ซื้อเครื่องออกกำลังสูงเกินจริง44ล.-ตั้งบ.ประมูลงาน!ชัดๆข้อกล่าวหา5นายกฯอบจ.ม.44ล็อต 9
เปิดชัดๆ ข้อกล่าวหาคดีสอบ 5 นายกฯ อบจ.ดัง ก่อนโดน 'บิ๊กตู่' ใช้ ม.44 ล็อต 9 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เข้าสู่กระบวนการสอบสวนพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นทางการ 'บิ๊กปทุมธานี' เจอจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสูงเกินจริง 44 ล้าน อุบลฯ ร่วม 'พรชัย โควสุรัตน์' ตั้งบริษัทเข้าประกวดราคารับจ้างงานรัฐหลายสัญญา
ในบรรดารายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 70 ราย ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 อันเป็นผลทำให้ถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราว (อ่านประกอบ : เบื้องหลังม.44 ล็อต9!อบจ.ปทุมฯโดนคดีเครื่องออกกำลังกาย-2ผอ.จ้างพิมพ์คู่มือหีบเลือกตั้ง, ‘บิ๊กตู่’งัด ม.44 ลงดาบ 70 จนท.รัฐพันทุจริตล็อต 9-ผู้บริหาร-ขรก.อปท. 61 ราย, มาแล้ว! ชื่อ 70 จนท.รัฐพันทุจริตล็อต 9 ‘บิ๊กตู่’งัด ม.44 ลงดาบ) มีรายชื่อผู้บริหารระดับสูงขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 5 ราย ปรากฏชื่อร่วมอยู่ด้วย แยกเป็นนายกฯ อบจ. จำนวน 4 ราย และรองนายกฯ อบจ. ปัจจุบันมีตำแหน่งรักษาการนายกฯ อบจ. 1 ราย
แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาเป็นทางการว่า บุคคลเหล่านี้ ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีตรวจสอบเรื่องใดบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับข้อกล่าวหาในคดีตรวจสอบ ของ ผู้บริหารระดับสูงของอบจ.ทั้ง 5 ราย มานำเสนอแบบชัดๆ ดังนี้
นายกฯ อบจ. คนที่ 1 คือ นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ปรากฏข้อกล่าวหาในคดีตั้งงบประมาณ จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ในช่วงปี 2555 -2556 จำนวนหลายสัญญา และถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการตั้งราคาจัดซื้อสูงเกินกว่าความเป็นจริง จำนวนเงินถึงกว่า 40 ล้านบาท เบื้องต้นมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไปแล้ว
ส่วนนายกฯอบจ. คนที่ 2 คือ นายอัครเดช ทองใจสด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ปรากฏข้อกล่าวหาในคดีดำเนินการจัดจ้างโครงการในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 23 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณ 268,661,000 บาท โดยการประกวดราคาจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีการปกปิดข่าวการประมูลจ้าง โดยไม่ส่งสำเนาประกาศประกวดราคาจ้างให้สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 10 และไม่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้ทำการเสนอราคารายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิ์ทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ
นายกฯ อบจ.คนที่ 3 คือ นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ปรากฏข้อกล่าวหาในคดีเรื่อง การกำหนดราคา กำหนดเงื่อนไขอันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนรายหนึ่ง มีอักษรย่อ 'อ' ให้เป็นคู่สัญญา โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัท ‘อ.’ ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษากับ อบจ.เลย ในช่วงปี 2551-2552 จำนวน 4 สัญญา รวมวงเงิน 26,425,000 บาท
นายกฯ อบจ.คนที่ 4 คือ นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ปรากฎข้อกล่าวหาในคดีเรื่องการดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยพัสดุฯ เนื่องจากมีการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะของรถซ่อมบำรุงถนนฯ เป็นการกัดกันการเสนอราคา
ส่วนผู้บริหารระดับสูงของ อบจ. คนสุดท้าย ที่ถูกคำสั่งม.44 ครั้งนี้ ด้วย คือ นายสุทัศน์ เรืองศรี รองนายก อบจ.อุบลราชธานี รักษาการนายกอบจ.อุบลราชธานี ปรากฏข้อกล่าวหาในคดีเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างงานในอบจ.อุบลราชธานี
โดยถูกระบุในสำนวนการตรวจสอบว่า ร่วมกับนายพรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายก อบจ.อุบลราชธานี (นายพรชัย ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2558 เมื่อ 25 มิ.ย. 2558 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้) ในการจดทะเบียนตั้งบริษัทเอกชนขึ้นมาดำเนินธุรกิจส่วนตัวและเข้ามารับงานในอบจ.อุบลราชธานี จำนวนหลายสัญญา
ขณะที่ในขั้นตอนการเสนอราคาจะมีผู้ยื่นเสนอราคาเป็นคู่เทียบราคาเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งล่าสุด สตง. ส่งรายงานผลการตรวจสอบให้ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนต่อแล้วเช่นกัน (อ่านประกอบ : ไขปม ‘สุทัศน์’ รก.นายก อบจ.อุบลฯ โดนดาบ ม.44 จัดซื้อจัดจ้างหลายร้อยล.?)
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงของ อบจ.ทั้ง 5 ราย ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ มีสิทธิในการชี้แจงข้อเท็จจริงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการสอบสวน ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่ง ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะมีการส่งข้อกล่าวหาในคดีไปให้หน่วยงานต้นสังกัดของบุคคลเหล่านี้ เพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจาก ศอตช.
แต่หากผลการสอบสวนไม่พบว่ามีการกระทําความผิดหรือไม่ถึงขั้นต้องดําเนินการทางวินัย ศอตช. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาสรุปผลการตรวจสอบและพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้วแจ้งให้ศอตช. ทราบ ซึ่งประธาน ศอตช. จะแต่งตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นข้าราชการ ไม่มีข้อขัดแย้งหรือส่วนได้เสียกับบุคคลหรือเรื่องที่มีการกล่าวหา และไม่เคยเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้มาก่อน จำนวน 3-5 คน เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบผลการตรวจสอบเดิมของผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกตรวจสอบกับรายงานหรือพยานหลักฐานที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง และให้มีอํานาจเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคําได้ โดยคณะบุคคลดังกล่าวอาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกตรวจสอบแต่ละรายหรือหลายรายพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งด้วย
ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, www.loeipao.go.th, pr.prd.go.th, วิกิพีเดีย