เปิดโครงการ-หลักเกณฑ์เวนคืนที่สะพานข้ามเจ้าพระยาสนามบินน้ำ-ไฉนทำชาวบ้านผวา(อีกแล้ว)?
"...หากพิจารณาข้อมูลภาพรวมที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ จะเห็นว่า มีการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมปัจจุบัน ยังมีชาวบ้านจำนวนมาก ที่ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมากนัก ทั้งที่ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ก็เริ่มต้นมานานหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้าน ที่พักอาศัย อยู่บริเวณถนนสนามบินน้ำ ท่าทราย ประชานิเวศน์ 3 ซึ่งลักษณะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง ปัจจุบันมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าที่พักอาศัยของตนเองจะถูกเวนคืนที่ดินจากการดำเนินงานโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าวด้วยหรือไม่ มีการจับกลุ่มผู้คุยกันตามร้านกาแฟเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างกว้างขวาง..."
"...ภายหลังจากทราบข่าวโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ดังกล่าว ชาวบ้านที่พักอาศัย อยู่บริเวณถนนสนามบินน้ำ ท่าทราย ประชานิเวศน์ 3 ซึ่งลักษณะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง เริ่มวิตกกังวลว่าที่พักอาศัยของตนเองจะถูกเวนคืนที่ดินจากการดำเนินงานโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าวด้วยหรือไม่ ภายหลังจากมีผู้นำแผนที่โครงการซึ่งทำสัญญาลักษณ์สีแดง เริ่มต้นที่บริเวณถนนติวานนท์ แยกสนามบินน้ำ ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนราชพฤกษ์ ซึ่งตัดผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง ทั้งในส่วนซอยทานสัมฤทธิ์ ผ่านไปยังประชานิเวศน์ 3 เชื่อมไปจนถึงบริเวณทางด่วนพิเศษศรีรัช มาเผยแพร่.."
คือ ท่าทีล่าสุดของชาวบ้านที่พักอาศัย อยู่บริเวณถนนสนามบินน้ำ ท่าทราย ประชานิเวศน์ 3 เกี่ยวกับโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปแล้ว (อ่านประกอบ :ชาวบ้านท่าทราย-ประชานิเวศน์3 ผวาเวนคืนที่สร้างถ.รองรับสะพานข้ามเจ้าพระยาสนามบินน้ำ)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น และนำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็น ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในการดำเนินงานโครงการนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา สรุปข้อมูลโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น http://sbnproject.com/ มาเสนอ ณ ที่นี้
- ความเป็นมาโครงการ
ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีมีการพัฒนาค่อนข้างมาก การขยายตัวของเมืองและอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตของที่ดินอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับพื้นที่พักอาศัย การพัฒนาภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางระหว่างพื้นที่มากขึ้น ทำให้ตัวจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครและบริเวณโดยรอบ จึงประสบปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัด ซึ่งสะพานที่ใช้ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และมีแนวโน้มที่ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการจราจรในอีก 10 ปีข้างหน้า
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลการศึกษาของแผนแม่บทพบว่า กรมทางหลวงชนบท ควรดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ดังนั้น กรมทางหลวงชนบท จึงได้ขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว และดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี โดยมอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เทสโก้ จำกัด ให้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อวางรูปแบบในการดำเนินโครงการ ซึ่งประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงข่ายถนนเชื่อมต่อจากสะพานไปทางทิศตะวันตก บรรจบกับถนนราชพฤกษ์ และเชื่อมต่อสะพานไปทางทิศตะวันออกบรรจบถนนติวานนท์รวมระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยกระจายปริมาณการจราจรจากสะพานพระนั่งเกล้า และสะพานพระราม 4 รวมทั้งรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต
-วัตถุประสงค์ของโครงการ
มี 3 ข้อหลักคือ
1. เพื่อศึกษาแนวทางเลือก และกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสม พร้อมจัดทำแบบเชิงหลักการ (Conceptual Design) ของโครงการสะพานสนามบินน้ำ
2. เพื่อศึกษาความเหมาะสม ทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโครงการ
3. เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ของโครงการ
- พื้นที่ศึกษาโครงการ
ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายของโครงการและบริเวณใกล้เคียง โดยพิจารณาตามแนวเส้นทางของโครงการ ที่พาดผ่านในท้องที่เขตการปกครองของจังหวัดนนทบุรีใน 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และอำเภอปากเกร็ด ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดรูปแบบแนวเส้นทางของโครงการ เนื่องจากต้องรอรับฟังความคิดเห็นและได้รับการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ก่อนจะดำเนินการศึกษาทางด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และกระบวนการมีส่วนร่วมต่อไป
แผนที่แนวเส้นทางโครงการศึ
-ระยะเวลาโครงการ
ระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2560 แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2560
- ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ
ไม่เพียงแต่จะศึกษาตำแหน่งที่จะก่อสร้างสะพานเท่านั้น แต่โครงการนี้ยังจะศึกษาแนวทาง การปรับปรุงเส้นทางเดิม (ถนนสนามบินน้ำ) และก่อสร้างเส้นทางตัดใหม่ ให้มีประสิทธิภาพในการคมนาคมเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งถนนของโครงการจะประกอบด้วยทั้งรูปแบบถนนยกระดับและถนนพื้นราบ (ระดับดิน)
นอกจากนั้น โครงการจะดำเนินการศึกษารูปแบบการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า ทางพิเศษ ท่าเรือ ได้สะดวกมากขึ้น
ขณะที่ การศึกษาของโครงการ ยังครอบคลุมถึงการจัดทำแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่บริเวณสะพานให้เกิดประโยชน์ เพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น เช่น การใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนและนันทนาการริมแม่น้ำของชุมชนใกล้เคียง การเพิ่มประโยชน์ใช้สอยด้วยการมีสวนสาธารณะ ลานออกกำลังกาย ลานแอโรบิค สนามกีฬาขนาดเล็ก สนามเด็กเล่น ศาลานั่งพัก ร้านค้าขนาดเล็ก ห้องสุขา ทางเดินริมน้ำ ลานกิจกรรมริมน้ำ จุดชมวิวริมน้ำ เป็นต้น
เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางเชื่อมต่อถนนราชพฤกษ์ตัวอย่าง : กรณีไม่มีโครงการและมีโครงการจากการเดินทางเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากรณีไม่มีโครงการและเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วน
เส้นทางที่ 1 เดินทางจากโรงเรียนวัดเชิงเลน ตำบลท่าอิฐ ไปบนถนนราชพฤกษ์ มุ่งหน้าไปยังถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามสะพานพระนั่งเกล้า แล้วใช้เส้นทางบนถนนติวานนท์ไปสำนักงานชลประทานที่ 11 ตำบลท่าทราย เป็นระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการเดินทางไป-กลับ 1 ชม. 30 นาทีต่อวัน หรือประมาณ 45 ชั่วโมงต่อเดือน
เส้นทางที่ 2 เดินทางจากโรงเรียนวัดเชิงเลน ตำบลท่าอิฐ ไปยังบนถนนราชพฤกษ์ มุ่งหน้าไปยังถนนชัยพฤกษ์ ข้ามสะพานพระราม 4 แล้วใช้เส้นทางบนถนนติวานนท์ไปสำนักงานชลประทานที่ 11 ตำบลท่าทราย เป็นระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการเดินทางไป-กลับ 1 ชม. 20 นาทีต่อวัน หรือประมาณ 40 ชั่วโมงต่อเดือน
เส้นทางที่ 3 เดินทางจากโรงเรียนวัดเชิงเลน ตำบลท่าอิฐ ไปบนถนนของโครงการ ข้ามสะพานสนามบินน้ำ แล้วใช้เส้นทางบนถนนติวานนท์ไปสำนักงานชลประทานที่ 11 ตำบลท่าทรายเป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการเดินทางไป-กลับ ประมาณ 40 นาทีต่อวัน หรือประมาณ 20 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งเบื้องต้นจะเห็นได้ชัดว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดเวลาเดินทางได้ถึง 50%
-แนวทางการศึกษา
แนวทางที่ใช้ในการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะใช้แนวทางในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นหลักประกอบด้วยงานหลัก 4 ด้าน ดังนี้
-หลักเกณฑ์การกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของโครงการ
พิจารณาจากองค์ประกอบหลายๆ ประการดังนี้
1.จุดต้นทาง-ปลายทาง ต้องเป็นจุดที่สามารถเชื่อมโครงข่ายทางสายหลักในพื้นที่ศึกษาได้โดยสะดวก และก่อให้เกิดโครงข่ายการจราจรที่สมบูรณ์
2. จุดต้นทาง-ปลายทาง ควรมีระยะห่างจากพื้นที่ชุมชนเมือง และสามารถรองรับการขยายตัวในอนาคต จากชุมชนพอสมควร
3. จุดต้นทาง-ปลายทาง ควรมีสภาพทางกายภาพของภูมิประเทศเป็นที่ราบ ไม่มีชุมชนหนาแน่น ง่ายต่อการเวนคืนและก่อสร้าง รวมทั้งพัฒนารูปแบบทางแยกปัจจุบันให้สอดคล้องกับแนวเส้นทางใหม่ได้ดี
4. จุดต้นทาง-ปลายทาง ต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เป็นข้อจำกัดด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่อนุรักษ์ โรงเรียน วัดเป็นต้น ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
การกำหนดแนวเส้นทางเลหือของโครงการเบื้องต้น
มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
- แนวเส้นทางเลือกต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหว ด้านสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อพื้นที่สังคม เช่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ วัด มัสยิด และโรงเรียน เป็นต้น
-แนวเส้นทางเลือก ควรต่อเชื่อมกับถนนโครงข่ายปัจจุบัน และสอดคล้องกับแผนงานในอนาคตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านโครงข่ายการคมนาคม การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว
-แนวเส้นทางเลือก ต้องสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทั้งบนถนนสายหลักและบริเวณทางแยกได้
- แนวเส้นทางเลือก ต้องมีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม มีรูปแบบเรขาคณิตทั้งแนวราบและแนวดิ่งที่ดีควรเป็นแนวตรงและมีระยะทางสั้นที่สุดในการเดินทางและได้มาตรฐาน
กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็น
ระบุว่า การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการทุกระยะของการดำเนินงาน และร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาโครงการให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีขั้นตอนการประชาสัมพันธ์ และแผนงานการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
ข้อมูลในเว็บไซต์ ยังระบุว่า ได้เริ่มมีการสำรวจแนวเส้นทางเพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่เบื้องต้น โดยเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันไปแล้ว อาทิ ผอ.ประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวงชนบท และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี , นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี มีการร่วมประชุมประจำเดือนจังหวัด, อำเภอเมือง จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนจังหวัดนนทบุรี จัดบู๊ทนิทรรศการโครงการห้างเซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ การประชุมย่อยตำบลอ้อมเกร็ด ตำบลท่าอิฐ เทศบาลไทรม้า โตชิบา เทศบาลนครนนท์ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลภาพรวมที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ จะเห็นว่า มีการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมปัจจุบัน ยังมีชาวบ้านจำนวนมาก ที่ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมากนัก ทั้งที่ โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ก็เริ่มต้นมานานหลายเดือนแล้ว
โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้าน ที่พักอาศัย อยู่บริเวณถนนสนามบินน้ำ ท่าทราย ประชานิเวศน์ 3 ซึ่งลักษณะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง ปัจจุบันมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าที่พักอาศัยของตนเองจะถูกเวนคืนที่ดินจากการดำเนินงานโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าวด้วยหรือไม่ มีการจับกลุ่มผู้คุยกันตามร้านกาแฟเกี่ยวกับโครงการนี้อย่างกว้างขวาง
และปัจจุบันก็มีการส่งภาพแผนที่โครงการซึ่งทำสัญญาลักษณ์สีแดง เริ่มต้นที่บริเวณถนนติวานนท์ แยกสนามบินน้ำ ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนราชพฤกษ์ ซึ่งตัดผ่านหมู่บ้านหลายแห่ง ทั้งในส่วนซอยทานสัมฤทธิ์ ผ่านไปยังประชานิเวศน์ 3 เชื่อมไปจนถึงบริเวณทางด่วนพิเศษศรีรัช มาเผยแพร่ และส่งต่อในสื่อโซเชียลมีเดียจำนวนมาก (ภาพแผนที่ที่มีการส่งกันตามไลน์ของชาวบ้าน)
กรณี อาจจะมีคำตอบเบื้องต้นได้ 2 ประเด็น คือ 1. การประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการของหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลยังมีช่องโหว่สำคัญหลายประการ 2. ข้อมูลที่หน่วยงานรับผิดชอบ ชี้แจงกับชาวบ้าน อาจมีลักษณะเป็นข้อมูลด้านเดียว และไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมด โดยเฉพาะจุดหรือบริเวณที่อยู่ในข่ายอาจจะต้องถูกเวณคืนแน่นอน เมื่อมีการนำข้อมูลอะไรมาเผยแพร่ชาวบ้านก็พร้อมที่จะเชื่อถือว่าเป็นข้อมูลจริงกันหมด?
เพราะต้องไม่ลืมว่า ภาพจำที่สำคัญของสังคมไทย ต่อกรณีการเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างถนนหนทางในอดีตที่ผ่านมา มิใช่ภาพจำที่ว่า เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับปรุงพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
แต่ภาพจำ ที่เกิดขึ้นมาตลอด คือ การที่ประชาชนถูกรัฐใช้อำนาจในการบีบบังคับนำทรัพย์สินของตนเองกลับคืนไป และจ่ายค่าชดเชยตอบแทนให้เพียงน้อยนิด วิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปหลังการย้ายที่อยู่ใหม่ ซึ่งไม่มีใครบอกได้ในอนาคตว่าวิถีชีวิตจะดีขึ้นหรือแย่ลง
ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต กว่าจะได้บ้านเป็นทรัพย์สินของตนเองสัก 1 หลัง อยู่มาวันดีคืนดี กลับถูกเวนคืนที่ดินไปเฉยๆ
ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนจะเป็นเงื่อนปมสำคัญ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบโครงการ จะต้องนำไปทบทวนพิจารณาใหม่ หากคาดหวังว่าจะให้การดำเนินงานโครงการนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะการสื่อสารกับชาวบ้าน เพื่อไม่ไม่เกิดกระแสแรงต้าน จากชาวบ้านในพื้นที่ จนทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายต่อไปในอนาคต
ยากที่ย้อนเวลาจะกลับมาแก้ไขได้เหมือนหลายโครงการที่ผ่านมาในอดีต!