บิ๊กตู่จ่อใช้ม.44โยกกรมทรัพยากรน้ำมาสังกัดสำนักนายกฯ
นายกฯเตรียมใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งโยกกรมทรัพยากรน้ำมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แก้ปัญหาทันต่อสถานการณ์
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมน้ำ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของประเทศว่าขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของหลายกระทรวง ทำให้การดำเนินการต่างๆ มีหลายขั้นตอนจนเกิดความล่าช้า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริการจัดการน้ำจึงจะมีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำขึ้นภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะโยกกรมทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ แนวทางการเปลี่ยนสังกัดของหน่วยงานดังกล่าว ได้มีการหารือในหลักการในที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาแล้ว โดยจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยคาดว่าจะมีการประกาศในไม่ช้า
“ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำมีบุคลากรประมาณ 1,000 คน ซึ่งเพียงพอกับการรองรับภารกิจดำเนินการที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งจะมีกฎหมายบริหารจัดการน้ำรองรับที่ชัดเจน โดยปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. วาระที่ 2”นายวรศสาสน์ กล่าว
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม. สัญจร ที่จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 22 ส.ค. นี้ กรมทรัพยากรน้ำจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในเชิงพื้นที่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อที่ประชุม ครม. ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ได้จากกรมทรัพยากรน้ำหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในที่ประชุม กนช. ให้ทุกหน่วยงานเรก่งแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำโดยดำเนินการให้เป็นระบบโดยน้ำมอนำแนวทางพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ การจัดทำประตูน้ำ คลองฝันน้ำ คลองไส้ไก่ การเก็บน้ำลงดิน การพิจารราพื้นที่เนินเขาเป็นพื้นที่รับน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั้งน้ำแล้งแล้งและน้ำท่วมทั้ง 4 ภาค รวมถึงกรุงเทพมหานครและการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ
สำหรับแผนการการป้องกันอุทกภัยเฉพาะพื้นที่ ให้แก้ไขปัญหาไม่น้อยกว่า 30-50% ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2560-2562) พร้อมทั้งเร่งจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยมาแล้วและขณะนี้พบว่ายังแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งกีดขวางไม่หมด