หลัง“มาร์ค”ดอดพบ “อานันท์” - ชบ.มาบตาพุดกร้าวล้อมแน่นิคมฯ 30 ก.ย.
ประชุม คกก.4 ฝ่ายมาบตาพุดวาระพิเศษ ย้ำจุดยืน 18 โครงการรุนแรงที่เสนอไป แต่บอกอำนาจตัดสินใจเป็นของรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ดอดพบ "อานันท์" บอกคง 11 โครงการ ย้ำไม่เอื้อประโยชน์ใคร หลังฟังคำตอบแกนนำชาวบ้านเปลี่ยนท่าที บอกสิ้นเดือนเจอม็อบล้อมนิคมฯแน่
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 9.00 น.ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง(คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด) ร่วมกับตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยเวลาประมาณ 12.00 น. นายอานันท์ ปันยารุน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ ส่วนหนึ่งเป็นการแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่อีกส่วนคือการสร้างกระบวนการวิธีการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้โครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) รายการวิเคราะห์ผลกระทบสุขภาพ(เอชไอเอ) การทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย หรือการตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาล รวมทั้งการเสนอ 18 ประเภทโครงการรุนแรงที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน
นายอานันท์ กล่าวว่าที่ประชุมพิจารณาว่าจะมีโครงการใดในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เข้าข่าย 11 ประเภทโครงการรุนแรง นอกจากนี้จะมีการหารือกับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเตรียมส่งร่างพระราชบัญญัติองค์กรอิสระถาวรเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติตัดโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามที่คณะกรรม 4 ฝ่ายเสนอไป 18 ประเภทลงเหลือ 11 ประเภท และนำมาซี่งกระแสคัดค้านของภาคประชาชน นายอานันท์กล่าวว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมีหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอและก็ยังมีจุดยืนตามที่เสนอไป ส่วนการตัดสินใจเป็นสิทธิและอำนาจของรัฐบาล
“เราทำหน้าที่เสร็จแล้ว ซึ่งได้เสนอไป 18 ประเภท ส่วนรัฐบาลก็มีสิทธิ์และมีอำนาจผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ตัดมาเหลือ 11 และมีการแก้ไขบางประการ รัฐอาจจะบอกว่าทำให้เข้มแข็งขึ้น แต่ภาคประชาชนบอกเข้มแข็งน้อยลง ที่ประชุมวันนี้เพื่อจะรับฟังว่ารัฐมีวิธีคิดหรือข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไรในการพิจารณาตัดออก 7 รายการ” นายอานันท์กล่าว
นายอานันท์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดและเหตุผลเป็นเอกสารหรือข้อมูลวิชาการ มีเพียงบันทึกการประชุมของบอร์ดสิ่งแวดล้อม ตนจึงได้ขอเทปการประชุมซึ่งจะนำไปดูต่อ อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายทำหน้าที่นี้จบแล้ว ต่อจากนี้เป็นหน้าที่รัฐบาล แต่จะติดตามดูต่อไป นอกจากนี้ก็มีการหารือร่วมกันในเรื่องแผนการจัดทำผังเมืองและแผนลดมลพิษ โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานของนายธงชัย พรรณสวัสดิ์ ดูแลเรื่องกิจการรุนแรง, คณะทำงานของนายสุทิน อยู่สุข ดูแลเรื่องแผนลดมลพิษ และคณะของนายโกศล ใจรังสี ดูแลเรื่องผังเมือง โดยร่วมติดตามการดำเนินงานและร่วมมือแก้ไขกับรัฐบาลที่มีนายกอร์ปศักดิ์ร่วมงานด้วย โดยทั้ง 3 ทีมจะมีการหารือนอกรอบเป็นระยะ และรายงานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทุก 2 เดือน
ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนชนภาคตะวันออก กล่าวถึงจุดยืนที่ต้องการให้ประกาศ 18 ประเภทโครงการรุนแรง ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และผ่านความเห็นชอบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเนื่องจากเป็นความเห็นของภาคประชาชน และรัฐบาลควรทำตามนโยบายที่ประกาศว่ามาบตาพุดเป็นพื้นที่อ่อนไหวที่ทุกโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยพร้อมยุติการเคลื่อนไหวทันทีหากรัฐบาลเห็นชอบตามข้อเสนอประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 12.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มาเข้าพบนายอานันท์ที่บ้านพิษณุโลกโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า จากนั้นเวลา 13.40 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะทำหนังสือชี้แจงเหตุผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย แต่จะไม่ทบทวน 11 ประเภทกิจการรุนแรง โดยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมานั้นไม่ได้ทำให้มีปัญหาอะไรกับมาบตาพุด บางเรื่องกลับเข้มข้นขึ้น บางเรื่องก็จะใช้แบบอื่น บางเรื่องมีการผ่อนผัน
นายกฯ กล่าว่า ที่อยากย้ำคือ 11 ประเภทกิจการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯประกาศไปนั้นต้องบวกอีก 2 ประเภทที่ไม่สามารถประกาศในรูปแบบนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องพื้นที่ ต้องประกาศในตัวพื้นที่อีกครั้งหนึ่งก็เป็น 13 ประเภท แล้วก็มีน้ำเกลือที่ได้ห้ามทำเด็ดขาด ซึ่งเข้มงวดกว่าก็เป็น 14 ประเภท ที่เหลือเป็นพวกแหล่งน้ำ ซึ่งล็อคไว้ด้วยตัวเขื่อนที่ต้องทำตามมาตรา 67 วรรคสอง หรือล็อคด้วยการทำประตูระบายน้ำที่ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เห็นว่าครอบคลุม เตาเผาขยะติดเชื้อก็ล็อคไว้ว่าต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเฉยๆ และมีกฎหมายสาธารณสุขคลุมอยู่ ส่วนพวกปิโตรเคมีก็ไปเข้มงวดเรื่องขนาด แต่จะมีเรื่องโรงไฟฟ้าพลังร่วมที่ไปเพิ่มตรงนั้นก็เป็นไปตามที่ศึกษาทางวิชาการ
“ความจริงแล้วหากประกาศไป 18 ประเภทกิจการที่ว่านั้นจะมีหลุดไปมากกว่านี้อีก นี่เป็นการยืนยันอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราตัดสินใจไปได้คำนึงถึงประโยชน์ประชาชนมาบตาพุด อยากให้ไปดูในรายละเอียดและเอาไปให้ประชาชนทราบ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะเข้าใจหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่ายก็มีความเห็นของตัวเอง แต่สิ่งที่มั่นใจได้คือไม่ได้มีการไปเอื้อประโยชน์ให้กับใคร และประกาศตัวนี้แทบไม่ได้แตกต่างกันเลยระหว่างความคิดเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ กับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และที่ตนอยากย้ำคืองานที่ใหญ่และสำคัญเร่งด่วนสำหรับประชาชนในพื้นที่มากกว่าประกาศตัวนี้ คือต้องเร่งศึกษาขีดความสามารถของพื้นที่ในการรองรับมลพิษและการทำพื้นที่กันชน ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงประสานกันและมอบหมายตัวบุคคลในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่จะมาประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และจะให้รายงานความก้าวหน้าทุก 2 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องหลักจริงๆ เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน
หลังจากคำตอบของนายกฯ นายสุทธิ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า รู้สึกไม่พอใจเนื่องจากไม่มีความชัดเจนทั้งข้อมูลและเอกสารที่รัฐบาลควรนำมาเปิดเผยเพื่อแสดงความโปร่งใสในการจัดทำ 11 ประเภทโครงการรุนแรง และถ้ายังไม่มีความคืบหน้า วันที่ 30 ก.ย.นี้ จะมีการชุมนุมใหญ่เพื่อปิดล้อมมาบตาพุดตามแผนเดิมต่อไป .