เมื่อ‘บิ๊กตู่’ใช้ม.44 ปรับโครงสร้างบอร์ดปปง.-โละ6ผู้ทรงคุณวุฒิ-ล่าเส้นทางเงินคดีใหญ่
ม.44 ปรับโครงสร้างบอร์ด ปปง. ใหม่เหลือ 14 คน จากเดิม 15 ครม.แต่งตั้งได้ 4 คน ไม่ต้องเห็นชอบจากวุฒิสภา เลขาฯ ป.ป.ช.นั่งโดยตำแหน่ง โละกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนทันที -ตั้งเป้าล่าเส้นทางเงินคดีใหญ่
ราชกิจจานุเบกษวันที่ 8 ส.ค.2556 เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 38/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สาระสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการ ปปง. จำนวน 14 คน และเปิดช่องให้ คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิได้ 4 คน โดยไม่ต้องเห็นชอบจากวุฒิสภา และยกเลิก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ๕)
พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 24 ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ปปง.” ประกอบด้วย
(1) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ
(2) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นกรรมการ
(3) เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการทั้งสิบสี่คนเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และรองประธานกรรมการอีกคนหนึ่ง โดยประธานกรรมการต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 5 ให้บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒินับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้การดำเนินการเพื่อให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามคำสั่งนี้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
ข้อ 6 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 7 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อ่านฉบับเต็ม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/201/75.PDF
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 กำหนด คณะกรรมการ ปปง. จำนวน 15 คน ดังนี้
“มาตรา 24 ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินคณะหนึ่ง
เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ปปง.” ประกอบด้วย
(1) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามผลการคัดเลือกตามมาตรา 24/1 โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา เป็นกรรมการ
(2) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ
(3) เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้คณะกรรมการทั้งสิบห้าคนเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (2) เป็นประธาน กรรมการคนหนึ่งและรองประธานกรรมการอีกคนหนึ่ง ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำ นักงานจำ นวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
“มาตรา 24/1 ให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้แทนศาลฎีกา ผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ และผู้แทนศาลปกครองสูงสุด โดยให้เลือกกันเองให้กรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการสรรหา และให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยวิธีการรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
24/2 และให้คัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากรายชื่อบุคคลที่มีการสมัครดังกล่าวให้ได้จำนวนหกคน แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 24 (1) ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการ ปปง.ชุดปัจจุบัน (ก่อนถูกปรับเปลี่ยน) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เป็นประธานกรรมการ นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม รองประธานกรรมการ (ดูตาราง)
ว่ากันว่าภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการปปง.ชุดใหม่ จะเร่งรีบดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว คือ การเตรียมความพร้อมของประเทศไทย เพื่อเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสุนนทาง การเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อให้สอดคล้องเป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีสำคัญต่างๆ
ส่วนผลงานจะออกมาเป็นที่ประจักษ์อย่างไรนั้น คงต้องให้สาธารณชนคอยตัดสิน!