เปิดครบข้อหา5ขรก.เลขาสภาผู้แทนฯปมปรับปรุงห้องประชุม36.5ล. -‘สรศักดิ์’เซ็นยุติเรื่อง?
เปิดครบข้อกล่าวหา 5 ขรก.สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ปมจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ 3301 อาคารรัฐสภา 3 วงเงิน 36.5 ล้าน ทั้งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน-ใช้ TOR จากบุคคลภายนอก-เอาเอกสารเสนอราคาจากอดีต ‘บิ๊ก ขรก.’ มาดำเนินการ ก่อน ‘สรศักดิ์’ เลขาฯคนปัจจุบันลงนามยุติเรื่อง
กำลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู กรณีคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา แต่งตั้ง น.ส.สุนทร รักเมือง อดีต ผอ.สำนักการคลังและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวจากรัฐสภาว่า น.ส.สุนทร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหารวม 5 ราย ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย กรณีดำเนินโครงการจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณห้อง 3301 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา วงเงินประมาณ 36.5 ล้านบาท อย่างไรก็ดีระหว่างการสอบสวน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีคำสั่งค้านรายงานของคณะกรรมการสอบทางวินัย แต่ต่อมาคณะกรรมการสอบทางวินัยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีมูล และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (นายสรศักดิ์ เพียรเวช) มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าวแล้วนั้น
(อ่านประกอบ : สตง.ค้าน-กก.สอบสรุปไม่ผิด!เปิดข้อหารองเลขาสภาผู้แทนฯใหม่ปรับปรุงห้องประชุม 36.5 ล.)
สำหรับโครงการจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณห้อง 3301 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา วงเงินประมาณ 36.5 ล้านบาท เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 สมัยนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ดีโครงการนี้ถูกข้าราชการ และนักการเมืองฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์) ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการ รวมถึงการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่าง ๆ กระทั่งมีการส่งเรื่องให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น) ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ดีสำหรับโครงการนี้เพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สมัยนายจเร พันธุ์เปรื่อง เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2558 ต่อมาเมื่อปี 2559 สมัย น.ส.สายทิพย์ เชาวลิตถวิล เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า รายชื่อผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 5 ราย เกี่ยวกับโครงการจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว วงเงิน 36.5 ล้านบาท ได้แก่ นายสุชาติ โรจน์ทองคำ ผอ.สำนักรักษาความปลอดภัย น.ส.สุนทร รักเมือง ผอ.สำนักการคลังและงบประมาณ นายสุชนา ศรีสิยวรรณ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน (นายช่าง) ระดับอาวุโส นายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงศ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัสดุ และนายสมโภชน์ อุมวะนะ นักวิชาการพัสดุ ระดับปฏิบัติการ
สำหรับข้อกล่าวหาของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 5 ราย สรุปได้ ดังนี้
นายสุชาติ โรจน์ทองคำ
ในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอให้มีการปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว สำหรับใช้งานเป็นห้องประชุม (ใหม่) ทั้งเป็นประธานกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของงาน และประธานกรรมการตรวจรับพัสดุของโครงการดังกล่าว
มีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยที่จะสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาให้เข้าสำรวจห้องประชุมดังกล่าว เพื่อทำคำชี้แจงรายละเอียดครุภัณฑ์ที่ควรได้รับการปรับปรุงและรายละเอียดงบประมาณที่จะใช้ปรับปรุงในการเสนอต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติโครงการ โดยใช้เฉพาะเอกสารเสนอราคาของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกสารที่นายสุชนา ศรีสิยวรรณ ได้รับจากอดีตข้าราชการระดับสูงในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเอกสารแนบท้ายบันทึกเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายให้ดำเนินโครงการอย่างเร่งด่วนของอดีตข้าราชการระดับสูงรายนั้น
ส่งผลให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช้เงินจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว เป็นจำนวนถึงกว่า 36.5 ล้านบาท ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และในการได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของงาน (TOR) นายสุชาติ ได้ร่วมลงลายมือชื่อกับกรรมการอื่นรับรอง TOR ที่ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจากบุคคลภายนอก โดยมิได้นัดประชุมคณะกรรมการ TOR ต่อมานายสุชาติ ยังได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนรายนี้ เข้าปรับปรุงพื้นที่ภายในห้องประชุมบางส่วนก่อนที่จะได้รับเงินประจำงวดด้วย จึงทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
น.ส.สุนทร รักเมือง
มีพฤติการณ์คือ ไม่ได้วิเคราะห์ความจำเป็นในการขอจัดจ้างโครงการปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณของสำนักรักษาความปลอดภัย ซึ่งไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการเข้าสำรวจห้องประชุมงบประมาณ รายการครุภัณฑ์ที่ได้รับการปรับปรุง รายละเอียดราคาครุภัณฑ์แต่ละรายการ ทั้งที่ควรดำเนินโครงการด้วยความรัดกุมเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ กลับยอมให้ถือเอารายละเอียดตามใบเสนอราคาของบริษัทเอกชนที่ได้ทำสัญญาปรับปรุง เอกสารแนบท้ายบันทึกขออนุมัติโครงการของสำนักรักษาความปลอดภัยเป็นหลักในการเสนอความเห็นเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังยึดถือนโยบายของอดีตข้าราชการระดับสูงในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยด่วน จนไม่คำนึงถึงการปฏิบัติให้ถูกต้องรอบคอบ จนส่งผลให้การจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ ที่ใช้เงินจำนวน 36.5 ล้านบาท ปราศจากการตรวจสอบ กลั่นกรองและเสนอความเห็นในชั้นต้น และยังไม่มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่พัสดุ ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบราคามาตรฐานครุภัณฑ์ และราคากลางงานก่อสร้างของราชการ ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้องจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณในราคาที่สูงกว่าปกติ
น.ส.สุนทร ยังดำเนินการจัดจ้างก่อนที่จะทราบยอดเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดหา และการขออนุมัติให้ลงนามในใบสั่งจ้าง อันเป็นการก่อหนี้ผูกพันก่อนที่จะทราบยอดเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดหา และการขออนุมัติให้ลงนามในใบสั่งจ้าง อันเป็นการก่อหนี้ผูกพันก่อนที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับโอนเงินประจำงวด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการขัดต่อกฏหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติราชการที่สำนักการคลัง และงบประมาณยึดถือปฏิบัติมาก่อนที่จะไม่ใช้ใบสั่งจ้างกับโครงการที่มีมูลค่าสูงด้วย
นายสุชนา ศรีสิยวรรณ
ในฐานะผู้เสนอให้มีการปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว ทั้งเป็นกรรมการ TOR และกรรมการตรวจรับพัสดุ มิได้สั่งการให้มีการเข้าสำรวจห้องประชุมดังกล่าว เพื่อทำคำชี้แจงรายละเอียดครุภัณฑ์ที่ควรได้รับการปรับปรุงและรายละเอียดงบประมาณที่ใช้ปรับปรุงในการเสนอต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติโครงการ แต่กลับแนบเฉพาะเอกสารเสนอราคาของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกสารจากอดีตข้าราชการระดับสูงในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ทั้งที่การเข้าสำรวจห้องประชุมดังกล่าว เพื่อทำบันทึกขออนุมัติโครงการเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายสุชนา ส่งผลให้การจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าวใช้งบประมาณกว่า 36.5 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ขณะเดียวกันในการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ TOR นายสุชนา ยังได้ร่วมลงลายมือชื่อกับกรรมการ TOR รายอื่นรับรอง TOR ที่ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วจากบุคคลภายนอก โดยมิได้ประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำเอกสารอันถือเป็นวัตถุประสงค์การจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
และในการพิจารณาการขอเข้าปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว นายสุชนายังเสนอความเห็นในชั้นต้นเห็นควรอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายนี้ เข้าปรับปรุงพื้นที่ภายในห้องประชุมบางส่วน ก่อนที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับโอนเงินประจำงวดด้วย
นายพิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์
เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว มีพฤติการณ์ที่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใด ๆ โดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ได้รับความเสียหาย และเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญากับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
นายสมโภชน์ อุมวะนะ
เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุผู้รับผิดชอบโครงการจัดจ้างปรับปรุงห้องประชุมดังกล่าว และเป็นกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษของโครงการดังกล่าว มีพฤติการณ์ที่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใด ๆ โดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญากับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รายดังกล่าว ไม่ได้กระทำผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เห็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของราชการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย จึงไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และได้ส่งความเห็นให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (นายสรศักดิ์ เพียรเวช) พิจารณาแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 นายสรศักดิ์ เพียรเวช ในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในหนังสือความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดังกล่าว สั่งให้ยุติเรื่องแล้ว
อย่างไรก็ดีระหว่างการสอบสวนดังกล่าว สตง. ได้ทำความเห็นถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โต้แย้งคัดค้านหลายประเด็นด้วยกัน แต่นายสรศักดิ์ ได้ลงนามให้ยุติเรื่องดังกล่าว ?
ส่วนสาเหตุอะไรที่ทำให้ สตง. จำเป็นต้องยื่นเรื่องคัดค้านนั้น สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนต่อไป !