ยก“หลักนิติธรรม และ Regulatory Sandbox” พัฒนาเทคโนโลยีก้าวกระโดด ปลดล็อคขัดแย้งธุรกิจ “เดิม”VS “ใหม่” มุ่งหวังสร้างโมเดล พัฒนานวัตกรรม นำมาสู่การบริหารจัดการ-ปฏิรูป กม. ยึดหลักนิติธรรมที่มีหลักประกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งผู้ให้บริการ-ผู้ใช้บริการ เกิดความโปร่งใสสู่บริหารจัดการอย่างยั่งยืน
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 ชูแนวคิด “หลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน: ศึกษาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development: Understanding the Legacy of H.M. King Bhumibol Adulyadej) ภายในงานได้มีการเสนอกรณีศึกษาปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อหาทางออกไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มผู้บริหารรุ่นแรกในหลักสูตร “หลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) ด้วย
กลุ่ม RoLD ได้เสนอประเด็นเรื่อง “ทางเลือกสำหรับเทคโนโลยีก้าวกระโดด (Disruptive Technology) โดยใช้หลักนิติธรรม และ Regulatory Sandbox” ภายใต้หลักเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมอภิปราย
Regulatory Sandbox คือ สนามทดลองสำหรับการสร้างนวัตกรรม เช่น Fintech สตาร์ทอัพและอื่นๆ เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากขีดจำกัดและกฎระเบียบต่างๆ โดยจำกัดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะมีกับระบบเดิม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์และทางออกใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสังคมส่วนรวม
โครงการนำร่องนี้ มุ่งหวังสร้างโมเดล หรือ โครงสร้างในการพัฒนานวัตกรรมโดยพิจารณาผลกระทบรอบด้านกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสู่การบริหารจัดการและปฏิรูปกฎหมาย โดยยึดหลักนิติธรรมที่มีหลักประกันในการลดความเหลื่อมล้ำของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการและมีความโปร่งใสในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กฏหมายในฐานะเครื่องอำนวยความยุติธรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดเสวนา โดยระบุว่า เรื่องเทคโนโลยีก้าวกระโดดถือเป็นความท้าทาย และเป็นสิ่งจำเป็นที่วงการกฎหมายจะต้องมีความเป็นธรรมในการคุ้มครองทั้งผู้ที่เข้ามาใหม่และผู้ประกอบการเดิมอย่างเหมาะสม กฎหมาย กฎ ระเบียบ รวมทั้งนโยบายของหน่วยงานภาครัฐจะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นที่มาของความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้
“เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง กฎหมายในฐานะเครื่องอำนวยความยุติธรรม ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งว่า “...กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมือในการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง ...” นอกจากนี้พระราชดำรัสในหลายวาระยังชี้ให้เห็นว่า กฎหมายควรได้รับการทบทวนปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับยุคสมัยและสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว
ยุค 4.0 ต้องพึ่งพานวัตกรรม กฎหมายต้องตามให้ทัน
นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ ประธานองค์กรแพทย์ สถาบันโรคทรวงอก ซึ่งได้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD กล่าวว่า เหตุที่เราศึกษาเรื่องนี้ เพราะในยุคที่ประเทศไทยกำลังมีการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะเราคงไม่สามารถไปแบบเดิมได้ เราต้องการของใหม่ๆซึ่งบางครั้งเกิดผลกระทบกับคนเก่าๆ โดยตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือในเรื่องของการเดินทางที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดได้สร้างเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่กฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งมวลชนของไทยไม่ได้มีการปรับปรุงเลยตั้งแต่ปี 2522 ทำให้ไม่ทันสมัยและไม่เป็นไปตามที่ต้องการของประชาชน ที่ต้องการสิ่งที่ใหม่ Uber, Grab Taxi จนทำให้เกิดปัญหา
“เราจะยุติปัญหานี้อย่างไรเมื่อความเป็นจริงที่สังคมต้องการกับกฎหมายไม่ไปด้วยกัน ฝั่งหนึ่งบอกฉันถูกกฎหมายฉันต้องอยู่ อีกฝั่งบอกประชาชนต้องการฉัน ทำไมเราไม่เปิดรับเพื่อพัฒนา เพราะฉะนั้น เราต้องเอาหลักนิติธรรมเข้ามาแก้ไขหลักกฎหมาย เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก” นพ.เขตต์ กล่าว
เหตุผล 4 ข้อ Start up ไทย ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สรอ. กล่าวว่า จากที่เคยอยู่ในแวดวง Start up คนที่ประกอบการธุรกิจแบบใหม่ มักจะมีความผิดทางกฎหมายทางใดทางหนึ่งเสมอ เพราะกฎหมายไม่ทันสมัย ทำให้คนไทยไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ต่างประเทศ ทั้งที่พวกเขาอยากเติบโตในเมืองไทยมากกว่า แต่ไม่มีทางเลือก รัฐบาลควรแก้ปัญหานี้
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ Start up ของไทยไม่เติบโต เพราะ 1. กฎหมายเรื่องการเงินการลงทุนของประเทศไม่เอื้อ เช่น ประมวลแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องของการซื้อขายหุ้น หรือ การแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์ ไม่ได้มีการอัพเกรดมานานมาก ทำให้คุณสมบัติของ “บริษัท” ในประเทศไทยไม่เป็นสากลเหมือนประเทศอื่นๆ 2. เรื่องเขตแดนดิจิตอล ทั้งเรื่อง ภาษี และการบังคับใช้กฎหมาย โดย start up ประเทศไทย เสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่คู่แข่งของเราบินข้ามเขตแดนเข้ามาด้วยอิเลกตรอน ไม่ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้น ต้องมีการทำเขตแดนดิจิตอลให้ชัดเจน 3.เรื่องราคา ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญของ Sharing Economy เพราะในช่วงแรกจะมีลดราคาอย่างหนัก ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม และ 4. ปัญหา Sharing Ecomomy บน platform ต่างๆ เช่น Uber , Airbnb ซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ในพื้นที่สีเทา แต่ปัจจุบัน ข้อมูลต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันได้ ทำให้เกิดปัญหา โดยหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้เกิดปัญหา ทั้งต่อผู้เล่นหน้าเก่า และ ผู้เล่นหน้าใหม่ จนอาจมีการเผชิญหน้ากันได้
“เพราะฉะนั้น ควรมีออกแบบเนื้อหาของกฎหมายใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัยเท่าทันการเปลี่ยนแปลง (Redesign Approach) โดยที่ประเทศญี่ปุ่นแก้ปัญหานี้โดยให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาอยู่ในระบบและมีการจำกัดเวลา การใช้งาน แต่ของประเทศไทยต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษี ความโปร่งใส มีการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันหาทางออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาประชาชนเชื่อใจคนนอกระบบมากกว่าในระบบ เหมือนกรณีแท็กซี่ กับ Uber ซึ่งถ้าระเบียบ (Regulation)ดี จะไม่มีปัญหานี้ แต่เพราะไทยมีปัญหาทั้งเรื่อง “กฎระเบียบ” และการกำกับตรวจสอบที่มีความลักลั่นกันมาก โดยระเบียบที่ดีเกินไป การนำไปปฏิบัติก็ทำได้ยาก เพราะฉะนั้น ต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง” ดร.พณชิต กล่าว
เสนอรัฐเก็บเงินผู้ให้บริการ Platform ชง Uber และ Airbnb ทำSandbox
ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม สรอ. กล่าวต่อว่า จากการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่าการให้บริการทั้ง Uber และ Airbnb ใช้เวลา “ว่าง”ของผู้ประกอบการที่เป็นมือสมัครเล่นมาให้บริการ จึงไม่สามารถใช้กฎระเบียบเดียวกันได้ เพราะไม่ยุติธรรมต่อทั้งคู่ เราต้องคิดใหม่ทั้งหมด โดยรัฐควรไปกำกับผู้ให้บริการ platform มากกว่ากำกับดูแลเป็นรายบุคคล เพื่อให้ผู้บริการ platform กำกับสมาชิกต่อไป ซึ่งการทำงานของผู้ให้บริการ platform กับรัฐจะทำง่ายขึ้น โดยภาครัฐต้องปรับตัวในการเก็บข้อมูลและใช้เทคโนโลยี Big Data หาคนทำผิด ซึ่งวิธีนี้น่าจะให้รัฐและผู้ให้บริการ platform ตื่นตัวที่จะพัฒนาตัวเองด้วย ส่วนในเรื่องรายละเอียดต้องมีการศึกษาให้ลึกมากขึ้น
ดังนั้น เราอยากสร้างกรอบการทำงานของการทำ Regulation Sandbox โดยเริ่มต้นจาก Uber และ Airbnb เพราะเชื่อว่ามันจะมีแบบนี้ออกมาอีกมาก ดังนั้น น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการเดิม ผู้ให้บริการใหม่ ผู้ให้บริการ platform และภาครัฐเอง ต้องการจะปรับตัว ในแง่มุมของผู้กำกับปรับแก้กฎหมายก็สามารถทดลองกฎหมายของตัวเองได้
“เราต้องหานิยามเรื่อง “ผลลัพท์” กับ “ความเสี่ยง” หลังจากได้มาแล้วให้หาเครื่องมือที่จะวัด จากนั้นก็ย้อนกลับมาเพื่อวัดว่ามันใช้งานได้หรือไม่ โดยสร้างและเรียนรู้ให้เร็ว ผลจากตรงนี้เราเห็นภาพ รายได้ ความเสี่ยงและ ได้กฎระเบียบ ที่เราอยากได้ภายในเวลา 3-6 เดือน และจากนั้นหาตัวต้นแบบเพื่อทดสอบต่อไป” ดร.พณชิต กล่าว
“หลัก 10 ข้อ สร้าง Sharing Economy Regulatory Sandbox”
ดร.พณชิต กล่าวว่า การทำ Regulatory Sandbox ดังกล่าว สามารถใช้หลัก 10 ข้อ จาก งานเขียนเรื่อง FIRST PRINCIPLES FOR REGULATING THE SHARING ECONOMY STEPHEN R. MILLER ได้ คือ
1. The Sharing Economy Is Differentiated and Requires a Differentiated Regulatory Response : Sharing Economy แตกต่างจากธุรกิจแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้น การตอบสนองต้องแตกต่าง
2. The Sharing Economy Must Be Daylighted: Sharing Economy ต้องอยู่ที่สว่าง ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย
3. Regulating the Sharing Economy Requires (the Right Kind of) Information: Sharing Economy ต้องเก็บข้อมูลทั้งหมด เพื่่อให้เห็นภาพรวมของตลาดนี้
4. The Sharing Economy Is Here to Stay (and That Is a Good Thing) :Sharing Economy จะอยู่อีกนาน ไม่ควรไปสกัดและทำให้หยุดการเติบโต
5. The Sharing Economy Disrupts and Reimagines Established Markets : Sharing Economy ทำให้ตลาดเดิมกำลังถูกเปลี่ยนแปลง
6.The Sharing Economy Establishes New Markets (That Established Markets Want To Take Over) : Sharing Economy มีการสร้างตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดเก่า
7.The Sharing Economy Disrupts and Reimagines Established Regulatory Structures : Sharing Economy ทำให้กฎระเบียบต่างๆเปลี่ยนไป จำเป็นต้องสร้างกฎใหม่ขึ้นมา
8.The Sharing Economy Requires a Response beyond Traditional Regulation : Sharing Economy มีขอบเขตที่ไปไกลว่ากฎระเบียบแบบเดิมๆ
9. The Harm and the Remedy Are Uniquely Challenging To Determine in the Sharing Economy : Sharing Economy มักมีความท้าทายทั้งเรื่อง การทำให้เกิดความเสียหาย และ การแก้ไขความเสียหาย อยู่เสม
10. The Sharing Economy Implicates Diverse Parties, Each of Whom Should Be Considered in Establishing a Regulatory Response : Sharing Economy มีความเกี่ยวพันกับผู้เล่นที่มีความหลากหลายจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการออกกฎระเบียบที่จะมาใช้กำกับSharing Economy
สร้าง Sandbox รับมือพลวัตรการเปลี่ยนแปลง ทุกภาคส่วนต้องเข้าร่วม
นายรณพงศ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD กล่าวว่า ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีก้าวกระโดด (Disruptive Technology) คือ การมองเข้าไปถึงอนาคต เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะนำมาซึ่งการตกงานของหลายอาชีพ ดังนั้น เป็นที่น่าสนใจว่าพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในตอนนี้เรามีการรับมือกันอย่างไร ทั้งในมุมของการพัฒนาประเทศ และการแก้ไขปัญหาของสังคม หรือคนที่มีโอกาสน้อย คนที่เป็นรากหญ้าที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร เป็นที่น่าสนใจว่า Disruptive Technology จะมาตอบสนองการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
“หากจะนำหลักนิติธรรมมาตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในเรื่องนี้ ต้องพิจารณาเรื่อง 1.เจตนารมย์ของกฎหมายดั้งเดิม เทียบกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป 2.เรื่องความยืดหยุ่นของการบังคับใช้กฎหมาย โดยการพิจารณาอย่างรอบด้าน และ 3.เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายรณพงศ์ กล่าว
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. กล่าวว่า ผลิตผลของ Sandbox มี 2 มิติ คือ 1.ตัวผลิตภัณฑ์ (products) และ 2. กฎระเบียบ ที่ควรเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และต้องดูมิติเชิงสังคมและคนที่อยู่นอกระบบด้วย เช่น อย่างเรื่อง Uber เราก็ต้องพิจารณาถึงแท็กซี่ทั่วไปที่ไม่ไม่ได้อยู่ใน Sandbox แต่ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ ต้องมีทางออกในกับคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ต้องดูมากกว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจ แต่ควรดูทั้งระบบว่าแต่ละฝ่ายได้รับการคุ้มครองอย่างไร
“เพราะฉะนั้น Regulatory Sandbox เป็นข้อเสนอทั่วโลกในการรับมือกับสิ่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่ทางออก (Solutions)ที่จะบอกว่าต้องทำอะไร แต่เป็นสนามที่จะให้พิสูจน์กันว่า บริการนี้อยู่ได้หรือไม่อย่างไร ถ้าจะอยู่รอดต้องมีการกำกับอย่างไร เพราะฉะนั้นต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น” นพ.ประวิทย์ กล่าว
โลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ยึดแค่ตัวกฎหมายไม่ได้
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ที่ปรึกษาสานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าววว่า Keywords ในเรื่องนี้ คือ 1. การปรับตัว เพราะเรื่องแท็กซี่ป้ายดำถึง Uber คือเรื่องการปรับตัวทั้งสิ้น 2.“กลไก” อาจสำคัญกว่า “องค์กร” ซึ่งการฝากกลไกไว้กับองค์กรมากเกินไป ทำให้ไม่มีการพัฒนากลไกไปแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะมัวแต่ยุ่งกับเรื่องขององค์กร 3. “ ความชอบด้วยกฎหมาย” กับ “ความชอบธรรม” ไม่เหมือนกัน เพราะกฎหมายไม่ใช่บ่อเกิดของความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมต่างหากเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย เพราะบางครั้งมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่มีการปรับปรุง หรืออาจจะปรับปรุงเพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานสะดวกขึ้น ตรงนี้ไม่ใช่ทิศทางในการสร้างความเป็นธรรม ทั้งนี้โลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราคงไม่สามารถฝากความหวังไว้กับกฎหมายได้ เพราะกฎหมายตามไม่ทันและล้าสมัย
“เพราะฉะนั้น ต้องมีการค้นหานิติธรรม มีตั้งแต่การคิดทางนโยบาย การบังคับกฎหมายและนโยบาย การปรับปรุงและการยกเลิกกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและอนุบัญญัติทางกฎหมายเกิน 100,000 ชิ้น ซึ่งคงไม่มีใครปฏิบัติตามได้ถูกทั้งหมด เห็นได้ว่า ปริมาณที่มากขนาดนี้คงล้นจากความมีนิติธรรมไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่มีทางออกในเรื่องของกฎหมาย แต่เราสามารถใช้กลไกที่มีอยู่ ในการหาความรู้ความเข้าใจเพื่อหาทางออก ความยุติธรรมตามยุคสมัยได้ จากนั้นเราถึงสามารถออกกฎหมายต่อได้” นายวีระศักดิ์ กล่าว
เสนอรัฐเป็น Promotor ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะคือหลักนิติธรรมที่แท้จริง
จากนั้นการเสวนาได้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็น โดย นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานบริษัท ช.ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) และ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีก้าวกระโดดนั้น หากบางเรื่องที่ทำได้ยากและไม่มีกฎหมายรองรับควรมีการพูดคุยกันให้บ่อยที่สุดจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถหาทางออกได้ในที่สุด อีกทั้งยังเป็นการให้ความรู้กับสังคมด้วย โดยมีกรณีศึกษาจากจังหวัดขอนแก่น กรณีรสบัสและแท็กซี่ ในสนามบิน ที่ตอนแรกแท็กซี่ไม่พอใจ แต่เพราะการพูดคุยกันทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกันได้
“วันนี้ 4.0 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างแบบรวดเร็ว การยึดกฎหมายเป็นตัวตั้ง จะมีปัญหาแน่นอน และคิดว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ การเห็นชอบร่วมกันทั้ง ผู้บริโภค ผู้ให้บริการ โดยภาครัฐนอกจากจะเป็นผู้กำกับ (Regulator) แล้ว ควรเป็นผู้ส่งเสริม ( Promotor )ในการจัดคุยระหว่าง Grab, Uber และ แท็กซี่ โดยประโยชน์สูงสุดคือประชาชน นี่คือหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง”
นายชนินทร์ เอี่ยมชยางกูร ตัวแทนจากศูนย์แท็กซี่โฮวา ซึ่งเข้าร่วมฟังอภิปรายเช่นกัน กล่าวว่า เห็นด้วยว่าต้องมีการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากมีการ Regulatory Sandbox ควรให้แท็กซี่เข้าไปด้วย เพื่อหาตรงกลางมาเจอกันและจะกลายเป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถเลือกได้ เพราะ Sharing Economy คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือประชาชนผู้บริโภค
ทั้งหมดนี้ คือ ภาพรวมของการเสนอ Regulatory Sandbox เพื่อหาทางออกและเป็นตัวเชื่อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี (Digital Divide) โดยยึดหลักนิติธรรมในการบริหารจัดการ บริการรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดและมีผลกระทบต่อสังคม เพื่อแสวงหาแนวทางและกฎกติกา ที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมคิด ให้การยอมรับและปฏิบัติตาม ลดความขัดแย้งและเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล อันจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจ รวมทั้งสร้างสมดุลด้านผลประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในสังคมและประเทศชาติ รวมทั้งปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ หากประสบความสำเร็จ Regulatory Sandbox จะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับการหาข้อยุติระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเด็นอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย