คลังแตะเบรกหักเงินกยศ.
'คลัง' ยังไม่หักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ชี้รอตีความหักลูกหนี้เก่าได้ด้วยหรือไม่ พร้อมรอนายจ้าง-สรรพากรทำระบบคาดทันปีนี้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันนี้เป็นวันแรก แต่ในส่วนของภาคปฏิบัติที่กำหนดให้นายจ้างหักเงินจากรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ในกองทุน กยศ.เช่นเดียวกับการหักภาษีของกรมสรรพากรในแต่ละเดือน จะไม่สามารถเริ่มโดยทันที
ทั้งนี้ เนื่องจากต้องรอให้การเตรียมพร้อมของนายจ้าง และกรมสรรพากรในเรื่องการวางระบบต่างๆ ก่อน ตลอดจนการพิจารณารายละเอียดของกฎหมายให้แน่ชัดก่อนว่าครอบคลุมของการหักเงินเดือนของลูกหนี้เก่าของ กยศ.ได้ด้วยหรือไม่ เพราะตามเจตนารมณ์ของการแก้กฎหมายเข้าใจว่า ต้องการให้การหักหนี้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้ กยศ.ทั้งเก่าและใหม่หมด
อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบจึงต้องดูรายละเอียดกฎหมาย และตีความให้แน่ชัดว่าทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงยังจะไม่เริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.ใน วันที่ 26 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ เชื่อว่าในการพิจารณากฎหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.เพื่อชำระหนี้เกิดได้ทันภายในปีนี้ โดยทำพร้อมกันหมดทั้งในส่วนลูกหนี้ที่ทำงานในส่วนภาครัฐและเอกชน
นายสมชัย กล่าวว่า ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กยศ. เพื่อให้มีการหักเงินเดือนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบริหารการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการผิดนัดชำระหนี้น้อยลง รวมถึงนำเงินในกองทุนไปให้นักเรียน นักศึกษารุ่นใหม่ในสาขาที่ขาดแคลน หรือมีความจำเป็นในการเรียนแต่ขาดทุนทรัพย์ได้เข้ามากู้ยืมได้ด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของลูกหนี้ กยศ.ใหม่ก็จะมีการเพิ่มเงื่อนไขให้มีการ หักเงินเดือนเข้าไปอยู่ในสัญญาทันที หากตกลงกู้ก็หมายความต้องยอมรับเงื่อนไขในการให้หักเงินเดือนอย่างไรก็ดีในอนาคต กยศ.จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ในการเข้ามาวางแผนผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการทางวิชาชีพ และทิศทางการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งมีทั้งสายอาชีวะ สายสามัญ
พร้อมกันนี้ กยศ.ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติมวงเงินต่างๆ ทั้งค่าเทอมให้เหมาะสมขึ้นตามสาขาที่เล่าเรียน รวมถึงการพิจารณาค่าครองชีพให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
สำหรับผลดำเนินงานในปีการศึกษา 2559 มีนักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืมรายเก่าและรายใหม่รวมกว่า 4.58 แสนราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 1.86 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 7.03 หมื่นราย ระดับ ปวช. 5.21 หมื่นราย ระดับ ปวท./ปวส. 5.58 หมื่นราย เป็นต้น