กสทช.สั่งพักใบอนุญาต 'พีซทีวี'จอดำ 30 วัน
'กสทช' สั่งพักใบอนุญาตช่องพีซทีวี 30 วัน ผิดมาตรา 37 พร้อมล้มประมูลเน็ตประชารัฐ หาก 'สตง.' ว่าผิด ยันทำงานโปรงใสทุกขั้นตอน
มื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ว่า ที่ประชุมฯ มีมติพักใบอนุญาตช่องพิซทีวี เป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหาและผังรายการ ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาเห็นว่ารายการ "เข้าใจตรงกันนะ" ที่ออกอากาศ วันที่ 4 ก.ค. 2560 และรายการ "ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์" ที่ออกอากาศ วันที่ 9 ก.ค.2560 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37
ส่วนกรณีการติดตั้งอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตประชารัฐ) โดย กสทช.ได้รับหนังสือเสนอข้อสังเกตจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งให้ กสทช. ปรับการดำเนินการให้ บริษัท ทีโอที. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการในโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเมื่อ กสทช.อ่านมติ ครม.แล้วพบว่าไม่ชัดเจน และการให้กสทช.โอนเงินให้ ทีโอที เพื่อดำเนินการแทนก็ไม่น่าจะทำได้ เพราะการทำหน้าที่ให้บริการโทรคมนาคมสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเป็นหน้าที่ กสทช.จะให้หน่วยงานอื่นทำแทนไม่ได้ ยืนยันว่าการดำเนินโครงการโปร่งใสทุกขั้นตอน
“กสทช.จะยกร่างคำชี้แจงตามประเด็นที่ สตง.เสนอความเห็นเพื่อนำส่งให้ สตง.พิจารณาต่อไป ซึ่งหาก สตง.ยังยืนยันว่า การประมูลไม่ถูกต้อง กสทช.ย่อมต้องรับผิดชอบ ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ กสทช.อาจจะยกเลิกการประกวดราคา และรอให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการต่อ”นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT เพื่อนำไปรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งที่ประชุมฯ เสนอให้ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน OTT ใหม่ โดยให้เพิ่มนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, ผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์, พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นกรรมการเพิ่ม นอกจากนี้ ให้เพิ่มคำนิยามกิจการ OTT ให้ครอบคลุมถึงบริการอื่นที่นอกเหนือจากบริการกระจายเสียงและแพร่ภาพ โดยหากมีกิจการประเภทใดที่เข้าข่ายเป็น OTT ให้รวมเข้าไปเป็นนิยามของ OTT ด้วย