2 ปม ปภ.ไม่ตอบ กรณีรถผลิตน้ำดื่ม 255.7 ล. ‘สืบราคากลาง’จาก 2 บ.เชื่อมโยงกัน?
โฟกัส 2 ปมที่ ปภ.ไม่มีในคำชี้แจง กรณีจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่มช่วยผู้ประสบภัย 3 ลอต 42 คัน 255.7 ล. ‘สืบราคากลาง’จากเอกชนที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน?
กรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำสัญญาจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่มขนาด 1,000 ลิตร/ชม ในช่วงปลายปี 2559 2 ครั้ง รวม 36 คัน ในราคาคันละ 6,189,500 บาท เป็นเงิน 222,822,000 บาท สูงกว่าราคาจัดซื้อ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2556 จำนวน 6 คัน จากเอกชนรายเดียวกัน ในราคา 32,940,000บาท หรือ ตกคันละ 5,490,000 บาท มีราคาสูงกว่าคันละ 699,500 บาท ขณะที่ ปภ. โดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ชี้แจงว่า สเปครถที่จัดซื้อ จำนวน 36คัน เมื่อปี 2560 สูงกว่าการจัดซื้อเมื่อปี 2556 (อ่านประกอบ:สเปคสูง! ปภ.แจงรถน้ำดื่มคันละ 6.1 ล.แพงกว่าปี 56 เปลี่ยนหลอดไฟ เพิ่มเครื่องสูบ1 ตัว)
อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎว่า ปภ.ได้ชี้แจง 2 ประเด็นที่สำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้
1.ประเด็นการอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลาง กล่าวคือ การจัดซื้อ เมื่อ 30 ก.ย.2556 จำนวน 6 คัน ไม่มีข้อมูลการสืบราคากลาง ตามที่ปรากฎในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง
ขณะที่การจัดซื้อ ลอต 16 เมื่อ 29 ม.ค.2559 ปภ.อ้างอิงแหล่งที่มาราคากลาง สืบจากเอกชน3 รายคือ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท มารีน่าไทย เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด และ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด ส่วน การจัดซื้อเมื่อ 26 ธ.ค.2559 จำนวน 20 คัน อ้างอิงข้อมูลราคากลางจากการจัดซื้อเมื่อ 29 ม.ค.2559 (ลอต 16 คัน) เท่ากับการจัดซื้อในครั้งหลังสืบราคากลางจากครั้งก่อนหน้า
ที่เป็นประเด็นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง เอกชนผู้เสนอราคากลาง 2 ราย คือ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด
นายศิลป์ชัย รักษาพล กรรมการบริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด ทำธุรกิจร่วมกับ นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ และ นายชวน ปรัชญาสันติ กรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด
น.ส.อรรัตน์ พฤทธิ์รัตนมณี อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก นายเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด และ บริษัท เชสแลนด์ พัฒนา ที่ดิน จำกัด ในการยื่นจดทะเบียนแก้ไขที่ตั้ง บริษัท เชสแลนด์ พัฒนา ที่ดิน จำกัด ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร เมื่อ 5 ก.พ.2548
ต่อมาเอกชนทั้ง 2 ราย ได้แก่ บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด เสนอราคาด้วยกัน ในการจัดซื้อลอตที่ 3 จำนวน 20 คันเมื่อ 26 ธ.ค.2559
ล่าสุดพบว่า นอกจากการจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่มแล้ว เอกชนทั้ง 2 ราย ยังเป็นผู้เสนอราคาจัดซื้อรายการอื่น ของ ปภ.ด้วย อาทิ
จัดซื้อรถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย 4 คัน 162 ล้านบาท เมื่อ 27 ก.ย.2556
จัดซื้อรถยนต์ปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย จำนวน 3 คัน 118,869,000 บาท เมื่อ 20 ก.ย.2555
จัดซื้อรถเครื่องกำหนดไฟฟ้าขนาด 200 KVA พร้อมโคมไฟฟ้าส่องสว่างแบบเสาสูงไม่น้อยกว่า 9 เมตร และอุปกรณ์ประจำรถ จำนวน 16 คัน 190,950,000 บาท เมื่อ 29 เม.ย.2557
จัดซื้อรถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 37 คัน 287,564,000 บาท เมื่อ 24 เม.ย.2557
จัดซื้อรถยนต์ปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย จำนวน 6 คัน 242,316,000 เมื่อ 24 เม.ย.2557
2. บริษัท มารีน่าไทย เอ็กซ์ปอร์ตคู่ จำกัด นั้นมีประวัติเข้าร่วมเสนอราคา 17 โครงการ ในช่วงปี 255-2557 ที่มีกลุ่มบริษัทวีม่าฯเป็นผู้ชนะ ทว่าไม่ชนะสักโครงการเดียว ยกเว้น รายการจัดซื้อขนาดเล็กเพียง 2 รายการ วงเงินหลักแสน
จากข้อมูลดังกล่าว การที่ ปภ.สืบราคากลางจากเอกชนย่างน้อย 2 ราย ที่มีความสัมพันธ์กัน จะได้ราคากลางที่แท้จริงหรือไม่ และในเวลาต่อมาผู้เสนอราคากลาง 2 ราย ยังร่วมเสนอราคาด้วยกัน จะเกิดการแข่งขันกันเป็นธรรม แท้จริงหรือไม่ ?
เป็นสองประเด็นที่ไม่ปรากฎในคำชี้แจง
อ่านประกอบ:
สเปคสูง! ปภ.แจงรถน้ำดื่มคันละ 6.1 ล.แพงกว่าปี 56 เปลี่ยนหลอดไฟ เพิ่มเครื่องสูบ1 ตัว
ชำแหละ 3 ปมรถผลิตน้ำดื่มช่วยภัยพิบัติ 255.7 ล.ไฉน!แพงกว่าปี 56 คันละ 7 แสนบ.
อธิบดี ปภ. ยังไม่ตอบทันที! ปมจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่มช่วยผู้ประสบภัย 255.7 ล.
รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม 428 ล. สืบราคาครั้งเดียว-บ.ขายเครื่องจักรโผล่
รู้หรือไม่?รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยน้ำท่วมสกลนครคันละ 5.4 ล.-บ.เดียว 428.8 ล.