แม่ยอมอด ขอให้ลูกได้เรียน...รอกีเยาะ มูซอ หญิงแกร่งแห่งควนโนรี
ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพที่ปรากฏทางสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของความรุนแรงและความสูญเสีย ทั้งที่ดินแดนแห่งนี้มีแง่งามอยู่ไม่น้อย ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
อย่าง รอกีเยาะ มูซอ หญิงชราวัย 66 ปี เธอเป็นชาวบ้านส้ม ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เธอมีลูกๆ ถึง 7 คน แม้สถานการณ์ความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานกว่า 13 ปีจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ และราคายางพาราซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในพื้นที่นี้ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาตลอดก็ตาม ทว่าเธอกลับใช้หยาดเหงื่อแรงงานเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการทำสวนยาง ส่งลูกเรียนจบสูงๆ และมีการมีงานดีๆ ทำครบทุกคน
รอกีเยาะ ถือว่าเป็นเสาหลักของครอบครัวในนิยามของ "บ้าน" ที่เป็นคนมุสลิมทั่วไป แม้สามีของเธอคือ อาแซ มูซอ จะเคยเป็นนักการภารโรงที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอที่อาศัยอยู่ ทว่ารายได้ก็น้อยนิด และปัจจุบันก็ไม่ได้ทำงานแล้ว เพราะมีอายุถึง 80 ปี ทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์มาจากการทำสวนยางแบบดั้งเดิมล้วนๆ
สิ่งพิเศษของครอบครัวนี้ก็คือ ลูกๆ ทั้ง 7 คน ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทั้งหมด บางคนเรียนจบดอกเตอร์ถึงต่างประเทศ รอกีเยาะ เล่าว่า เมื่อ 30 ปีก่อน ลูกสาวคนโตเรียนจบ ม.6 เป็นคนแรกของหมู่บ้าน ตอนนี้มีอาชีพค้าขาย ลูกสาวคนที่สองเรียนจบอนุปริญญา วิทยาลัยราชภัฏยะลา ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว ลูกสาวคนที่สามจบคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกโพธิ์
ลูกชายคนที่สี่จบปริญญาเอกถึงประเทศสวีเดน ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ลูกชายคนที่ห้าจบปริญญาตรีจากประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันเป็นมัคคุเทศก์ ลูกสาวคนที่หก จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าไร่ ในอำเภอโคกโพธิ์ และลูกชายคนสุดท้องจบปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยนักวิจัย
"เราเป็นคนไม่มีฐานะ ไม่มีสมบัติให้ลูก มีเพียงการศึกษาเท่านั้นที่จะให้ลูกๆ ได้ จึงพยายามส่งให้ลูกๆ ทุกคนได้รับการศึกษา แม้ต้องลำบากก็ยอม" รอกีเยาะ เล่าถึงปณิธานในชีวิตของเธอ
แต่การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีไม่ใช่เรื่องง่ายๆ รอกีเยาะ บอกว่า คนที่เป็นพ่อแม่ต้องเอาใจใส่และเสียสละ ด้วยเหตุนี้จึงสอนลูกๆ ทุกคนให้เป็นผู้ให้
"เราต้องมีกิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เช่น เวลากินข้าวก็ต้องกินพร้อมกัน ขาดใครไปสักคนต้องตามกลับมา ถ้าไม่กลับก็ไม่มีใครได้กินข้าว เปรียบเสมือนไก่ เพราะไก่ไม่ทิ้งลูก ไปไหนไปด้วยกัน นอนด้วยกันกินด้วยกัน ไก่ที่ว่าฉลาดแล้ว ดีแล้ว แต่คนฉลาดกว่า มีความคิดที่ดีกว่า ฉะนั้นต้องทำให้ได้" หญิงชราบอกถึงเทคนิคการดูแลลูกๆ ถึง 7 คนกระทั่งส่งถึงฝั่งฝันครบทุกคน
"การเลี้ยงลูกต้องค่อยๆ พูด ค่อยๆ สอน ถึงจะไม่ดีอย่่างไรก็ต้องพูด เชื่อว่าสักวันลูกต้องดีขึ้น และที่สำคัญต้องเลี้ยงลูกให้ติดบ้าน นอนบ้านเพื่อนไม่ได้ จะไปไหนมาไหน ต้องกลับมานอนบ้าน ถ้าไม่กลับต้องตาม แม้กระทั่งลูกไปสอบ แม่ก็ต้องตามไปเฝ้า ลูกขึ้นไปสอบบนตึก แม่เฝ้าด้านล่าง" เป็นเทคนิคการดูแลลูกที่หลายคนคงคิดไม่ถึงว่ามาจากความคิดของหญิงชราวัย 66 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลถึงปัตตานี
ด้วยชีวิตที่ลำบากมาตลอด ทำให้รอกีเยาะให้ความสำคัญกับการศึกษามากที่สุด
"สิ่งที่แม่มีให้ลูกคือความรู้ เพราะเชื่อว่าความรู้จะนำพาลูกๆ ไปสู่ความสำเร็จ ถึงจะมีสมบัติมากมาย แต่ถ้าไม่มีความรู้ สมบัติก็จะหมดไปได้สักวัน แต่ถ้าให้ความรู้ ความรู้จะไม่หมด ถือเป็นสิ่งเดียวที่ให้ได้และดีที่สุดสำหรับลูก"
รอกีเยาะคิดต่างจากผู้คนในพื้นที่มากพอสมควร เพราะตัดสินใจให้ลูกทุกคนเรียนสายสามัญ แต่ก็ไม่ทิ้งหลักคำสอนของศาสนา
"เลือกส่งให้ลูกเรียนสามัญ ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนศาสนาเหมือนเด็กอื่นในหมู่บ้าน แต่เวลากลับบ้านเราจะพยายามสอนเรื่องศาสนาให้พวกเขา พยายามให้เขามีความรู้ทั้งสามัญและศาสนา จะไม่เน้นทางใดทางหนึ่ง เพราะทั้งสามัญและศาสนามีความสำคัญทั้งหมด ขอขอบคุณพระเจ้าที่ให้ลูกๆ ประสบความสำเร็จ เพราะที่เราพยายามมาตลอดก็เพื่อสิ่งนี้"
"เมื่อก่อนไม่เคยได้ซื้อผ้าใหม่ๆ เหมือนคนอื่นเขาเลย ผ้าจัสแปะหรือผ้าปาเต๊ะ (ผ้าที่มีราคาแพง นิยมกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไม่เคยได้ใส่กับเขา ขอเพียงให้ลูกๆ ได้เรียน ทกุวันนี้ไม่เคยถามเลยว่าลูกๆ แต่ละคนได้เงินเดือนเท่าไหร่ จะรู้ไปทำไม่ในเมื่อหน้าที่ของเราแค่ส่งให้เขาได้เรียนเท่านั้น เรื่องงานเป็นหน้าที่ของพวกเขาไม่ใช่หน้าที่ของเรา" รอกีเยาะ บอก
แม้ลูกๆ ของหญิงชราจะเรียนจบสูงๆ กันทุกคน แต่ว่าหลายคนก็กลับมาทำงานที่บ้านเกิด ทำให้ได้อยู่ใกล้ชิดและดูแลผู้ให้กำเนิดอย่างเต็มที่
อย่าง พารีด๊ะ ตาเยะ ลูกสาวคนที่สามที่เป็นพยาบาล เล่าว่า ทุกวันนี้แม้ลูกๆ แต่ละคนจะมีภาระหน้าที่ มีครอบครัวของตัวเองที่จะต้องดูแล แต่ลูกๆ ก็จะมีกิจกรรมสำคัญของครอบครัวร่วมกันทุกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ทุกคนจะกลับบ้าน กินข้าวพร้อมกัน เพราะแม่สอนให้พวกเราเป็นแบบนี้ เวลาได้อยู่รวมกันจะได้รู้ว่าใครมีปัญหาอะไรเดือดร้อนอะไร จะได้ร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางแก้ไข
"พวกเราได้รับการปลูกฝังมาตลอดว่าต้องเป็นผู้ให้ทั้งคนในครอบครัวและคนรอบข้าง มันคือหน้าที่และความรับผิดชอบของเรา แม้ว่าจะมีชีวิตที่ลำบากก็ตาม"
พารีด๊ะ บอกว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ พวกเธอต้องผ่านอะไรๆ มามากมาย
"พวกเราต้องใช้ชีวิตลำบากสุดๆ ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ แม่ต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืด เดินไปกรีดยาง พี่ๆ ต้องช่วยกันแต่งตัวน้องไปโรงเรียน ทุกๆ วันพวกเราจะไปโรงเรียนสายตลอด จะถูกครูทำโทษตลอด จนครูไม่รู้จะแก้อย่างไร ครูเลยให้ร้องเพลงชาติหน้าเสาธง อายเพื่อนมาก แต่ก็ต้องอดทน ถูกทำโทษทุกวัน เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ด้วยแรงผลักดันของแม่ ทำให้เราประสบความสำเร็จได้ในวันนี้"
"ในความรู้สึกของฉัน แม่เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด แม่จะปฏิบัติอย่างไรก็อย่างนั้น เสมอต้นเสมอปลาย ทุกวันนี้แม่จะตักข้าวให้ลูกๆ ก่อนเสมอ แม่คือผู้ให้ ไม่มีวันเสื่อมคลาย"
ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ พารีด๊ะ และลูกๆ ของรอกีเยาะรู้สึกเต็มตื้น มีน้ำตาเต็มดวงตา แต่เป็นน้ำตาแห่งความสุข
"วันแม่ปีนี้ไม่รู้จะพูดอะไร เพราะว่าเราทำอยู่ตลอด ไม่ว่าแม่อยากได้อะไร ลูกๆ ทุกคนจะหามาให้ตามที่แม่ต้องการ และจะบอกว่ารักแม่มากที่สุด ที่พวกเราประสบความสำเร็จได้ก็เพราะแม่ เมื่อปีที่แล้ว ดร.มูฮัมหมัดรอพีอี ลูกชายคนที่สี่ ก็พาแม่ไปทำฮัจย์ที่ซาอุดิอาระเบีย แม่ดีใจมาก"
หากถามใจรอกีเยาะ เธอจะบอกเพียงว่า ชีวิตนี้ขอเพียงสิ่งเดียวคือลูกๆ ทุกคนประสบความสำเร็จ และนั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "แม่" เป็นหญิงแกร่งแห่งควนโนรี
-------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ
บรรยายภาพ :
1 รอกีเยาะ มูซอ
2-3 ลูกๆ แวดล้อมอย่างอบอุ่น