นายกสมาคมบ้านปันรัก ชี้ปัญหาสังคมสูงวัย แก้ได้ต้องมี "ชุมชนสวัสดิการ"
เวที We are CSO ใครๆ ก็เป็นได้ Forum 01 “สังคมสูงวัย : ประชาสังคมไทย (CSO) หนุนการออมไว้ใช้ยามชราภาพ ทั้งออมรูปตัวเงิน และออมรูปธนาคารต้นไม้
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม จัดเวที We are CSO ใครๆ ก็เป็นได้ Forum 01 “สังคมสูงวัย : ประชาสังคมไทย (CSO) ต้องช่วยกัน” ณ ลานกิจกรรมมูลนิธิบ้านอารีย์ ซอยอาารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน
นางสาวสุวิมล มีแสง หัวหน้างานพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวถึงบทบาทภาคประชาสังคม ในสถานการณ์สังคมสูงวัย “ในวันที่ ฒ. เต็มเมือง ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร” โดยพบว่า คนเดินมา 100 คน 20 คนอยู่ในวัยสูงอายุ และต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทใช้ในยามชราภาพ ดังนั้นการสร้างสังคมสูงวัยวันนี้เราต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคต ทั้งการออมในรูปของตัวเงิน และการออมในรูปแบบของการปลูกต้นไม้ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เป็นต้น
นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักเขียน นักเล่านิทาน กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า โดยเชื่อว่าหลายๆคนยังไม่ได้เตรียมตัวสู่สังคมสูงวัย และจากการทำงานกับเด็กมากกว่า 30 ปี พบว่า เด็กไทยวันนี้ขาดความใกล้ชิด ขาดความสัมพันธ์ที่ดี พ่อแม่นำอบายมุขเข้าบ้าน พ่อแม่ทำชั่วทำบาป รวมถึงการเปิดละคร พ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อลูก พ่อแม่ไม่กล้าสั่งสอนลูก ดังนั้น
สังคมสูงวัย ขณะที่จำนวนประชากรเด็กเกิดน้อย ต้องไม่ด้อยคุณภาพ
"มี 9 คำ แนะนำสำหรับการให้ผู้ใหญ่สั่งสอนเด็ก ได้แก่ ดู ฟัง ท่อง ร้อง เล่น ลิ้ม เล่า อ่าน ทำ ให้เด็กดูเป็นแบบอย่าง "
นางสาวอรุณีศรีโต ผู้ประสานงานเครือข่ายศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบ (ภาคประชาชน) กล่าวถึงภาระหนักของวัยแรงงาน ปัจจุบันมีชั่วโมงการทำงานยาว มีการทำงานนอกเวลา (โอที) แรงงานจึงแทบไม่มีช่วงเวลาการพัฒนาคุณภาพชีวิตเลย แรงงานถูกภาคอุตสาหกรรมดูดแรงงานมากเกินไป
น.ส.อรุณี กล่าวถึงกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่คนอายุ 60 ปีไม่รับเป็นสมาชิกแล้วซึ่งถือเป็นการปิดกั้น ฉะนั้นเงื่อนไขแบบนี้ต้องมีการปรับแก้ ต้องไม่จำกัดอายุ รวมถึงมุมมองภาครัฐต้องไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ต้องคิดเรื่องการออมตั้งแต่วันนี้ วัยทำงานต้องพูดเรื่องออม สร้างวินัยเสริมเข้าไปในหลักสูตรการเรียน และให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับทุกโรงงาน เชื่อว่า ถึงจะได้ผลสำหรับบริบทสังคมไทย
ด้านผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา
นายกสมาคมบ้านปันรัก อดีตผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบ้านอารีย์ กล่าวถึงปัญหาสังคมสูงวัยชุมชนต้องเข้ามาช่วย มี "ชุมชนสวัสดิการ" หรือสวัสดิการชุมชน ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ เพื่อแก้ปัญหาชุมชนของเขาเอง
"เทคโนโลยีพัฒนาเท่าไหร่ยิ่งผลักดันผู้สูงอายุเป็นประชากรชายขอบ วันนี้ผู้สูงอายุ 4.0 จะมีความสุขในบริบททางสังคม 4.0 ได้ต้องเปิดโลกการเรียนรู้ เป็นสังคมฐานความรู้ โดยเฉพาะการจัดอบรม พบว่า วิชากฎหมายพินัยกรรม กฎหมายมรดก และกฎหมายที่ดิน ผู้สูงอายุนิยมเรียนมากสุด"
สุดท้ายนางกรรณิการ์ บันเทิงจิตรผู้จัดการสำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สปสว.) กล่าวถึงการปฏิรูปรองรับสังคมสูงวัย พบว่า สังคมไทยที่ผ่านมาแทบจะไม่ตื่นตัวเรื่องนี้เลย ตั้งแต่เกิด การท้องไม่พร้อม ทำให้เด็กไทยไม่มีคุณภาพ ขณะที่วัยแรงงานลดลงเรื่อยๆ บวกกับจำนวนประชากรไม่เพิ่ม ส่งผลเรื่องการจัดเก็บภาษี พร้อมกันนี้สนับสนุนแนวทางการออมด้วยธนาคารต้นไม้ ตามแนวทางศาสตร์ของพระราชา