“เดชรัต” บอก กก.4 ฝ่ายและ ปชช.แคลงใจ เร่งรัฐเแจงลดกิจการรุนแรงเอื้อหลายโปรเจ็ค
อดีต กก. 4 ฝ่ายมาบตาพุด บอกอานันท์และประชาชนแคลงใจรัฐไม่ชี้แจงปรับลด 18 ประเภทโครงการรุนแรงมาบตาพุด เปิดทางโรงไฟฟ้า เหมืองแร่ใต้ดิน ท่าเทียบเรือ ถมทะเล ผันน้ำและชลประทาน เตรียมผุดเหมืองแร่โปแตสในอีสาน ท่าเทียบเรือภูเก็ต พังงา สตูล และโครงการผันน้ำหลัก
วานนี้(10 ก.ย.) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อดีตคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน กล่าวในงานเสวนา “จากมาบตาพุดถึงคอนโดในกรุงเทพ : การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการรายงานผลกระทบของสิ่งแวดล้อม (EIA)" จัดโดย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศ 11 กิจการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่าก่อนที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ จะมีมติประกาศ 18 ประเภทกิจการรุนแรงฯ และส่งมอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีการถกเถียงอยู่ประมาณ 2 เดือน ซึ่งถือเป็นข้อยุติเป็นที่ยอมรับกันได้ของทุกฝ่าย
ดร.เดชรัต กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีคำอธิบายชัดเจนในการปรับลด 18 ประเภทกิจการรุนแรงฯ ให้เหลือ 11 ประเภท ซึ่งเรื่องนี้นายอานันท์ พยายามบอกกับนายกรัฐมนตรีว่าเมื่อเป็นข้อยุติหากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขประการใด ก็ควรต้องมีคำชี้แจงให้ชัดเจนที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ตนมองว่าหากมีคำชี้แจงชัดเจนกว่านี้อาจไม่เป็นปัญหา เช่น โครงการเกี่ยวกับสูบน้ำเกลือใต้ดิน ที่รัฐบาลชี้แจงว่าตัดออกเนื่องจากไม่อนุญาตอีกแล้วนั้น แปลว่าหากใครสูบน้ำเกลือดินถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นไม่มีคำชี้แจง เช่น เรื่องโรงไฟฟ้า เหมืองแร่ใต้ดิน
“กรรมการ 4 ฝ่ายฯ พูดไว้ชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าหากเป็นถ่านหินขนาดเกิน 100 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาด ชีวมวล 150 เมกกะวัตต์ แก๊สธรรมชาติ 1,000 เมกกะวัตต์ ต้องทำตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่ปรากฏว่าแก้เป็นโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ 3,000 เมกกะวัตต์ คำถามคือมีความหมายอะไร ขณะนี้โรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติในเมืองไทยที่ใหญ่ที่สุดกำลังยื่นขอดำเนินการ 1,600 เมกกะวัตต์ แสดงว่าโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติไม่ต้องทำ”
ดร.เดชรัต กล่าวว่า กรณีเหมืองแร่ใต้ดินกรรมการ 4 ฝ่ายฯ บอกไว้ว่า เหมืองแร่ใต้ดินทุกประเภท แต่พอถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกลับบอกยกเว้นเหมืองแร่ที่มีลักษณะสร้างเสาค้ำยัน และมีการเติมวัสดุลงไป ความหมายคือเหมืองแร่โปรแตสทุกประเภทในประเทศไทยไม่ได้บังคับใช้ หรือกรณีท่าเทียบเรือ มีการยกเว้นท่าเรือ 3 ประเภท ท่าเทียบโดยสาร ท่าเทียบเรืออุปโภคบริโภค ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้นที่จะเกิดขึ้นที่ภูเก็ต เกาะยาว ที่จ.พังงา เรียกว่ามารีน่า ได้รับการยกเว้นทั้งหมด
ส่วนการถมทะเลในพื้นที่มากกว่า 300 ไร่ ต้องทำตามมาตรา 67 วรรค 2 แต่หากว่าเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ ท่องเที่ยว แหล่งประกอบอาชีพประชาชน ไม่ว่าขนาดใดต้องทำตามมาตรานี้ เพราะอาจกระทบกระเทือนกับประชาชน แต่รัฐบาลเอาส่วนนี้ออก แปลว่าโครงการท่าเรือปากพนังที่ จ.สตูล สามารถเดินหน้าได้ ตัวเลขถมทะเล 295 ไร่
อดีตคณะกรรมการ 4ฝ่ายฯ กล่าวอีกว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลักเป็นเรื่องใหญ่ แต่รัฐบาลตัดออกจากโครงการรุนแรง โดยให้เหตุเพราะเดิมทีไม่เคยทำอีไอเอมาก่อน ขอให้ทำอีไอเอก่อน แล้วค่อยให้ทำตามมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งไม่เกี่ยวกัน การทำตามรัฐธรรมนูญกับการทำอีไอเอเป็นเรื่องการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต้องดูว่าการผันน้ำกระทบต่อชุมชนรุนแรงจริงหรือไม่
“เรื่องชลประทาน รัฐให้เหตุผลที่อาจเป็นความเข้าใจผิดว่า ไม่มีผลกระทบต่อชุมชนรุนแรง เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศ จริงๆแล้ว 18 โครงการก็มีผลประโยชน์ต่อประเทศทั้งหมด แต่ชลประทานมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ตอบว่ามี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเปลี่ยนสภาพให้ดินมีน้ำเป็นเวลานานๆไปละลายเกลือใต้ดินขึ้นมา ทำให้ดินเค็ม น้ำเค็มด้วย มีการปิดข่าวปัญหาที่ลำน้ำเสียว จ.มหาสารคาม”
ดร.เดชรัต กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ด้านเดียว ไม่ใช่เป็นการปิดประตูการลงทุน หรือส่งผลให้ประเทศสั่นคลอนทางด้านเศรษฐกิจ จริงๆแล้วคือการเปิดประตูให้ภาคอุตสาหกรรมทำความเข้าใจกับชุมชน ผ่านขั้นตอนการทำอีไอเอ เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชน ให้สามารถอยู่กับชุมชนได้บนพื้นฐานการไว้วางใจกัน ความเชื่อใจของประชาชนสำคัญกว่าคำสั่งศาล .
ที่มาเรื่อง : http://www.thaireform.in.th/news-environment-energy/1902--18-11-.html
ที่มาภาพ : http://www.google.co.th/images?q=%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%94&oe=utf-8&rls=org.mozilla:th:official&client=firefox-a&um=1&ie=UTF-8&source=univ&ei=XXaLTLvGJ4XSuwOG1NAX&sa=X&oi=image_result_group&ct=title&resnum=4&ved=0CDEQsAQwAw&biw=1024&bih=590