เมื่อคนต่างด้าวสะเทือน...เศรษฐกิจก็กระเพื่อมที่ปัตตานี
การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนงานต่างด้าว เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อความโกลาหลให้กับภาคธุรกิจน้อยใหญ่ เพราะแรงงานต่างด้าวพากันแห่กลับประเทศ
ปัตตานีซึ่งเป็นเมืองชายทะเล มีอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ และมีธุรกิจต่อเนื่องจำนวนมาก จึงโดนหางเลขเข้าไปด้วยแบบเต็มๆ
แม้การออกกฎหมายใหม่ในรูป "พระราชกำหนด" หรือ พ.ร.ก.ของรัฐบาล คสช.จะมีเจตนาใช้ "ยาแรง" เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "แรงงานเถื่อน" ให้ได้ผลชะงัด รวมทั้งลดสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ไทยกำลังถูกจับตา แต่ด้วยความที่ "ยาแรง" นั้นมีผลทันที ไม่เปิดโอกาสให้เตรียมตัว ทำให้เกิดสภาวะ "ช็อค" อย่างรุนแรงในระบบเศรษฐกิจ
สาระสำคัญของกฎหมายกับบทลงโทษ ถูกนำมาใช้อย่างน่ากลัว เช่น ผู้ใดรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตกับนายจ้างเข้าทำงาน นายจ้างมีโทษปรับ 4-8 แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างงาน 1 คน หรือถ้านายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 4 แสนบาทต่อการจ้างคนต่างด้าว 1 คน ส่วนคนต่างด้าว หากทำงานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท
นอกจากนั้นนายจ้างยังโดนเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สูงขึ้น ทั้งใบอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน 2 หมื่นบาท การต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานครั้งละ 2 หมื่นบาท และการขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างด้าวอีกครั้งละ 2 หมื่นบาท เป็นต้น
แม้ต่อมารัฐบาลจะออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราสำคัญของพระราชกำหนดออกไปอีก 180 วัน เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อาการ "ช็อค" ของเศรษฐกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวคลี่คลายลง เพราะเป็นที่รู้กันว่าเมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับเข้ามาทำงานยังสถานประกอบการเดิม ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานลุกลามไปทั่ว
"แพอรุณ" ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี คือหนึ่งในสถานประกอบการที่ประสบปัญหานี้ ทั้งที่ได้จัดทำเอกสารทุกอย่างตามกฎหมาย ส่งแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จ่ายเงินค่าดำเนินการให้กับนายหน้าทุกขั้นตอน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับวีซ่าของแรงงาน เมื่อกฎหมายใหม่ออกมา ทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับบ้านไปอีกจำนวนหนึ่ง
"ก่อนหน้านี้เรามีแรงงานพม่าทำงานในแพเกือบ 40 คน เมื่อให้มีการพิสูจน์สัญชาติครั้งแรก ก็เหลือสิบกว่าคน จนมี พ.ร.ก.นี้ออกมา ขณะนี้เหลือแรงงานพม่าอยู่ 7 คน" พิไล บุญเทียม ผู้จัดการแพอรุณ เล่าสถานการณ์
"แพเราประกอบกิจการแปรรูปปลาหมึกสด ลอกหมึกดำเป็นหมึกขาว จ้างเป็นรายกิโล ทำเยอะก็ได้ค่าแรงเยอะ เมื่อก่อนมีแรงงานต่างด้าวเยอะ จนเหลือเพียง 7 คนในตอนนี้ คนที่กลับไปแล้วก็ต้องไปพิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้อง ไม่รู้ว่าจะกลับมาอีกหรือเปล่า เพราะบ้านเขาก็มีการลงทุน ธุรกิจต่างๆ เข้าไปมากมาย เมื่อได้งานทำเขาก็คงไม่กลับมาแล้ว เราก็ขาดแรงงาน ที่ผ่านมาได้พยายามเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้ามาทำงาน แต่มีจำนวนน้อย เพราะต้องการค่าจ้างเป็นรายวัน งานสบาย อดทนน้อย และปิดโอกาสตัวเอง" พิไล สะท้อนปัญหา
สอดคล้องกับ อาอีเสาะ สะมะแอ หัวหน้างานไลน์ผลิต ที่บอกว่า รับแรงงานต่างด้าวมาเยอะเพราะอดทนทำงาน ขยัน ทำให้ผลิตได้มาก เมื่อขาดแรงงานจึงส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนกิจการที่ไม่ได้ใช้แรงงานต่างด้าวโดยตรง แต่เป็นคล้ายๆ ธุรกิจปลายน้ำ อาศัยหารายได้จากแรงงานต่างด้าวอย่างร้านขายของชำในท่าเทียบเรือประมงปัตตานี ร้านชำแห่งนี้เคยทำรายได้จากการขายสิ่งของต่างๆ ให้แรงงานต่างด้าววันละเป็นหมื่นบาท ขณะนี้เหลือเพียงวันละพันกว่าบาท
สุรางค์ ขุนนวล เจ้าของร้านชำซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราช แต่ปักหลักค้าขายมาตั้งแต่เรียนจบ ม.อ.ปัตตานี เล่าว่า ตอนนี้ขายได้วันละพันกว่าบาทก็ถือว่าดีแล้ว เพราะเรือนอกไม่ได้เข้ามา เรือที่มีอยู่ก็ไม่ได้ออกไป ทุกท่าเรือว่างหมด แรงงานกลับ เรือไม่ได้ออก ส่งผลคือลูกค้าหายไป แต่ก็ต้องทำต่อไปเพราะทุกอย่างเงียบหมด ทำอย่างอื่นก็ไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้น ต้องรอให้แรงงานทำตัวเองให้ถูกกฎหมาย ทุกอย่างอาจจะดีขึ้น
ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นอีกเซคเตอร์หนึ่งที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก ฮาเซ็ม เจ๊ะเลาะ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) เกษมโยธากิจ บอกว่า หากแรงงานต่างด้าวไม่กลับมา โครงการอสังหาริมทรัพย์มากมายที่ชายแดนใต้คงต้องชะงักไปอีกนาน
"ผมทำรับเหมาก่อสร้างมา 4-5 ปี ใช้แรงงานต่างด้าวจากพม่าเกือบทั้งหมด มีแรงงานในพื้นที่รับเฉพาะงานที่เก็บรายละเอียด เราจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน กล้าจ้างเพราะทำงานได้ปริมาณงานมาก มาทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า แต่คนในพื้นที่มา 8 โมงครึ่ง ทั้งๆ ที่เวลาเลิกพร้อมกัน ความขยันต่างกัน คนในพื้นที่ต้องปรับตัวในเรื่องนี้"
ปัญหา "คนไทย" ไม่ยอมทำงานบางประเภท เช่น แรงงานก่อสร้าง หรือแรงงานบนเรือประมง นายจ้างยืนยันว่าต้นเหตุไม่ได้มาจากพวกเขา เพราะแรงงานคนไทยก็มีจุดเด่นบางข้อดีกว่าแรงงานต่างด้าว ขณะที่แรงงานต่างด้าว แม้ค่าแรงถูกกว่า ขยันกว่า แต่ก็มีปัญหาอื่นตามมา ซึ่งอยากให้ภาครัฐช่วยแก้
"ผมอยากให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการทำงาน เช่น หากแรงงานต่างด้าวจะย้ายงาน ต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะแรงงานพม่า หากได้ค่าแรงที่ดีกว่า เขาจะไปโดยไม่มีการร่ำลา ไม่ผูกพันเหมือนคนไทย" ฮาเซ็ม บอก
ขณะที่ ภูเบศร์ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ชี้ว่า ปัญหาแรงงานในภาคประมง ส่งผลกระทบลึกซึ้งมากกว่าที่ใครหลายคนคิด
"พ.ร.ก.ฉบับนี้มาเพื่อแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนก็จริง ตั้งแต่แม่บ้านยันโรงงานอุตสาหกรรมต้องแจ้งเข้าระบบทั้งหมด แต่ผลกระทบคตือ ทางมาเลเซียเอาแรงงานประมงของเราไปใช้ต่อ เขาใช้เพียงพาสปอร์ตเล่มเดียวก็จับปลาในน่านน้ำเขาได้แล้ว เมื่อเรือไทยจับปลาให้เขา เท่ากับสนับสนุนเขาที่กำลังจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องขนาดใหญ่ ไม่ต้องนำเข้าปลาจากไทย เพราะไทยไล่เรือจากการออกกฎหมาย คนทำประมงขาข้างหนึ่งอยู่ในคุก ถ้ารัฐให้มาตรการผ่อนปรนจนกว่าจะได้พาสปอร์ตก็จะดี อย่าลืมว่าเรือหยุดไป 1 ลำ เงินหายไปจากระบบ 2.5-3 แสนบาท ถ้าทั้งประเทศ 6-7 พันลำจะเป็นเงินเท่าไหร่"
นายสมาคมการประมงฯ สะท้อนปัญหาการใช้แรงงานคนไทยไม่ต่างจากนายจ้างคนอื่นๆ
"นิคมทั่วประเทศใช้แรงงานต่างด้าวเกือบหมด จนถึงชายแดนใต้ก็ใช้ ทั้งที่เราไม่อยากใช้ แต่คนบ้านเราไม่ทำงาน ปัตตานีขาดแรงงานเกือบหมื่นคน เมื่อมีการตกลงกันต้องให้ประกอบอาชีพตามที่แจ้ง ไม่ใช่ลงทะเบียนทำประมงแต่มาทำอาชีพอื่น หากผิดสัญญาต้องทำตามกฎหมาย" เขาย้ำว่าไม่ปฏิเสธเรื่องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อยากให้รัฐบาลทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้าง
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลตัดสินใจผ่อนผันมาตรการตามกฎหมายใหม่บางประการ โดยให้ชะลอการบังคับใช้ออกไป 6 เดือนเพื่อให้มีการเตรียมตัว พร้อมจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในแต่ละจังหวัด เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม - 7 สิงหาคม จุดประสงค์หลักเพื่อให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้แจ้งขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง
พ่วง สองนาม จัดหางานจังหวัดปัตตานี อธิบายว่า จุดประสงค์ของการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คือรัฐบาลอยากให้แรงงานทั้ง 3 ประเทศคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกเอาเปรียบ และไม่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์
"การเปิดศูนย์นี้เพื่อให้นายจ้างได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเมื่อ พ.ร.ก.ออกมาเกิดความตระหนก คนที่บัตรขาดอายุก็เดินทางกลับประเทศ ทางการจึงยืดเวลาไปอีก 180 วัน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 บังคับใช้ต้นปีหน้าเพื่อให้นายจ้างได้มีการเตรียมตัว แต่ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายคือกฎหมาย เมื่อบังคับใช้ก็ต้องทำ แรงงานที่กลับไปก่อน ต้องเข้ามาตามช่องทางการนำแรงงานเข้าประเทศตามข้อตกลง มีพาสปอร์ต มีใบอนุญาตทำงาน มีการตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่เอาเปรียบกันและกัน คาดว่าปัตตานีมีแรงงานนอกระบบในพื้นที่ประมาณ 5,000 คน แต่มาแจ้งไม่ถึงเพราะบางส่วนกลับไปช่วงสงกรานต์และก่อนหน้านี้ ทั้งที่จริงๆ มีความต้องการแรงงานในพื้นที่ประมาณ 9,000-10,000 คน" จัดหางานจังหวัดปัตตานี ระบุ
ด้านความรู้สึกของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในพื้นที่ซึ่งได้ชื่อว่ามีสถานการณ์ความไม่สงบอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าพวกเขายืนยันว่าอยู่ปัตตานีแล้วมีความสุข แทบไม่อยากกลับประเทศของตนเอง
พิว แรงงานพม่าจากไซต์งานก่อสร้าง บอกว่า มาทำงานที่ปัตตานีสิบกว่าปี มีลูกสองคน ส่งกลับไปให้ญาติช่วยดูแลที่พม่า โดยส่งค่าใช้จ่ายไปให้เป็นระยะ นานๆ จะกลับพม่าครั้งหนึ่ง เพราะการเดินทางมีค่าใช้จ่ายสูง
"ผมอยากอยู่ทำงาน อยากหาเงินที่ปัตตานีต่อ เพราะอยู่มานาน สบายดี ได้มีเงินส่งไปให้ลูก ถ้าต้องกลับไปพม่าจริงก็ไม่รู้จะทำอะไร"
เช่นเดียวกับ เปา แดง แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในแพอรุณเกือบสิบปี เธอไม่อยากกลับบ้านเกิดเช่นกัน เพราะทำงานทุกวัน เก็บเงินส่งทางบ้านที่กัมพูชาได้เกือบหมื่นต่อเดือน มีที่พักฟรีในแพ เพื่อนฝูงและเจ้านายมีน้ำใจ เปาย้ำว่า "ขออยู่ปัตตานีไปนานๆ"
ทั้งหมดนี้คือ "ทางเลือก-ทางรอด" ในสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านของการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่งผลให้อนาคตของทั้้งตัวแรงงาน นายจ้าง และสถานประกอบการ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเสมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย...
---------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : เลขา เกลี้ยงเกลา
บรรยายภาพ :
1-2 บรรยากาศที่แพอรุณ
3 สุรางค์ ขุนนวล
4 ภูเบศร์ จันทนิมิ
5 พ่วง สองนาม
6-7 บรรยากาศการเปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ที่ จ.ปัตตานี