นายกฯ สั่งศึกษากรณีเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงรายการทรัพย์สิน-หนี้สิน
วันที่ 11 ส.ค.60 เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (เลขาธิการ ป.ป.ท.) กรรมการและเลขานุการ คตช. ได้แถลงผลการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานในการดำเนินคดีการทุจริตว่า จะต้องดำเนินคดีให้เท่าเทียมกันทุกกลุ่ม ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการกระทำผิดจะต้องถูกดำเนินการด้วย โดยการแก้ปัญหาให้ยึดหลักการแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่แก้ปัญหาเก่าแล้วไปสร้างปัญหาใหม่ และขอให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง
เลขาธิการ ป.ป.ท. เผยว่า ที่ประชุม คตช. รับทราบรายงานและข้อเสนอของคณะอนุกรรมการใน คตช. โดยคณะอนุกรรมการฯ ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ได้เสนอความคืบหน้าผลการดำเนินงานของกิจกรรมที่ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น การอบรมครูหลักสูตรโตไปไม่โกง ที่ได้เพิ่มประสิทธิภาพและเนื้อหาของการดำเนินงานให้ครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายและการปฏิบัติมากขึ้น ที่ได้ขยายโรงเรียนเป้าหมาย ปรับเนื้อหาให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เด็กนักเรียนตั้งแต่ ม.1- ม.6 ให้มากขึ้น โดยในส่วนของการเผยแพร่ให้เน้นการใช้เทคโนโลยีสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น เรื่องเนื้อหาให้เน้นการสร้างทักษะ การคิดวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ
ทั้งนี้ ภาพรวมของหลักสูตรโตไปไม่โกงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการอบรมครูแล้วทั้งหมด 8,281 คนจาก 1,034 โรงเรียน และได้มีการขยายความร่วมมือของนักเรียนในโรงเรียนที่ผ่านหลักสูตรนี้ไปสร้างเครือข่ายนอกโรงเรียนให้กว้างยิ่งขึ้น ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส ที่เป็นการเสริมสร้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ได้มีการอบรมหลักสูตรท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส ให้กับผู้บริหารท้องถิ่นและข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 442 คน โดยเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นให้อยู่ภายในกรอบธรรมาภิบาล
สำหรับเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ 1) การพัฒนาชุดคำถามและกิจกรรมเรียนรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น 2) สื่อรณรงค์สำนึกไทยไม่โกง ที่เดิมได้มีการผลิตสื่อก้านกล้วยโตไปไม่โกง จำนวน 15 ตอนนั้น จะมีการสร้างเพิ่มอีก 20 ตอน 3) การวางแผนกลยุทธ์การเผยแพร่สื่อรณรงค์สำนึกไทยไม่โกง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ทั้งการออกอากาศทางโทรทัศน์และการใช้สื่ออนไลน์ให้มากขึ้น 4) การพัฒนาเกม Integrity City เพื่อเป็นการปลูกฝังเด็ก ให้ผู้เล่นเข้าใจนิยามการโกง ความหมาย ลักษณะการโกงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงผลกระทบของการโกง 5) ครอบครัว “โตไปไม่โกง” ได้มีการขยายจากโรงเรียนเข้าไปสู่ครอบครัว เพื่อเสริมสร้างเด็กก่อนวัยเรียนให้มีภูมิคุ้มกันเรื่องการไม่โกงตั้งแต่วัยเด็ก โดยใช้ครอบครัวเป็นสื่อ
ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ ด้านการป้องกันการทุจริต ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยจัดเก็บไว้ที่ส่วนราชการต้นสังกัดในระบบฐานข้อมูลดิจิตอล ซึ่งในเรื่องนี้ สำนักงาน ก.พ.ได้ทำการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ด้านการป้องกันการทุจริตได้พิจารณารายละเอียดนำเสนอที่ประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปศึกษาให้ชัดเจนว่า มีประเทศใดบ้างที่ดำเนินการในลักษณะนี้ และจะมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมาหรือไม่ สมควรจะต้องครอบคลุมถึงผู้ที่มาทำกิจการกับภาครัฐด้วยหรือไม่ หากดำเนินการจะต้องกำหนดกรอบให้รัดกุม อย่าให้มีผลกระทบตามมา ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการ คตช. จะได้แจ้งให้สำนักงาน ก.พ. พิจารณาดำเนินการต่อยอดจากที่ สำนักงาน ก.พ. ได้ร่วมศึกษากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อไป
ด้านศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้เสนอผลการดำเนินงานรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยสถานการณ์การทุจริต ณ ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีความรุนแรงมากเพราะกลไกการแก้ไขปัญหาไม่ได้ทำงานหรือทำงานไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ ซึ่งจากการกำหนดเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่มีว่า คนโกงรายเก่าต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้ได้โกง ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการสร้างกลไกรองรับเป้าหมายแต่ละด้าน เช่น คนโกงรายเก่าต้องหมดไป มีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ในสำนักงานอัยการสูงสุด และมีการแก้ไขกฎหมายสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น มีผลการดำเนินงานที่ชัดเจน คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด มีการตั้งกลไกเข้าไปกระตุ้น ให้หน่วยงานภาครัฐ 8,000 กว่าหน่วยทำงานอยู่ในกรอบธรรมาภิบาล หากออกนอกกรอบ จะมีการลงโทษทางวินัย ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเสริม โดยออกคำสั่ง คสช. ย้ายหรือระงับการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้ให้สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังให้ภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคมต่าง ๆ ช่วยกันเฝ้าระวังร่วมกับภาครัฐ รณรงค์ให้แจ้งข่าวมายังภาครัฐ ให้ส่วนราชการดำเนินการแก้ไข โดยจะมีสำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ ศอตช. เป็นกลไกในการขับเคลื่อน รับข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน ส่งให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ไปแก้ไข หาก ศอตช. มาตรวจสอบหน่วยงานพบว่าทำถูกต้องครบถ้วนแล้วก็จะให้ยุติ แต่หากแจ้งไปแล้วหน่วยงานไม่ดำเนินการ ศอตช. จะรวบรวมส่ง ป.ป.ช. เพราะถือว่าหน่วยงานนั้นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการทางปกครองและวินัยด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลไกตามกฎหมายปกติ แต่ขาดการบังคับใช้อย่างจริงจังในห้วงเวลาที่ผ่านมา จึงก่อให้เกิดความเสียหายตามที่ปรากฏอยู่ จึงต้องกระตุ้นให้ทุกส่วนราชการทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา
“นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ศอตช. สมควรจะต้องถูกยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน มากกว่าที่จะเป็นหน่วยเฉพาะกิจตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาว่า ศอตช. ควรจะต้องเป็นหน่วยงานกลางที่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่บูรณาการ และอำนวยการขับเคลื่อนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นในเรื่องของการปฏิรูป การปรับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน สมควรจะต้องอยู่ในจุดที่เข้มแข็ง และถูกต้อง ถูกที่ถูกทาง” เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าว
ขณะเดียวกัน ศอตช. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 กับผู้ที่ถูกโยกย้ายหรือสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ราชการรวม 353 ราย ซึ่งแยกเป็น ก. ไม่สามารถดำเนินการทางวินัย 58 คน ข. สอบสวนแล้ว พบว่ามีความผิดและลงโทษแล้ว 72 คน โดยทั้ง ก. และ ข. รวม 130 คนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยเพราะได้พ้นจากราชการไปก่อน หรือบางคนเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ หรือบางคนที่ถูกเสนอชื่อเข้ามานี้มิได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำทุจริต แต่เป็นการละเลยละเว้น ค. สอบสวนแล้ว ไม่พบความผิด 30 คน ที่ทุกองค์กรเห็นชอบให้ยุติเรื่องโดยไม่มีการลงโทษและกลับคืนตำแหน่งในระดับเดิมแต่ไม่ใช่ที่เดิม ง. การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ 193 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างที่ต้นสังกัดกำลังดำเนินการ และอีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปประสานเร่งรัดในส่วนนี้ให้ต้นสังกัดดำเนินการให้เร็ว รวมทั้งให้ประสาน ป.ป.ช. ดำเนินการในส่วนนี้
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินคดีสำคัญ เช่น กรณีจัดซื้อกล้อง CCTV ในโครงการ Safe Zone School ของ สพฐ. ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้ สำนักงาน ป.ป.ท. กำลังดำเนินการอยู่ และกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว กรณีเรียกรับเงินของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย นั้น ป.ป.ท. มีการตรวจสอบเรียบร้อยและจะส่งไปที่ ป.ป.ช. เร็วๆ นี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแล้ว เงินทอนวัด ได้มีการประชุมนำข้อมูลมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อป้องกันและดำเนินคดี ซึ่งการดำเนินคดีได้เน้นเรื่องการใช้เงินงบประมาณของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสำคัญ
ด้านคณะอนุกรรมการฯ ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้รายงานความคืบหน้าและการจัดกิจกรรมเปิดตัวเว็บและแอพพลิเคชั่น “ภาษีไปไหน” ระยะที่ 2 โดยจะมีการพัฒนาต่อยอดให้เป็นระบบ “ภาษีมาจากไหน” เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าภาษีที่เก็บมานั้นเป็นของประชาชน ทุกคนสมควรต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ช่วยกันใช้จ่ายให้ถูกต้อง ดูแลการใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบ เพื่อให้ประชาชนเข้าใช้งานได้สะดวก พร้อมกับสั่งการให้กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้ความร่วมมือดำเนินการ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คตช. ได้พิจารณาความคืบหน้าการดำเนินการปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ ที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้สองกลุ่ม คือ กลุ่มเป้าหมายที่ 1 Function Based หน่วยงานที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท. ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานราชการระดับกรม และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 43 หน่วยงาน โดยจะทำข้อตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาแนวทางและการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จะเปิดช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้ร้องเรียนเข้ามา และสำนักงาน ป.ป.ท. จะทำหน้าที่ประสานงานส่วนราชการนั้นเพื่อดำเนินการแก้ไข ทั้งปัญหาของส่วนราชการ และปัญหาของประชาชน เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน กลุ่มเป้าหมายที่ 2 Area Based จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ต ที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ตแล้วในหลักการเดียวกัน คือการตกลงพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เปิดช่องทางการร้องเรียน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม คตช. ได้เห็นชอบการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยรัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ช. ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ เอกชน และภาคประชาชน ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2560 ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง