'ยูนิเซฟ' เปิดผลวิจัยชี้ทั่วโลกขาดการลงทุนส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่บ่งชี้ว่าการลงทุน 4.70 เหรียญสหรัฐต่อเด็กแรกเกิดหนึ่งคนก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568
วันที่ 1 ส.ค. 2560 รายงานชิ้นใหม่จากความร่วมมือของยูนิเซฟ องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มผู้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลก (Global Breastfeeding Collective – โครงการใหม่ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลก) ระบุว่าไม่มีประเทศใดเลยที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน
การวัดผลด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลก (Global Breastfeeding Scorecard) ซึ่งมีการจัดทำใน 194 ประเทศพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก และประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเกินร้อยละ 60 มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น (สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ พบว่ามีเด็กเพียงร้อยละ 23 ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก)
งานวิจัยและการศึกษาทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ทางด้านสุขภาพและสติปัญญาต่อทั้งทารกและผู้เป็นแม่โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต โดยจะช่วยป้องกันโรคท้องร่วงและปอดบวมซึ่งเป็นสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของทารก นอกจากนี้ แม่ที่ให้ลูกกินนมจะมีความเสี่ยงน้อยลงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ อันเป็นสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของสตรี
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “การให้ลูกกินนมแม่เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดในชีวิตของทารก นมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนแรกที่จะช่วยป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับทารก ทั้งยังให้สารอาหารครบถ้วนที่ทารกต้องการในการรอดชีวิตและเติบโต”
การวัดผลดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงต้นสัปดาห์นมแม่โลก (World Breastfeeding Week) ซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 สิงหาคม พร้อมกับผลการวิเคราะห์ชิ้นใหม่ที่ระบุว่า การลงทุนเพียง 4.70 เหรียญสหรัฐต่อปีต่อเด็กแรกเกิดหนึ่งคน จะช่วยเพิ่มอัตราการให้นมแม่อย่างเดียวแก่เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 50 ในปี 2568
บทความเรื่อง ดูแลสุขภาพและความมั่งคั่งของชาติ: ความจำเป็นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Nurturing the Health and Wealth of Nations: The Investment Case for Breastfeeding) ชี้ว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะสามารถช่วยชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีได้ 520,000 คน และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลากว่า 10 ปี โดยเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บที่ลดลงและผลิตผลที่เพิ่มขึ้น
นายแอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพของเด็กที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุดวิธีหนึ่ง รวมทั้งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจและสังคม หากเราไม่ลงทุนด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เท่ากับเราทอดทิ้งแม่และเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียเป็นสองเท่า คือทั้งในแง่การเสียชีวิตและการเสียโอกาส”
ในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก 5 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และไนจีเรียนั้น การขาดการลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิต 236,000 คนต่อปีโดยประมาณ และมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 1.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
การลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลกยังมีอัตราต่ำเกินไป รัฐบาลในกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลางมีการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พร้อมด้วยเงินบริจาคเพิ่มเติมอีกเพียง 85 ล้านเหรียญสหรัฐ
กลุ่มผู้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วโลกได้เรียกร้องให้นานาประเทศดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มอัตราการกินนมแม่ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี
2. ดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) รวมทั้งมติที่เกี่ยวข้องจากการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (World Health Assembly) ผ่านการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย อย่างจริงจัง โดยมีองค์กรที่เป็นอิสระจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใดๆ เป็นผู้ตรวจสอบ
3. ออกนโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการให้นมลูกในสถานที่ทำงานและการลากิจแบบจ่ายเงิน ตามแนวทางการคุ้มครองความเป็นมารดาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และข้อกำหนดต่างๆ ของแรงงานนอกระบบ
4. นำ 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปปฏิบัติใช้ในสถานที่ดูแลแม่และเด็ก รวมทั้งการให้นมแม่แก่เด็กแรกเกิดที่ป่วยและอ่อนแอ
5. ปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและโครงการด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ครอบคลุมภายในสถานดูแลสุขภาพต่างๆ
6. เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานดูแลสุขภาพและชุมชนให้แข็งแกร่ง ตลอดจนสนับสนุนเครือข่ายชุมชนที่คุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
7. พัฒนาระบบการตรวจสอบเพื่อติดตามความก้าวหน้าของนโยบาย โครงการ และเงินทุนเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างๆ (Sustainable Development Goals: SDGs) ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงด้านโภชนาการ (เป้าหมาย #2) การป้องกันการเสียชีวิตในเด็กและลดความเสี่ยงของกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (เป้าหมาย #3) หรือการสนับสนุนด้านการศึกษาและพัฒนาการทางสติปัญญา (เป้าหมาย #4) นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการยุติความยากจน ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ และลดปัญหาความไม่เสมอภาคต่างๆ อีกด้วย