เช็คสถานะ 20 รสนิยมเพศ (ทางเลือก) สิทธิกับจุดยืนของไทย
เช็คสถานะกับ 20 รสนิยมเพศ (ทางเลือก) สิทธิกับจุดยืนของไทย หลังพ.ร.บ.รับรองเพศ สะดุด นักวิชาการหวังสังคมเปิดกว้างยอมรับ ดันกม.ให้สำเร็จ อนุญาตเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ สร้างความเท่าเทียมทำงาน สมรสใช้ชีวิตคู่ เชื่อลดเหลื่อมล้ำ ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน
เชื่อหรือไม่ว่า ในโลกยุคปัจจุบันนี้มีถึง 20 เพศ...
จากเดิมมนุษย์มี 2 เพศกำเนิด คือ ชาย และ หญิง แต่เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รสนิยมทางเพศของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปด้วย นั่นจึงทำให้คู่ครองไม่ได้มีเฉพาะชายรักหญิงเท่านั้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า แม้จะมีรสนิยมทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด แต่สังคมปัจจุบันอ้าแขนยอมรับมากขึ้น ทำให้บุคคลสำคัญของโลกเปิดเผยตัวตน ไม่เว้นแม้กระทั่งในไทย เช่น (วูดดี้) วุฒิธร มิลินทจินดา เบน ชลาทิศ อ๊อฟ ปองศักดิ์ เจี๊ยบ ลนา นางสาวไทย ปี 2549
ข้อมูลจากผศ.ดร.จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (คอลัมน์ จันทร์วิภา, คู่สร้างคู่สม ฉบับที่ 983, ปีที่ 38) ระบุนอกจากมี 1.เพศชาย และ 2.หญิงแล้ว ยังมี
3.ทอม คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวในแบบผู้ชาย มีจิตใจเป็นเพศชาย และรักใคร่ผู้หญิงและดี้
4.ดี้ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ทอม
5.ทอมเกย์ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่ได้ทั้งผู้หญิง ทอม และดี้
6.ทอมเกย์คิง คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่เฉพาะทอม โดยชอบเป็นฝ่ายรุก
7.ทอมเกย์ควีน คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่เฉพาะทอม โดยชอบเป็นฝ่ายรับ
8.ทอมเกย์ทูเวย์ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่เฉพาะทอม โดยชอบเป็นทั้งฝ่ายรุกและรับ
9.เกย์คิง คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่ผู้ชาย และชอบเป็นฝ่ายรุก
10.เกย์ควีน คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย อาจมีจริตของผู้หญิง แต่รักใคร่ผู้ชาย และชอบเป็นฝ่ายรับ
11.โบ๊ท คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย รักใคร่ได้ทั้งผู้หญิง เกย์คิง และเกย์ควีน ยกเว้นกะเทย และเป็นได้ทั้งฝ่ายรุกและรับ
12.ไบท์ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ทั้งทอม เลสเบี้ยน และผู้ชาย
13.เลสเบี้ยน คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ผู้หญิงด้วยกัน
14.กะเทย คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้หญิง รักใคร่ผู้ชาย
15.อดัม คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้ชาย แต่รักใคร่ทอม
16.แองจี้ คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ทอม
17.เชอร์รี่ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่เกย์และกะเทย
18.สามย่าน คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง ทำตัวเป็นผู้หญิง แต่รักใคร่ได้ทั้งเลสเบี้ยน ทอม และผู้ชาย
19.ผู้หญิงข้ามเพศ คือ คนที่มีอวัยวะเพศชาย แต่มีจิตใจเป็นหญิง และได้ผ่านการแปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้ว
20.ผู้ชายข้ามเพศ คือ คนที่มีอวัยวะเพศหญิง แต่มีจิตใจเป็นผู้ชาย และได้ผ่านการแปลงเพศเป็นผู้ชายแล้ว
ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฎ หลายประเทศจึงออกกฎหมายรับรองเพศขึ้นมา ยกเว้นไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ม.ธรรมศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยโครงการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รับรองเพศ พ.ศ. ...เพื่อเสนอต่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
น่าเสียดาย ที่ติดปัญหาบางประการ ทำให้การขับเคลื่อน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวหยุดชะงัก!!
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนา เรื่อง สิทธิเพศทางเลือก กับจุดยืนประเทศไทย “สังคม กฎหมาย การทำงาน” จัดโดย ม.ธรรมศาสตร์ ได้มีการหยิบยกเรื่อง พ.ร.บ.รับรองเพศ ขึ้นมา เพื่อหวังกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหา หากไม่มีกฎหมายฉบับนี้ พร้อมให้เเสดงจุดยืนเปิดพื้นที่ให้กลุ่มเพศทางเลือกชัดเจน
ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาหากไทยไม่ผลักดัน พ.ร.บ.รับรองเพศ ว่า คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถเลือกใช้คำนำหน้าชื่อในเอกสารสำคัญได้ตามเพศวิถี ทำให้การติดต่อต่าง ๆ เกิดปัญหา เช่น กรณีนก ยลดา สวยยศ มิสอัลคาซ่า ปี 2548 มีปัญหาภาพในพาสปอร์ตไม่ตรงกับตัวจริง ขณะไปติดต่อธุรกิจในต่างประเทศ หรือเจิน เจิน บุญสูงเนิน นักร้องชื่อดัง มักเจอปัญหาลักษณะคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดความไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้ประกอบการบางแห่งมีนโยบายไม่รับสมัครพนักงานจากกลุ่มเพศทางเลือก จะรับเฉพาะเพศหญิงและชายเท่านั้น ทำให้ขาดโอกาส หรือหากยินดีรับเข้าเป็นพนักงาน แต่โอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานมีน้อย เนื่องจากทัศนคติด้านลบที่ว่า บุคลิกภาพอาจไม่ได้รับการยอมรับ
สุดท้าย กฎหมายไทยไม่รับรองการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มเพศทางเลือก โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 5 ระบุว่า ผู้จะเป็นคู่สมรสชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นเพศหญิงหรือเพศชายโดยกำเนิด ฉะนั้นบุคคลกลุ่มเพศทางเลือกจึงไม่ได้รับการยอมรับ ฉะนั้นหากเป็นเพศชายแปลงเป็นเพศหญิง เลือกใช้ชีวิตคู่กับผู้ชาย ตามกฎหมายปัจจุบันยังถือเป็นเพศชายทั้งคู่ จึงไม่นับเป็นคู่สมรส
“พ.ร.บ.รับรองเพศ เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมในการรับรองเพศเกิดใหม่ โดยไม่ต้องไปแก้ไขกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องได้รับการผลักดันร่วมกันของคนทุกเพศ ไม่เฉพาะเพศทางเลือกเท่านั้น” นักวิชาการ มธ. ระบุ
หมายความว่า พ.ร.บ.รับรองเพศ จะรับรองเฉพาะคนที่มีสถานะดำรงชีวิตที่บ่งบอกถึงเพศใหม่ ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ตอบว่า ถูกต้อง!
โดยกฎหมายจะไม่รับรองคนที่ไม่เปิดเผยสถานะเพศใหม่ ขืนรับรองจะกระทบกับสังคม ทำให้มีการหลอกลวงกันขึ้น ยกตัวอย่าง ละครเรื่องหนึ่งผู้หญิงไปแต่งงานกับผู้ชาย แต่สุดท้ายผู้ชายคนนั้นกลับไม่ชอบผู้หญิง จึงเป็นการเสียโอกาส เรื่องเหล่านี้จึงไม่ยุติธรรม กรณีต้องการความคุ้มครอง ยกเว้น จะแสดงตนให้ชัดเจน
ด้านอาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม สะท้อนมุมมองว่า กะเทยโชคดีมีความสนิทสนมกับสังคมไทยมานาน เรียกว่าเป็นเนื้อเดียวกัน จะไปกินข้าว ขึ้นรถเมล์ คลุกคลีตีโมงอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ถูกยกบทบาทเป็นเพื่อนนางเอก เป็นตลก ซึ่งนั่นคือวงการบันเทิงที่ไม่มีกรอบระเบียบแบบแผน แต่เมื่อใดที่ต้องเข้าไปอยู่ในวงการที่มีกรอบระเบียบแบบแผนขึ้นมา เช่น บริษัท ห้างร้าน สถาบันศึกษา หน่วยงานราชการ กลุ่มคนเหล่านี้จะประสบปัญหาทันที อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าโชคดีกว่าหลายประเทศ
“อังกฤษ เป็นประเทศที่ผลักดันกฎหมายนำหน้าสังคม แต่ไทย พบว่า สังคมไปแล้ว แต่กฎหมายยังต้วมเตี้ยมอยู่”
ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม บอกด้วยว่า คนทั่วโลกยังไม่เข้าใจธรรมชาติของกลุ่มเพศทางเลือก มองเป็นพวกแปลกปลอม ผ่าเหล่า เป็นภัยสังคม สารพัดที่จะกล่าวโทษกันได้ แม้แต่คนไทยยังนึกว่า คนกลุ่มนี้เลือกที่จะมีเพศใหม่เอง ซึ่งไม่จริง โดยยืนยันว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้เลือกเพศ แต่เป็นเองโดยกำเนิด
จึงเห็นว่า หาก พ.ร.บ.รับรองเพศ ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบในทุกขั้นตอน และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมทางเพศจะหมดไป และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของคนในสังคมได้
นายชวิน ศรีสมวัฒน บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ในฐานะเพศทางเลือกคลื่นลูกใหม่ บอกเล่าถึงประสบการณ์ เมื่อครั้งต้องไปสัมภาษณ์เพื่อเข้าฝึกงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า บริษัทไม่มีนโยบายรับบุคคลที่แต่งกายตรงข้ามกับสถานภาพทางเพศ จึงต้องหาที่ฝึกงานใหม่ สิ่งนั้นนับเป็นผลกระทบที่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าค่อนข้างโชคดี เพราะตลอดการเรียนที่ม.ธรรมศาสตร์ ได้มีเสรีภาพในการแสดงออก แต่งกายชุดนักศึกษาหญิง และสวมชุดครุยรับพระราชทานปริญญาบัตร โดยไม่ต้องตัดผมสั้นเป็นเพศชาย ทำให้รับรู้ได้ถึงความเท่าเทียมในสังคม
จึงสนับสนุนเต็มที่ให้มี พ.ร.บ.รับรองเพศ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและยอมรับกลุ่มเพศทางเลือกมากขึ้น .
อ่านประกอบ:โฉมใหม่...ครอบครัวไทย ‘ยุคเกิดน้อย อายุยืน’
ตารางเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเพศ
(ที่มา: งานวิจัยโครงการยกร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ เสนอต่อกรมกิจการสตรีเเละสถาบันครอบครัว)