ป่ายะลาอาภัพ...จนท.ย้ายหนีระเบิด-เหลือ 2 คนดูแลล้านไร่!
"ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของเรามีอยู่คนเดียวของ จ.ยะลา ขณะที่ จ.สงขลามี 8 คน ปัตตานีและนราธิวาสก็มีหลายคน"
เป็นคำกล่าวของ อดิมาน มะแอ ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ที่บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้เมื่อครั้งลงพื้นที่บ้านฮูยงซูแง หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มานานกว่า 80 ปี เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และการขอปักเสาไฟฟ้าเข้าไปในเขตป่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนทรัพยากรธรรมชาติฯที่ ผอ.อดิมาน รับผิดชอบ
ครั้งนั้น ผอ.อดิมาน บอกว่าการมีเจ้าหน้าที่ในส่วนทรัพยากรธรรมชาติฯเพียงคนเดียว ส่งผลต่อการทำงานทุกเรื่อง รวมถึงการช่วยเหลือชาวบ้านฮูยงซูแงด้วย
และจากคำบอกเล่าที่น่าตกใจนี้เองที่ทำให้ "ทีมข่าวอิศรา" ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับจังหวัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีสำนักงานกระจายอยู่ทุกจังหวัดนั้น แบ่งส่วนงานรับผิดชอบออกเป็น 4-5 ส่วนงาน หลักๆ ก็คือ ส่วนอำนวยการ ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนสิ่งแวดล้อม และส่วนทรัพยากรน้ำ
เราลองเปิดเว็บไซต์สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าส่วนทรัพยากรธรรมชาติ มีอัตรากำลัง 6 คน (รวมผู้อำนวยการส่วน) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตราด ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ มีอัตรากำลัง 3 คน (รวมผู้อำนวยการส่วน) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ มีอัตรากำลัง 6 คน (รวมผู้อำนวยการส่วน) ขณะที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนราธิวาส ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ มีอัตรากำลัง 5 คน
ขณะที่ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ปัจจุบันมีกำลังคนเพียง 2 คน คือ ผอ.อดิมาน และลูกน้อง 1 คน
แต่หน้างานที่ส่วนงานนี้ต้องรับผิดชอบ คือ ควบคุม กำกับดูแล และรับผิดชอบงานด้านอนุญาตกิจการทรัพยากรธรรมชาติ และงานด้านอนุรักษ์และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เฉพาะผืนป่าของ จ.ยะลา ก็มามากถึง 1,200,000 ไร่ โดยแบ่งสายงานตามหน้าที่รับผิดชอบออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1.ฝ่ายการอนุญาต รับผิดชอบการอนุญาต ควบคุม กำกับ ดูแล และประสานงานท้องที่อำเภอเกี่ยวกับการอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ โรงค้างไม้แปรรูป โรงค้าสิ่งประดิษฐ์ โรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐ์กรรมและภารกิจตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และที่แก้ไข, การอนุญาต ควบคุม กำกับดูแล การมีและใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545, การอนุญาต การนำไม้และของป่าเคลื่อนที่, การอนุญาตอื่นๆ ตามกฎหมายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับมอบอำนาจ เช่น การขอนำเคลื่อนย้ายไม้บ้านเรือนเก่าหรือสิ่งปลูกสร้าง, การขออนุญาตทำไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง รวมถึงประสานการขออนุญาตใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
2.ฝ่ายอนุรักษ์และส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติ รับผิดชอบงานจัดทำแผนจัดการทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัด, ประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและการทำลายทรัพยากรป่าในระดับจังหวัด, ประสานการสำรวจการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณีในระดับจังหวัด, ส่งเสริมเผยแพร่และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
จะเห็นได้ว่าแค่แบ่งงานที่รับผิดชอบออกเป็น 2 ฝ่าย ส่วนทรัพยากรธรรมชาติฯ ของ ผอ.อดิมาน ก็มีลูกน้องไม่พอทำงานแล้ว ยกเว้น ผอ.ต้องลงมารับผิดชอบงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปแทน (ซึ่งทุกวันนี้ก็คงทำอยู่) แต่ปัญหากลับไม่จบเพียงแค่นั้น
"ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษ ผอ.อดิมาน และพบอีกสารพัดปัญหาซ่อนอยู่...
"ในสำนักงานมีข้าราชการเพียง 2 คน คือผม ผู้อำนวยการส่วนฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอีก 1 คน เป็นนักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ งานที่ส่วนงานต้องรับผิดชอบมีอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายอนุรักษ์และส่งเสริม กับฝ่ายอนุญาต ควบคุม กำกับดูแล ที่จริงตามกฎหมายเราเป็นผู้ประสาน แต่ในการทำงานจริงๆ เราเป็นฝ่ายปฏิบัติด้วย ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันรักษาป่าไม้เขต 13 ที่นราธิวาส เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ส่วนงานอื่นๆ ที่มายื่นคำขอใช้พื้นที่ป่าสงวน"
"ก่อนหน้านี้เรามีเจ้าหน้าที่อยู่ 7- 8 คน แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ถูกระเบิดในเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็มีการขอย้ายกลับบ้านเกิด จนถึงวันนี้มีเจ้าหน้าที่เหลืออยู่ 2 คน รวมผมด้วย แต่ตามกรอบจริงๆ มี 4 คน และที่ปฏิบัติงานอยู่ขณะนี้แค่ 2 คน นอกจากผมก็คือนักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามสถานะไม่ครอบคุมงานที่รับผิดชอบ ผมอยากได้เจ้าหน้าที่นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ต้องซี 5 ขึ้นไป เพราะการตรวจสอบการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การตรวจการระเบิดของโรงโม่หิน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการขึ้นไป เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่สามารถเข้าร่วมตรวจสอบได้ตามกฎหมาย"
"ที่จริงเรื่องนี้อยู่ที่หน่วยเหนือว่าทำไมถึงไม่ส่งเจ้าหน้าที่ลงมา อันนี้เราก็ไม่ทราบ พื้นที่ป่าใน จ.ยะลามีตั้ง 1 ล้าน 2 แสนกว่าไร่ เราทำไม่ทัน ที่ผ่านมามีทั้งส่วนราชการ ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง หรือเอกชน มาขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าหลายๆ จุด เราทำไม่ทัน จะส่งเจ้าหน้าที่ไป เราก็ไปไม่ได้ บางครั้งต้องไปยืมเจ้าหน้าที่ส่วนสิ่งแวดล้อมมาช่วยตรวจสอบ"
เมื่อถามถึงปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ผอ.อดิมาน บอกว่ายังโชคดีที่ จ.ยะลา มีปัญหาไม่รุนแรงนัก งานที่หนักจึงเป็นงานการอนุญาตคำขอต่างๆ มากกว่า
"ปัญหาเรื่องบุกรุกป่า เราทำงานร่วมกับหน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้ มีอยู่ 8 หน่วย ซึ่งรับผิดชอบทุกอำเภอ และมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้าไปร่วม ใน อ.ธารโต อ.บันนังสตา และ อ.เบตง การบุกรุกทำลายป่าปีหนึ่งๆ มีพันกว่าไร่ แต่ปีที่ผ่านมาไม่ถึงพันไร่ การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเราให้ชาวบ้านร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ส่วนของ จ.ยะลา ไม่มีนายทุนรุกป่า ส่วนใหญ่จะเป็นราษฎรในหมู่บ้านเข้าไปบุกรุกคนหนึ่งประมาณ 5-10 ไร่ เพื่อใช้พื้นที่ปลูกยางพาราหรือไม่ก็ทำเกษตร ส่วนรายใหญ่จะไม่ค่อยมี"
"ผมอยากให้ผู้นำสี่เสาหลักร่วมดูแลป่ากันเอง เจ้าหน้าที่รัฐเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ จิตสำนึก สร้างความรักสามัคคี ทำอย่างไรให้ประชาชนหวงแหนป่า ให้ประชาชนรู้ว่าถ้าป่าถูกบุกรุก ปัญหาขาดแคลนน้ำจะตามมา"
ด้าน น.ส.นาบีละห์ สาวัน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวของส่วนทรัพยากรธรรมชาติฯ บอกว่า มีปัญหาการลงตรวจงานอนุญาต หรืองานส่งเสริมและอนุรักษ์ ตลอดจนการขอใช้พื้นที่ทั้งในป่าสงวน และการตรวจสอบเหมืองแร่ ซึ่งต้องให้นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการหรือเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโสในการดำเนินการ
"ปัญหาคือเรายังไม่ถึงขั้น (ซีไม่ถึง) ก็เลยไปตรวจไม่ได้ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการจะทำได้แค่งานอนุญาตอุตสาหกรรมไม้ เพราะไม่ได้ระบุว่าซีไหนหรือต้องเป็นนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ปกติในส่วนทรัพยากรธรรมชาติฯ จะมีเจ้าหน้าที่ 4 อัตรา แต่เรามีกันแค่ 2 คน คือผู้อำนวยการส่วน และฉันที่เพิ่งปฏิบัติงานได้ปีกว่าๆ เพิ่งเข้ามา ประสบการณ์ก็น้อย อยากให้ส่งคนลงมาตามกรอบอัตรากำลัง หรือได้เพิ่มมากกว่านั้นก็ยิ่งดี"
นี่คือคำบอกเล่าและความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ตามต่อถึงผู้รับผิดชอบในส่วนกลาง...
นายประลอง ดำรงค์ไทย ผู้ตรวจราชการ และโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา โดยปกติจะมีอัตรากำลังทั้งหมด 15 คน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนอำนวยการ ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ ฝ่ายสิ่งแวดล้อม และส่วนทรัพยากรน้ำ โดยในส่วนของนายอดิมาน มะแอ บอกว่าเหลือตนเองทำงานกับลูกน้องเพียงคนเดียวนั้น จริงๆ แล้วมีทั้งสิ้น 3 คน รวมตัวนายอดิมานด้วย
"เขามีผู้ช่วย 1 คน และอีกตำแหน่งเพิ่งจะว่างลง เพราะเพิ่งมีเจ้าหน้าที่ลาออกไป โดยทางกระทรวงฯกำลังเร่งหาคนลงไปทำหน้าที่แทน เพราะการลงไปประจำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องหาผู้ที่ต้องการลงไปทำหน้าที่จริงๆ รวมถึงยังรอการลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง"
สำหรับหน้าที่หลักๆ ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแต่ละจังหวัด นายประลอง บอกว่า จะขึ้นบังคับบัญชากับสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติงานด้านการประสานเรื่องร้องเรียนและรับเรื่องจากชาวบ้าน ทำหน้าที่แทนกระทรวงฯ ในลักษณะแบบสำนักงานส่วนภูมิภาค โดยจะขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด
ส่วนสถานการณ์ป่าไม้ในจังหวัดยะลา ยังถือว่าไม่มีปัญหามากนัก สภาพป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบพื้นที่เพื่อให้จำนวนป่าไม้ยังคงสภาพเดิมให้มากที่สุด
นี่คือคำอธิบายจากส่วนกลาง แต่คำถามที่คนในพื้นที่อยากได้ก็คือ ปัญหาถูกแก้แล้วหรือยัง ถ้ายัง...แล้วเมื่อไรจะแก้?
----------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ
บรรยายภาพ :
1 ผอ.อดิมาน
2-3 บรรยากาศเงียบเหงาในสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา
อ่านประกอบ : น้ำตาตก...จนท.เหลือคนเดียวดูแลป่ายะลา 1.2 ล้านไร่!