บสย. ขานรับนโนบายรัฐผลักดันค้ำประกันสินเชื่อช่วย SMEs เต็มพลัง
บสย. รายงานผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ 6 เดือน (ม.ค.-30 มิ.ย. 60) มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 29,591 ล้านบาท อนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ 47,204 ฉบับ และมีลูกค้ารายใหม่ ถึง 39,771 ราย ผลดำเนินงานบรรลุเป้า ทั้งจำนวนรายที่เพิ่มขึ้นและลูกค้าใหม่ เผยแนวโน้มความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ครึ่งปีหลังแรงต่อเนื่อง พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนภารกิจ “ค้ำประกันสินเชื่อ” สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ดันเป้าค้ำประกันสิ้นปี ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายตามแผนวิสาหกิจที่ 86,000 ล้านบาท
นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) ณ 30 มิถุนายน 2560 เป็นไปตามเป้าหมาย มียอดค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 29,591 ล้านบาทอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 47,204 ฉบับและมีลูกค้ารายใหม่ เพิ่มขึ้น 39,771 ราย
โดยผลดำเนินงานล่าสุด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมียอดค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 33,890 ล้านบาท การอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 54,234 ฉบับและมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 47,102 ราย
ผลสำเร็จดังกล่าวมาจากมาตรการให้การสนับสนุนจากรัฐบาล และจากกระทรวงการคลังในช่วงที่ผ่านมาที่ให้การสนับสนุนโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro) ก่อให้เกิดการเข้าถึงสินเชื่อได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของ บสย. ในปี 2560 คือการขยายฐานลูกค้า SMEs ทุกกลุ่มเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
เป้าหมายการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าใหม่ในปี 2560 ตั้งไว้ที่ 67,419 ราย ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ได้แล้ว 47,102 ราย ขณะเดียวกัน บสย. ตั้งเป้าจำนวนการออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) 88,518 ฉบับ โดยสามารถให้ความช่วยเหลือค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไปแล้ว 54,234 ฉบับ คิดเป็นจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันเพิ่มขึ้นถึง 163% และจำนวนลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น 243% เป็นไปตามยุทธศาสตร์ บสย. คือการขยายฐานลูกค้า SMEs ทุกกลุ่มเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุน
ทั้งนี้ กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง บสย. ยังมุ่งมั่นภารกิจด้านการค้ำประกันสินเชื่อโดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อให้มากที่สุด ทั้งในด้านจำนวนเงินและจำนวนราย ในฐานะหน่วยงานของรัฐและเป็นกลไกของรัฐเข้าไปช่วยเหลือด้านของการค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเม็ดเงินหรือมีสายป่านที่เพียงพอในการทำธุรกิจ เพื่อไปสู่เป้าหมาย 86,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บสย. จะให้การสนับสนุน และผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยต่อไป ซึ่งขณะนี้มีธนาคารเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้ร่วมโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคเกษตรรายเล็กๆ รวมถึงล่าสุด ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มมุสลิมรายย่อยในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น