินดิก้า เคยเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับ บริษัท เพรซิฯโดยการเข้าไปทำสัญญาซื้อหนี้ ของบริษัท เพรซิเดนท์ ฯ จากธนาคารกรุงไทย ในราคา 1,050 ล้านบาท จากมูลหนี้ 1,286 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 556 ล้านบาท เป็น 856 ล้านบาท ( บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จดทะเบียนเพิ่มทุน เป็น 856,000,000 บาท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ) และแต่งตั้งบริษัทอื่นตามความเห็นชอบของธนาคารควบคุมกระแสเงินสดเข้า-ออก ร่วมลงนามในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทฯ และควบคุมการรับ-จ่ายสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ
นอกจากนี้ บริษัท สยามอินดิก้า จะไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายหนี้กับธนาคาร แทนและ/หรือในนามของบริษัท เพรซิเดนท์ ฯ หรือขายหรือโอนหนี้ที่ซื้อไปจากธนาคารภายใต้สัญญาซื้อขายหนี้ (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) คืนให้กับบริษัท/หรือบุคคลที่ถือได้ว่าเกี่ยวข้องกันกับบริษัท เพรซิเดนท์ ฯ
หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำยืนยันข้างต้น บริษัท สยามอินดิก้า ยินยอมชำระหนี้ส่วนที่ธนาคารลดให้ทั้งจำนวนเป็นเงิน 236 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเข้าซื้อหนี้กว่าพันล้านดังกล่าวสเกิดขึ้นหลังจากบริษัท เพรซิเดนท์ ฯ ผิดนัดชำระหนี้และมีการไปกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินหลายแห่ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์ ในช่วงระหว่างปี 2548-2549 เป็นมูลค่าประมาณ 6,234 ล้านบาท (เฉพาะเงินต้น) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า บริษัทใช้วิธีทำสัญญาซื้อขายข้าวปลอม เพื่อไปขอกู้เงินจากธนาคาร 8-9 แห่ง จนทำให้เกิดหนี้สูญเป็นจำนวนมาก และถูกฟ้องร้องล้มละลายในเวลาต่อมา
(อ่านข่าวประกอบ เรื่อง วิบากกรรม"เพรซิเดนท์ อะกริฯ"รุ่งโรจน์และโรยรา เปิดชื่อ 30 เจ้าหนี้รุมทึ้ง อภิยักษ์ค้าข้าว )
ต่อมา ในช่วงปี 2552 ผู้บริหารบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้อนุมัติให้บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในสิทธิเรียกร้องหนี้ดังกล่าว ทั้งจำนวน โดยปรับย้อนหลังกับงบการเงินปี 2551
จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ และผู้ถือหุ้นหลายครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะต้องการทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ให้ไว้กับธนาคารกรุงไทยหรือไม่ ?? และปัจจุบันการชำระหนี้ดังกล่าว มีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด??
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกำไรขาดทุนของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด พบว่า
ปี 2547 แจ้งรายได้รวม 18,152,153.82 บาท รายจ่ายรวม 20,478,276.16 บาท มีกำไร (ขาดทุน) สุทธิ ติดลบ ( -) 3,969,623.69 บาท
ปี 2548 แจ้งรายได้รวม 49,034,124.12 บาท รายจ่ายรวม 42,192,999.71 มีกำไร(ขาดทุน)สุทธิ 1,689,925.94 บาท
ปี 2549 แจ้งรายได้รวม 88,731,566 บาท รายจ่ายรวม 82,602,674.00 บาท มีกำไร(ขาดทุน)สุทธิติดลบ( -) 127,822 บาท
ปี 2550 แจ้งรายได้รวม 106,692,752 บาท รายจ่ายรวม 126,600,879 บาท มีกำไร (ขาดทุน)สุทธิติดลบ -40,419,593 บาท
ปี 2551 แจ้งรายได้จากการขาย 849,523,896.87 บาท รายได้จากการให้เช่า 13,270,584.29 บาท ต้นทุน สินค้าที่ขาย 826,987,308.77 บาท ต้นทุนการให้เช่า 28,768,285.82 บาท กำไร(ขาดทุน)ขั้นต้น 7,038,886.57 บาท ดอกเบี้ยรับ 12,836,547.74 บาท รายได้อื่น 6,408,619.51 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 99,773,490.15 ต้นทุนทางการเงิน 122,163,903.87 กำไร(ขาดทุน)สุทธิ ติดลบ-195,653,340.20 บาท
ปี 2552 แจ้งรายได้จากการขาย 5,495,111,405.57 บาท ต้นทุนสินค้าที่ขาย 4,866,182,683.71 บาท กำไร(ขาดทุน)ขั้นต้น 628,928,721.86 กำไร(ขาดทุน)จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 68,138,086 บาท ดอกเบี้ยรับ 420,925.74 บาท รายได้อื่น 3,335,187.01 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 108,548,754.77 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 83,079,010.84 บาท กำไร(ขาดทุน)ก่อนต้นทุนทางการเงิน 509,195,155 บาท ต้นทุนทางการเงิน 141,034,999.94 บาท กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 368,160,155.06 บาท
ขณะที่เงินกู้ยืมระยะสั้น ระบุว่า บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมกรรมการเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในกิจการ โดยไม่มีการทำสัญญาและไม่คิดดอกเบี้ย แต่ไม่มีการระบุวงเงินกู้ที่ชัดเจนแต่อย่างใด
ผู้สอบบัญชีรายเดิม ยังได้ตั้งข้อสังเกตในงบดุล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 และ 2551 ว่า บริษัทฯ มีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 375 ล้านบาท และ 418 ล้านบาท ตามลำดับ และการที่บริษัทฯต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ยืมจากธนาคาร ทั้งเรื่องเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน และเงินกู้ยืมระยะยาว เป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อ เนื่องของบริษัท
โดยในส่วนเงินเบิกเกินบัญชี และเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถานบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 และ 2551 บริษัทมีวงเงินเบิกเกินบัญชีและวงเงินแพคกิ้งเครดิต จากธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ร่วมกับเงินกู้ระยะยาว จำนวน 1,064 ล้านบาท ในการซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าว สาร ค้ำประกันโดยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร และโอนผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันและบุคคลท่านหนึ่งค้ำประกันส่วนตัวเต็มวง เงิน