รร.ผู้สูงอายุวัดหัวฝาย หนุน ฒ.ผู้เฒ่า ทันโลก ผุดธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฉบับแรกของไทย
เจ้าอาวาสวัดหัวฝายหนุนผู้เฒ่าทันโลก ผุดธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฉบับแรกในไทย เน้น “กาย จิต สุข” สอนวิชาชีวิต ควบคู่วิชาชีพ และวิชาการ เพื่อดึงศักยภาพ-ภูมิปัญญาพื้นบ้านช่วยชุมชน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดกิจกรรมสุขภาพแห่งชาติสัญจร ลงพื้นที่ดูงาน ณ วัดหัวฝาย ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย และ ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย เปิดเผยว่า ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ เกิดขึ้นจากโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย ซึ่งเปิดตั้งแต่ปลายปี 2554 เพราะตระหนักถึงปัญหาของผู้สูงอายุที่ไม่รู้หนังสือ จึงถูกบุคคลอื่น หรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัว เช่น ลูกหลานหลอกเอาทรัพย์สินโดยง่าย ประกอบกับผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ อยู่กับบ้านเฉยๆ อย่างเงียบเหงา เมื่อมาโรงเรียนก็จะได้เข้าสังคมกับเพื่อนคนอื่นๆ
"ทุกวันอังคาร นักเรียนซึ่งมีอายุมากกว่า 55 ปี จะมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันที่โรงเรียน เริ่มจากการเคารพธงชาติ ไหว้พระสวดมนต์ ออกกำลังกาย รำวงย้อนยุค เพื่อกระตุ้นก่อนการเรียน ก่อนทำกิจกรรมในห้องเรียนที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ไม่รู้หนังสือ กลุ่มผู้ลืมหนังสือ และกลุ่มผู้รู้หนังสือ อันเป็นการแบ่งตามสมรรถนะของผู้เรียนให้เกิดความเหมาะสม และมีการวางแผน พัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ภายใต้สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ ความศรัทธา และสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน"
สำหรับกรอบเนื้อหาของหลักสูตร เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย กล่าวว่า มีทั้งวิชาชีวิต วิชาชีพ และวิชาการ โดยแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ (1) พระพุทธศาสนา ศาสนพิธีต่างๆ, (2) สุขภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ฟัน กายภาพบำบัด จิตวิทยา รำไท้เก็ก รำวงย้อนยุค กีฬา, (3) สังคม เน้นกฎหมาย วัฒนธรรม และกฎจราจรต่างๆ, (4) ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา, (5) สมุนไพร การทำลูกประคบ ยาหม่อง น้ำมันไพร, (6) อาชีพ เช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ ตุ๊กตาการบูร การทำขนมไทย ขนมพื้นบ้าน ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดเท้า เหรียญโปรยทาน ฯ, (7) ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาเวียดนาม ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน, (8) คอมพิวเตอร์พื้นฐาน, (9) เกษตรตามแนวพระราชดำริ เกษตรพอเพียง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม“อุ้ยสอนหลาน” และ“อุ้ยชวนหลานเข้าวัด” เชื่อมโยงผู้เฒ่าผู้แก่กับลูกหลานเข้าหากัน ส่งผลให้มีนักเรียนสูงอายุสนใจร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนอย่างล้นหลาม มากกว่า 170 คน ช่วยลดปัญหาโรคเศร้าซึมในผู้สูงอายุ ทุกวันอังคารนอกจากมาโรงเรียนแล้ว ยังมีตลาดนัดสีเขียว รองรับกิจกรรมเกษตรปลอดสารของผู้สูงอายุบริเวณหน้าวัด และทุกวันศุกร์ จัดที่ตลาดของหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็สามารถฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ใกล้สูญหายให้กลับมา โดยเฉพาะการฟ้อนดาบ ฟ้อนสาวไหม และฟ้อนเล็บ ซึ่งแม่ครูสูงวัย อายุกว่า 90 ปี เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับคนในหมู่บ้านอย่างเต็มใจ
“สำหรับธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝายนั้น ประกาศใช้เมื่อปี 2559 เกิดจากการทำประชาคม และมีฉันทมติของสภาผู้สูงอายุตำบล ประชาชน และกลุ่มองค์กรเครือข่าย ว่าให้ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาผู้สูงอายุให้เจริญก้าวหน้า โดยบูรณาการแผนงานโครงการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ให้พัฒนาไปสู่เป้าหมาย เป็นสังคมผู้สูงอายุตำบล ที่มี กาย จิต สุข ที่ยั่งยืน และถือได้ว่าเป็นธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุฉบับแรกของไทย” ผอ.โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย กล่าว
โดยเนื้อหา แบ่งเป็น 7 หมวด คือ (1) ปรัชญา แนวคิด และเจตนารมณ์ของธรรมนูญสุขภาพ (2) การส่งเสริมสุขภาพ และสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุที่พึงประสงค์, (3) การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมสวัสดิการผู้สูงอายุ และควบคุมป้องกันภาวะคุกคามต่อสุขภาพผู้สูงอายุ, (4) การสร้างเสริมสุขภาพ ด้านศาสนาธรรม ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา, (5) การส่งเสริมผู้สูงอายุดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง, (6) สังคมผู้สูงอายุเพื่อการเรียนรู้ (7) เฉพาะกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมธรรมนูญให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง