ป.ป.ช.ภาคประชาชน จึ้เร่งตรวจทุจริตออก “โฉนดน้ำ” ย่ำยีลำน้ำมูล 5 จว.
นายประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ ป.ป.ช.ภาคประชาชน เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ถึงกระบวนการทุจริตออกโฉนดน้ำ ทำลายทรัพยากรสองฝั่งลำน้ำมูล ตั้งแต่ต้นน้ำที่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ จนถึงปลายน้ำที่อุบลราชธานี โดยมีข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นเอื้อประโยชน์และร่วมมือกับนายทุน
ทั้งนี้สองฝั่งลำน้ำมูลมีทรัพยากรทรายธรรมชาติสะสมจำนวนมหาศาลหลายล้านปี ซึ่งชาวบ้านหลายแสนครอบครัวได้อาศัยเป็นแหล่งทำมาหากินที่สมบูรณ์ทั้งด้านการเกษตรและประมง กระทั่งมีการให้สัมปทานและเกิดธุรกิจดูดทรายขึ้นอย่างรวดเร็ว นายประเทืองกล่าวว่าได้ส่งผลกระทบรุนแรง คือเมื่อดูดทรายกลางแม่น้ำหมดแล้วก็จะทำให้ตลิ่งพัง ป่าบุ่งป่าทามของชุมชนถูกทำลาย ปลาน้ำจืดหายไป ที่สำคัญเกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำธรรมชาติ
“ลุ่มน้ำมูล เป็นแม่น้ำแห่งชีวิตของคนอีสาน แต่กำลังถูกทำลายเพื่อผลประโยชน์ โดยขาดจิตสำนึกของเอกชน-ราชการ กำลังทำให้วิถีชีวิตคน ชุมชนและสัตว์เลี้ยง กุ้งหอยปูปลา สองฝั่งลุ่มน้ำพินาศล่มสลาย”
โดย นายประเทือง กล่าวถึงกระบวนการทำลายทรัพยากรตลอดลำน้ำมูลซึ่งมีมากว่า 20 ปีกระทั่งปัจจุบันว่า มีการบุกรุกที่สาธารณะป่าบุ่งทามของชุมชน และนายทุนกว้านซื้อที่ดินสองฝั่งจากชาวบ้านเพื่อดูดทรายบก โดยใช้รถแบ๊คโฮเปิดหน้าดิน 1 เมตร(จะมีทรายบกหลายล้านลูกบาศก์เมตรตลอดลำน้ำ) บางแห่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่ดินฮุบที่ออก นส.3 ทั้งๆที่บริเวณน้ำท่วมออกเอกสารดังกล่าวไม่ได้ จากนั้นเกิดขบวนการนำที่ดินไปจำนองธนาคารพานิชย์ในราคาสูง โดยนายธนาคารได้รถยนต์ บ้านพัก ตอบแทน
“เมื่อได้เอกสารสิทธิ์ริมฝั่ง การดูดทรายบกก็เกิดการแข่งขันทั้งกลางวันกลางคืน ขออนุญาต 5 ไร่ ลักลอบดูด 50-100 ไร่ ไม่นานตลิ่ง(ตลิ่งพังไปแล้วกว่า 2 พันไร่) ลำน้ำตื้นเขิน ทำลายสมดุลธรรมชาติ สายน้ำขยายใหญ่ลามกระทบหมู่บ้าน ต้องย้ายบ้านหนี ประชาชนร้องเรียนก็ไม่เกิดผล รัฐบาลเมิน ข้าราชการท้องถิ่น ที่ดิน อำเภอ ตำรวจ อุตสาหกรรมจังหวัด ขาดการรับผิดชอบ”
นายประเทือง กล่าวว่า นส. 3 ที่ธนาคารพานิชย์รับจำนองจากนายทุนกลายเป็น "โฉนดน้ำ" เพราะเมื่อหน้าดินหมด ทรายหมด มีน้ำแทนที่ แต่ฝ่ายสินเชื่อไม่มีการทวงถาม ฟ้องร้อง เพราะได้รับดอกเบี้ยจากนายทุน หากมีการตรวจสอบทั้งระบบ ทุกธนาคารจะพบ นส.3 ขยะพวกนี้เต็มไปหมด
“หากยังนิ่งเฉย ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ธรรมชาติ ลุ่มน้ำ วิถีชีวิตชุมชน ประเมินความเสียหายหลายแสนล้านบาท นั่นหมายถึงเงินภาษีของคนทั้งประเทศ”
นายประเทือง กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รับทราบอย่างกว้างขวาง และขาดการสนใจจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ทั้งนี้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น บ้านสวายสอ บ้านโคกก่อง บ้านโรงเลื่อย ต.นิคม อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งวิถีประมงและป่าบุ่งทามถูกทำลาย ลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึกเปลี่ยนทาง ดอนหาดทรายแก้วที่สวยงามกว่า 100 ไร่หายไปจากการดูดทรายทั้งที่ได้รับสัมปทานและลักลอบดูด ปลายปี 2548 ชาวบ้านเคยเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและสื่อสาธารณะเพื่อยับยั้งการดูดทรายที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน
และกลางปี 2552 ภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรรมาธิการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาฯ และคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง-ภูมิภาค เพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตนจึงหวังว่าภาคประชาชนจะร่วมกันเปิดประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะอย่างกว้างขวางต่อไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์ล้ำน้ำมูล และเพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวดังที่ผ่านมา .