กสม.ยกคณะหารือ ปธ.คณะกก.4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด
ศ.อมรา นำคณะเข้าพบหารือ “อานันท์” ที่บ้านพิษณุโลก อย่างไม่เป็นทางการ กรณีรัฐประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 รายการ ไม่เป็นไปตามมติของคณะกก. 4 ฝ่าย ด้านนพ.ชูชัย เผย กสม. ขอรายงานบันทึกการประชุมทั้งหมดของการประกาศ เพื่อตรวจสอบแล้ว ยันจะดำเนินการโดยยึดหลักสิทธิชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (16 ก.ย.) เมื่อเวลา 18.30 น. ณ บ้านพิษณุโลก ถ.พิษณุโลก กรุงเทพฯ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และนพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด เพื่อปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ เรื่อง โครงการหรือกิจการที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง 11 ประเภท เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาแก้ไขปัญหามาบตาพุดตามที่นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
จากนั้น ศ.อมรา ให้สัมภาษณ์ว่า การหารือในวันนี้ไม่เป็นทางการ โดยกสม.เป็นองค์กรอิสระ และคณะกรรมการสี่ฝ่ายก็เป็นองค์กรอิสระ ซึ่ง กสม.มองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในประเด็นของสิทธิชุมชนเป็นหลัก และไม่ยืนยันว่าจะต้องเป็น 18 กิจการรุนแรง
เมื่อถามถึงกรณีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะเร่งชี้แจงต่อประชาชนโดยเฉพาะชาวมาบตาพุด ถึงการประกาศดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง นั้น ศ.อมรา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ
ขณะที่ นพ.ชูชัย กล่าวว่า กสม.ได้ขอเอกสารรายงานบันทึกการประชุมทั้งหมดของการประกาศประเภทกิจการส่งผล กระทบต่อชุมชนรุนแรง 11 รายการเพื่อตรวจสอบ ซึ่งจะศึกษาและดำเนินการทำข้อเสนอต่อเรื่องนี้โดยยึดหลักสิทธิชุมชน ทั้งสองฝ่ายจะต้องยึดหลักสิทธิชุมชนและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจด้วย
ส่วนนพ.นิรันดร์ กล่าวว่า การหารือมีการคุยกัน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. เหตุผลทำไมรัฐบาลลดประเภทโครงการส่งผลกระทบรุนแรงจาก 18 โครงการ เหลือ 11 โครงการ โดยไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีการยึดตามหลักสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร และทำไมผลจึงออกมาเช่นนี้ 2.การทำงานของคณะกรรมการสี่ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ช่วงเช้า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จัดการประชุมพิจารณาโครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายก่อผลกระทบรุนแรงจำนวน 11รายการ โดยไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เสนอให้มีทั้งหมด 18 รายการ โดยเชิญหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม
หลังการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งชี้แจงต่อประชาชนโดยเฉพาะชาวมาบตาพุด ถึงการประกาศดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยสามารถชี้แจงได้ทุกกรณี ไม่ว่าการตัดประเภทโครงการทิ้ง หรือการขยายกำลังการผลิตในบางประเภทกิจการ
“บางประเภทกิจการที่ตัดออก อาทิ ประเภทกิจการอัดน้ำลงดินเพื่อสูบน้ำเกลือมาใช้ เพราะมีกฎหมายห้ามดำเนินการอยู่แล้ว หากใส่ไว้ก็เท่ากับอนุญาตให้ดำเนินการได้ ส่วนกิจการโรงไฟฟ้าจากก๊าซที่เพิ่มขนาดกำลังการผลิตมากขึ้นจากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอเข้าเป็น 3,000 เมกะวัตต์นั้น เพราะถ้ากำหนดไว้ เท่ากับไม่ส่งเสริมกิจการโรงงานไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดที่สุดแล้ว”
สำหรับการชี้แจงต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งนายอานันท์ ได้ขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลของการลดประเภทกิจการลง และเปลี่ยนคุณสมบัติของกิจการที่ต้องทำตามมาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น กำลังเร่งร่างหนังสือเพื่อชี้แจงแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้.
ที่มา : http://www.thaireform.in.th/news-environment-energy/1944--4-.html