เปิดรายงานสารพัดปัญหา พ.ร.ก.ใต้ คนพื้นที่อยากได้ "ทนายหมู่บ้าน" ช่วยสู้คดี
คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ออกไปอีก 3 เดือน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบต่อไป
โดยเป็นการต่ออายุขยายเวลาครั้งที่ 27 นับจากประกาศครั้งแรกเมื่อกลางเดือน ก.ค.2548 รวมเวลาเกือบ 7 ปี ท่ามกลางข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และข้อวิจารณ์เรื่องการประกาศใช้ "กฎหมายพิเศษ" ที่ยืดเยื้อยาวนาน แต่กลับไม่ส่งผลต่อภาพรวมของสถานการณ์อย่างมีนัยสำคัญ
แม้ฝ่ายความมั่นคงจะยืนยันถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเพื่อรับรู้และค้นหาเครือข่ายของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการความรุนแรงอยู่ในพื้นที่ซึ่งยังคงสถานะเป็น "องค์กรลับ" อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ทว่าฝ่ายที่คัดค้านการใช้กฎหมายพิเศษก็มีเหตุผลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐานในการเรียกร้องอย่างมีน้ำหนักไม่แพ้กัน
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ สภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริงในพื้นที่เป็นอย่างไร?
ล่าสุดมีรายงานการศึกษาโครงการพัฒนาสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในชนบท ระยะที่ 1 จัดทำโดย รศ.ณรงค์ ใจหาญ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ที่ได้นำเสนอต่อสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นดีพี ประจำประเทศไทย เนื้อหาของรายงานเป็นการศึกษาถึงสภาพปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในชนบทของไทย รวมถึงกลไกในกระบวนการยุติธรรม และค้นหาแนวทางที่จะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในชนบทให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงตามที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
คณะผู้วิจัยได้ศึกษาสภาพปัญหาและรับฟังข้อเสนอแนะจาก 6 พื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งในที่นี้ได้สรุปรายงานเฉพาะในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาและสภาพการณ์จริงในพื้นที่ในห้วงที่รัฐบาลเพิ่งขยายเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 3 เดือน
รายงานระบุตอนหนึ่งว่า ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหากฎหมายที่มีลักษณะพิเศษ และเป็นเรื่องข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากอยู่ในเขตที่รัฐบาลไทยประกาศเป็นเขตสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงได้ใช้อำนาจของเจ้าพนักงานทหารและตำรวจในการควบคุมสถานการณ์ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงต้องถูกบังคับตามอำนาจที่กำหนดไว้ตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ถูกจับหรือควบคุมตัวจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในอันที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม การปล่อยชั่วคราว และพบทนายความหรือญาติเช่นเดียวกับการที่ผู้นั้นถูกจับหรือควบคุมตัวในคดีอาญาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ในบางคดีจึงอาจถูกบังคับเพื่อให้ถ้อยคำในฐานะผู้ต้องสงสัย ไม่ได้รับการประกันตัว หรือเลือกปฏิบัติ บางรายมีปัญหาเจ้าพนักงานกระทำวิสามัญฆาตรกรรม และมีการไต่สวนการตาย หรือประชาชนได้ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่และชาวไทยพุทธโดยการวางระเบิดหรือลอบสังหาร เป็นต้น
รายงานการศึกษายังมีข้อเสนอแนะดังนี้
1.รัฐต้องเตรียมการให้การศึกษาและเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องกฎหมายความมั่นคง โดยการเผยแพร่ความรู้ไม่ควรทำแค่ในรูปเอกสารอย่างเดียว แต่ควรมีกระบวนการขับเคลื่อนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และอาศัยโครงสร้างผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำการปกครองท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกระบวนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ
จากการรับฟังความเห็น พบว่า ประชาชนต้องการให้มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษ โดยให้สื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น มีวิธีการสื่อสารที่หลากหลาย สร้างสรรค์ เพราะที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่รับรู้โดยผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลจากภาครัฐเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอว่าหากรัฐเป็นฝ่ายพูด ประชาชนบางส่วนอาจไม่รับฟัง ดังนั้นรัฐจึงควรใช้ช่องทางอื่นในการสื่อสารด้วย เช่น สื่อมหาวิทยาลัย ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชน เป็นต้น
เครื่องมือในการสื่อสาร ไม่ควรจัดทำเป็นเอกสาร เพราะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องแจกเอกสาร ควรจัดทำเป็นเอกสาร 2 ภาษา เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และควรให้ประชาชนได้ทราบถึงเนื้อหาสาระของกฎหมาย รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายด้วย
2.ประชาชนต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้ "คนในพื้นที่" ในการแก้ปัญหา โดยพิจารณาคนที่อยู่ในพื้นที่เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกองกำลังทหาร เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่เข้าใจในอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชน ที่สำคัญคือไม่มีความจริงใจ ไม่ได้ทำเพื่อคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงควรให้คนในพื้นที่ได้ดูแลกันเอง เพราะมีความเข้าใจพื้นที่เป็นอย่างดี รวมทั้งน่าจะมีสำนึกรักและรับผิดชอบต่อพื้นที่มากกว่าคนนอกพื้นที่
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ข้อปฏิบัติทางศาสนาและภาษาของคนในพื้นที่ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง และจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน
3.เพื่อลดความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวงระหว่างกันของทุกฝ่าย ควรดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด เข้มแข็ง รวมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้การสนับสนุนที่กระทำผิดกฎหมายหรือร่วมกระทำผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน โดยการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวควรกระทำอย่างเปิดเผย
4.รัฐควรจัดที่ปรึกษากฎหมายที่มีความรู้ด้านกฎหมายอิสลามและเป็นคนมุสลิมประจำอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 คน และมีข้อเสนอจากชาวบ้านให้ตั้ง "ทนายหมู่บ้าน" ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นทนายให้กับประชาชนเวลามีปัญหากับรัฐ และทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน โดยได้รับเงินเดือนจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายความมั่นคง (กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มา 7-8 ปี แต่กลับแก้ไขอะไรไม่ได้ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ยาไม่ถูกกับโรค ซ้ำยังส่งผลละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากด้วย
เป็นอีกหนึ่งข้อมูลและความเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของฝ่ายความมั่นคง!