ปกป้อง “ประวัติศาสตร์ชุมชน” ริมฝั่งเจ้าพระยา ที่ใกล้เลือนหาย จากโครงการถนนบนแม่น้ำ
พาไปรู้จักกับประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วิถีชุมชน ริมฝั่งเจ้าพระยา ร่วม 200 ปี ที่ใกล้เลือนหาย จากโครงการเตรียมก่อสร้างถนนบนเเม่น้ำ
ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และอัตลักษณ์ของชุมชน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมาอย่างยาวนานร่วม 200 ปี กำลังจะเลือนหายไป จากการเตรียมก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้และเห็นความสำคัญ เครือข่ายประชาคมบางลำพู จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร จัดงาน ‘เทศกาลริมน้ำบางกอก’ ณ พิพิธบางลำพู เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการพัฒนาและปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน
โดยประเด็นข้างต้นถูกนำมาขยายและต่อยอดในการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรให้เป็นธรรมและยั่งยืน” มีตัวแทนชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าร่วมสะท้อนปัญหาและเสนอแนวทา’ในการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา
นายประมาณ มุขตารี ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบางอ้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า ประวัติชุมชนบางอ้อมีมานับร้อยปี เราเป็นชุมชนมุสลิมดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า“แขกแพ” ที่อพยพมาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา โดยทางเรือ หลังสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 จากนั้นปักหลักค้าขาย จนพัฒนาเป็นตลาดซุง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยนำไม้ล่องแพจากภาคเหนือ แล้วมาขึ้นฝั่งที่นี่ เพื่อลำเลียงนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ที่บางโพต่อไป
พร้อมกันนี้ยังก่อเกิดเป็นชุมชน ร้านค้า ที่มีสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอาคารทรงโคโลเนียล เราใช้แม่น้ำเจ้าพระยาในการสัญจร จนเรียกแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เป็นหน้าบ้านของเรา อย่างไรก็ตาม ในแต่ละยุคแต่ละสมัยหน้าบ้านของเราก็ผ่านการพัฒนามาหลากหลายโครงการโดยโครงการล่าสุดคือการก่อสร้างผนังกั้นน้ำที่ชุมชนของเรา
ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบางอ้อ ยังบอกว่า ในตอนที่จะเริ่มการก่อสร้างนั้นเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าจะป้องกันน้ำท่วมแต่หลังจากการก่อสร้างแล้วชุมชนของเราได้รับผลกระทบมากมายไม่ว่าจะเป็นผนังกันน้ำที่สูงจนปิดช่องทางลมทำให้อากาศในชุมชนไม่ถ่ายเท และผนังกั้นน้ำเองก็มีความสูงมากและปิดกั้นทางสัญจรที่ชาวบ้านเคยใช้อยู่แต่เดิม ถึงแม้จะมีการสร้างบันไดให้ชาวบ้านได้ใช้ปีนขึ้นปีนลงแต่ก็ยากลำบากต่อการสัญจรของผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซ้ำร้ายผนังกั้นน้ำดังกล่าวนอกจากจะป้องกันน้ำเข้าไม่ได้แล้วแต่ยังทำให้น้ำที่อยู่เดิมนั้นระบายออกไปไม่ได้ทำให้เกิดน้ำขังน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นและทำให้ชาวบ้านจำนวนหลายครัวเรือนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังอีกด้วย
“แค่โครงการพัฒนาย่อยๆ ที่ไม่รับฟังเสียงของพวกเรา ยังทำให้ได้รับผลกระทบมากมายขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงโครงการขนาดใหญ่อย่างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า พวกเราจะได้รับผลกระทบมากมายกันขนาดไหน เพราะเท่าที่ทราบว่า ถนนที่จะสร้างนั้นจะมีขนาดที่กว้างและสูงมาก ดังนั้น จึงเชื่อว่ามันจะสร้างผลกระทบให้กับทางชาวบ้านมากมายอย่างแน่นอน จึงอยากขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ช่วยฟังเสียงของพวกเราบ้าง และมาศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนของเร าโดยที่กระบวนการในการศึกษานั้นชาวบ้านทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” นายประมาณ กล่าว
อีกหนึ่งตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนริมน้ำกุฎีจีนอย่าง นางปิ่นทอง วงษ์สกุล กล่าวถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชุมชนว่า เราเป็นชุมชนเก่าแก่ต้นสายของโปรตุเกสเพราะที่นี่จะมีชาวโปรตุเกสมาพักอาศัยอยู่ราว 17 นามสกุลด้วยกัน จึงทำให้ชุมชนของเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันถึงสามศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ก่อเกิดเป็นชุมชนด้านวัฒนธรรมสามศาสนา โดยชุมชนของเราจะมีโบสถ์เก่าแก่ชื่อโบสถ์ซางตาครู้สที่เราได้ช่วยกันบูรณะมากว่าสามครั้งแล้วและโบสถ์แห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 248 ปี
นอกจากนี้ที่ชุมชนของเรายังมีขนมฝรั่งที่นักท่องเที่ยวได้ชิมแล้วจะต้องประทับใจอีกด้วย และที่ย่านกุฎีจีนของเรามีสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นริมแม่น้ำ 5 อย่างด้วยกันคือ
1.มีห้างสรรพสินค้าห้างแรกของประเทศไทยคือห้างหันแตร ซึ่งเจ้าของก็คือนายฮันเตอร์
2.เรามีร้านถ่ายรูปร้านแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นริมน้ำเจ้าพระยาคือร้านถ่ายรูปของฟรานซิสจิต จิตราคนี
3.เรามีการผ่าตัดครั้งแรกของหมอบรัดเลย์เพราะตอนนั้นจะมีการสู้รบกันและมีพระภิกษุแขนขาดคุณหมอบรัดเลย์จึงมีการผ่าตัดครั้งแรกเกิดขึ้นที่ชุมชนของเราแห่งนี้
4.เรามีโรงพิมพ์แห่งแรกที่คุณพ่อชาวฝรั่งเศสนำแป้นพิมพ์มาจากเขมร
5.มีการแปลพจนานุกรมไทยโปรตุเกสเล่มแรกเพราะชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่ที่นี่จะมีอาชีพแปลหนังสือกับทหารรับจ้าง และที่สำคัญคือบ้านเรือนแถบนี้เมื่อเข้าไปในชุมชนก็จะยังคงความเป็นบ้านเรือนไทยแบบเก่าของรัชกาลที่ 5
ในส่วนของเรื่องการก่อสร้างโครงการถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยา เธอยอมรับว่า คนในชุมชนของเรา มีความเป็นกังวลมากและเกรงว่าจะทำให้ทัศนียภาพความเป็นกุฎีจีนเปลี่ยนแปลงไป เพราะที่ผ่านมากทม.เคยมาสร้างเขื่อนเพื่อทำเป็นผนังกั้นน้ำให้ชุมชนของเรา ทำให้เราได้รับผลกระทบมาก แค่โครงการขนาดเล็กพวกเรายังได้รับผลกระทบมากมายขนาดนี้ ไม่ต้องนึกถึงโครงการขนาดใหญ่เลย จึงอยากขอให้กรุงเทพฯ ยุติการเตรียมก่อสร้างโครงการนี้และให้ลงมาสร้างกระบวนการในการฟังเสียงของชาวบ้านที่ชาวบ้านที่ได้รับกระทบอย่างจริงจังก่อนจะเริ่มโครงการขนาดใหญ่ใด ๆ ด้วย
“เราใช้แม่น้ำเป็นหน้าบ้านมาตั้งแต่โบราณดังนั้นโครงการที่จะสร้างทางในแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากพวกเราให้รอบด้าน และการพัฒนาทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นพวกเราไม่เคยปฏิเสธหากเป็นการพัฒนาที่ยืนอยู่บนวิถีและอัตลักษณ์ของชุมชนเรา และประชาชนในชุมชนของเราได้มีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งในชุมชนเราก็มีตัวอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของชาวบ้านพัฒนาขึ้นไปด้วยคือการปรับปรุงทางจักรยานขนาดเล็กที่เชื่อมหลายชุมชนเข้าไว้ด้วยกันทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของชุมชนดีขึ้น ประชาชนในชุมชนก็มีรายได้ พึ่งพิงตนเองได้ซึ่ง กทม.น่าจะนำการพัฒนาในรูปแบบนี้ไปเป็นแบบอย่าง”นางปิ่นทองกล่าวทิ้งท้าย
น.ส.ระวีวรรณ สมิตะมาน ชาวบ้านจากชุมชนบ้านปูน ซึ่งชุมชนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่แพ้ชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ติดกับริมน้ำเจ้าพระยา เธอเล่าว่า ชุมชนของเรานั้นมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราได้มาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ซึ่งคำว่า บ้านปูนมาจากการที่ชุมชนทำปูนแดงที่ใช้ไว้กินกับหมาก ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชน และนำปูนที่ได้ส่งไปยังวังบางขุนพรหม วังเทเวศร์ และพอสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การกินปูนกับหมากก็ได้ยุติไป
นอกจากนี้ชุมชนยังมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือศาลาโรงธรรม ที่จะใช้ทำบุญทุกวันโกณและวันพระ ซึ่งตอนนี้ศาลาโรงธรรมแห่งนั้นก็ยังใช้ประโยชน์ในการทำบุญ เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งศาลาโรงธรรม นับเป็นโรงธรรมแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะเมื่อครั้งที่ชุมชนบ้านปูนอพยพมานั้น ชุมชนกรุงเทพฯ ยังไม่มีการสร้างวัดใด ๆ เลย
นอกจากนี้ในสมัยก่อนตอนที่ยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ คุณตาเคยเล่าให้ฟังว่า” ชุมชนบ้านปูนไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องไปหาบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาใช้ เอามาใส่โอ่งใส่ตามแล้วแกว่งสารส้มเพื่อรอให้น้ำใสก็จะนำมาใช้อุปโภคบริโภค และในตอนเด็กๆ ตนยังจำภาพที่เด็กๆ ในวัยเดียวกันเดินตามใต้ถุน หาเศษสตางค์ และวิ่งซ่อนแอบกันบ้าง แต่ปัจจุบันไม่มีวิถีชีวิตแบบนี้แล้ว”
น.ส.ระวีวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่ชุมชนบ้านปูนไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา หากแต่การพัฒนานั้นต้องยืนอยู่บนความเป็นธรรมและถูกต้องและฟังเสียงชองประชาชนอย่างรอบด้าน ยกตัวอย่าง การก่อสร้างเขื่อนหลังจาก ปี 2538 เขื่อนที่สร้างขึ้นมาก็เป็นการปิดกั้น ทำให้น้ำเข้ามาขังบริเวณในบ้านที่อยู่ริมน้ำ ก็ทำให้น้ำในนั้น เป็นน้ำเน่าเสีย วิถีชีวิตก็หายไป จากแต่เดิมใช้การเดินทางโดยน้ำ ก็หันมาใช้ถนน ปลาบางพันธุ์ก็สูญพันธุ์ไป
ยังไม่พอ! ในปี พ.ศ. 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ กทม.ก็มาดำเนินการสร้างทางเลียบแม่น้ำที่ปิดสูงขึ้นไปอีก ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ลมที่จะพัดเข้าไปในบ้านก็ไม่มี จึงเป็นการผลักให้ชาวบ้านตายจากวิถีชีวิตริมน้ำอย่างแท้จริง
“การพัฒนาที่เกิดขึ้นของกทม.แต่ละครั้ง ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม เพราะไม่เคยสอบถามหรือออกแบบการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรืออัตลักษณ์ของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ชุมชนของพวกเราทุกชุมชนที่มาในวันนี้มีผูกพันกับสายน้ำทุกชุมชน และทุกชุมชน ไม่เคยกลัวน้ำ ชาวบ้านทุกคนที่อยู่ริมน้ำ เป็นคนที่เข้าใจแม่น้ำ เข้าใจน้ำขึ้นน้ำลง เข้าใจที่ต้องอยู่กับน้ำท่วมและเมื่อมีน้ำขึ้นน้ำหลากคนในชุมชนก็จะดีใจ เนื่องจากสามารถจับปลาได้มากขึ้น มีอาชีพเสริม เพราะเจ้าพระยาท่วมไม่นาน ท่วมแล้วก็ไป การสร้างเขื่อนทำให้อาชีพจับปลาหายไป และปิดกั้นน้ำกับชาวบ้านไปตลอดชีวิต
ตอนนี้สิ่งที่เราเป็นกังวลจากบทเรียนที่ผ่านมาคือกรณีการเตรียมการก่อสร้างถนนบนแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นการตอกย้ำความเสื่อมโทรม และนำไปสู่อาชญากรรม เพราะเมื่อมีถนนบนแม่น้ำที่กว้างรถอะไรจะวิ่งเข้ามาผ่านชุมชนของเราเมื่อไหร่ก็ได้ บุคคลภายนอกจะเดินเข้ามาชะโงกดูบ้านของเราก็ได้ ถ้าถามกลับว่าหากเป็นบ้านของเราที่ต้องอยู่บนความเสี่ยงตลอดเวลาแบบนี้เราจะยอมกันหรือไม่ จึงอยากให้การเปิดการทำประชาพิจารณ์ที่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการส่งเสียงอย่างแท้จริง ไม่ใช่การปิดกั้นการแสดงความเห็นของชาวบ้าน” ตัวแทนชุมชนบ้านปูน เรียกร้อง
นั่นคือปัญหาและความต้องการของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นโครงการถนนขนาดใหญ่ โดยไม่สนใจว่า ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ พื้นถิ่นเดิม ที่มีมานานนับร้อยปี กำลังจะถูกทำลาย และยากจะเรียกคืนกลับมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย .