กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ค้านหั่นเหลือ 11 โครงการรุนแรง พร้อมหนุน ชบ.มาบตาพุดล้อมนิคม
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 400 คน เตรียมเคลื่อนไหวต้านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่หั่นโครงการรุนแรงจาก 18 เหลือ 11 ประเภท โปรเจ็คใหญ่หมืองแร่โปแตซในพื้นที่กำลังเดินเครื่อง ชาวบ้านพร้อมสู้ เอ็นจีโอยันเป็นการปกป้องสิทธิชุมชน พร้อมหนุนคนมาบตาพุดปิดนิคม
เมื่อเร็วๆนี้ ณ ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 400 คน ร่วมประชุมกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้ตัดประเภทโครงการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ที่เดิมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุดเสนอไว้ 18 ประเภทโครงการรุนแรงให้เหลือเพียง 11 โครงการรุนแรง ซึ่งนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิชาการ นักพัฒนาและเครือข่ายภาคประชาชนกันอย่างกว้างขวาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมของชาวบ้านมีการร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าการพิจารณาถึงโครงการที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงนั้นมองได้ 2 มิติ คือรุนแรงโดยสภาพ และรุนแรงโดยข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการ ซึ่งการพิจารณาขอคณะกรรการมองในเชิงเทคนิคมากกว่าข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร ทั้งนี้ชาวบ้านจึงมีข้อสรุปร่วมกันที่จะคัดค้านประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวปกป้องชุมชนหากมีการรุกรานและใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน โดยยืนยันถึงความชอบธรรมในการปกป้องสิทธิชุมชน
นายบุญเลิศ เหล็กเขียว หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงการเหมืองแร่โปแตซที่มีเสาค้ำยันเป็นโครงการที่ไม่รุนแรง เพราะรู้อยู่แล้วว่าการทำโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเอาแร่ที่อยู่ใต้ดินขึ้นมานั้นจะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากขนาดไหน และสถานการณ์ในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานีนั้น ทราบมาว่าบริษัทฯกำลังมีการขยับโดยเปลี่ยนชุดประชาสัมพันธ์โครงการ และเตรียมที่จะทำการรังวัดปักหมุดแผนที่ ตนจึงต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ว่าจะต้องออกมาสู้ให้ถึงที่สุดกับสถานการณ์ดังกล่าว
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะคัดค้านมติดังกล่าวของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพราะว่าการพิจารณาโครงการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และที่ผ่านมาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่มักจะส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนจนไม่สามารถหาหนทางเยียวยาแก้ไขได้ ยกตัวอย่างเช่นที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะเป็นชาวบ้านที่มิสิทธิที่จะพิจารณาและตัดสินใจว่าโครงการประเภทใดบ้างที่เป็นโครงการรุนแรง
นายสุวิทย์ ยังกล่าวว่า การที่ชาวบ้านจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านมติของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มชาวบ้านและภาคประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดได้ยื่นหนังสือคัดค้านมติดังกล่าวแล้ว และกำลังจะออกมาปิดล้อมมาบตาพุด ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว .
ที่มา : โครงการทามมูล