"8 ปีทนายสมชาย" กับ 59 ผู้สูญหายในรอบทศวรรษ
มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "คนหาย" หรือที่เรียกด้วยภาษาทางการว่า "บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย" ในแถลงการณ์ของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพที่เผยแพร่เนื่องในวาระ 8 ปีการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
ข้อมูลที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้จัดทำงานวิจัยเรื่องสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย รวบรวมได้ทั้งสิ้น 40 เหตุการณ์ มีผู้สูญหายถึง 59 คน ระหว่างปี 2544 ถึง 2554 พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- ส่วนใหญ่ของเหยื่อเป็นชาย มีเพียง 4 รายเท่านั้นที่เป็นหญิง
- กรณี "คนหาย" กระจายอยู่ในทุกปัญหา ทุกประเภทคดี และทุกพื้นที่ของประเทศไทย แยกเป็นภาคเหนือ 12 ราย ภาคตะวันตก 5 ราย ภาคอีสาน 7 ราย กรุงเทพมหานคร 2 ราย และชายแดนใต้อีก 33 ราย
- "คนหาย" 18 กรณีเกี่ยวข้องกับนโยบายต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้, 8 กรณีเป็นผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด, อย่างน้อย 7 กรณีที่เหยื่อมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันหรือขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร, 5 กรณีเหยื่อเป็นนักสิทธิมนุษยชน นักการเมือง นักกิจกรรมต่อต้านการคอร์รัปชั่น, 2 กรณีเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เป็นพยานในคดี และ 1 กรณีเหยื่อมีสถานะเป็นผู้อพยพ
- หากพิจารณาในแง่ของสถานที่ พบว่าใน 24 กรณีของการบังคับให้สูญหาย เป็นการสูญหายขณะอยู่บนถนน, 11 กรณีสูญหายภายหลังถูกจับกุมจากบ้านหรือสถานที่ที่เหยื่อไปอยู่เป็นประจำ และ 5 กรณีสูญหายไปหลังจากถูกเชิญให้เข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐ
ประเด็นที่น่าวิตกก็คือ แม้รัฐบาลจะแสดงเจตจำนงในการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลทุกคนถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งเป็นอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่กลับยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไข "กฎหมายภายใน" ให้สอดรับกับอนุสัญญา โดยเฉพาะการกำหนดว่า "การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม"
ด้วยเหตุนี้ คดีความเกี่ยวกับ "คนหาย" ดังเช่นกรณีของ "ทนายสมชาย" จึงต้องฟ้องด้วยข้อหาข้างเคียง อาทิเช่น ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลให้การพิสูจน์ความผิดโดย "ครอบครัวผู้สูญหาย" ยากยิ่งขึ้นไปอีก
และอีกเรื่องที่สังคมไม่ควรลืมก็คือ พยานบุคคลในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ซึ่งเป็นคดีที่ทนายสมชายรับว่าความให้ก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับ ถึงวันนี้พยานเหล่านั้นบางรายก็หายตัวลึกลับ เช่น อับดุลเลาะห์ อาบูคารี เด็กหนุ่มวัย 25 ปีจาก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ถูกอุ้มไปเมื่อปลายปี 2552 ถัดจากนั้นอีกราว 2 ปี ภรรยาของอับดุลเลาะห์ก็ถูกสังหารไปอีกราย
นี่คือวงจร "อุ้ม-ฆ่า" ที่ชายแดนใต้อันน่าพิศวงโยงใยกับคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com