เช็คสถานะ ฝูงบินไทย 95ลำ ก่อน สตง.จี้ทบทวนแผนปลดระวาง-จัดหาใหม่ ใครได้-เสียประโยชน์?
"...คณะกรรมการบริษัทการบินไทย ควรพิจารณาให้มีการวางแผนการขายเครื่องบินที่คาดว่าจะปลดระวางเป็นการล่วงหน้าก่อนครบกำหนดเวลา ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการตามแผนการขาย เพื่อลดภาระของบริษัทจากการด้อยค่าของเครื่องบินและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินภายหลังจากการปลดระวาง รวมถึงพิจารณาวางแผนการขาย เครื่องบินให้เป็นประโยชน์กับบริษัทสูงสุด..."
ฝูงบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีอยู่จำนวนเท่าไร? และแผนการปลดระวางเครื่องบินระหว่างปี 2560-2564 เป็นอย่างไร?
คือ คำถามที่น่าสนใจ ภายหลังจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึง ประธานกรรมการบริษัท การบินไทยฯ เป็นทางการ เพื่อขอให้พิจารณาวางแผนการปลดระวางเครื่องบิน ระหว่าง ปี 2560 -2564 และจัดหาเครื่องบินใหม่ทดแทน ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการตามแผนการขาย เพื่อลดภาระของบริษัทจากการด้อยค่าของเครื่องบินและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินภายหลังจากการปลดระวาง รวมถึงพิจารณาวางแผนการขาย เครื่องบินให้เป็นประโยชน์กับบริษัทสูงสุด (อ่านประกอบ : พิจารณาแนวทางเช่าบ้าง!สตง.กระตุกบินไทยจัดทำแผนปลดระวางเครื่องบินเก่า35ลำ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559 ฝูงบินของบริษัทการบินไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 95 ลำ ประกอบด้วย
-เครื่องบินพิสัยไกล สำหรับเวลาการเดินทางมากกว่า 10 ชั่วโมง จำนวน 36 ลำ
-เครื่องบินพิสัยกลางถึงไกล สำหรับเวลาการเดินทาง 8-10 ชั่วโมง จำนวน 8 ลำ
-เครื่องบินพิสัยกลาง สำหรับเวลาการเดินทาง2-7 ชั่วโมง จำนวน 29 ลำ
-เครื่องบินพิสัยใกล้ลำตัวแคบ สำหรับเวลาการเดินทาง 2-3 ชั่วโมง จำนวน 22 ลำ
สำหรับแผนการปลดระวางเครื่องบินระหว่างปี 2560-2564 นั้น ถูกระบุว่ามีจำนวน 35 ลำ จำแนกเป็นเครื่องบินพิสัยไกล จำนวน 10 ลำ พิสัยกลาง จำนวน 14 ลำ และพิสัยใกล้ลำตัวแคบ จำนวน 11 ลำ
โดยในจำนวนนี้ เป็นการปลดระวางเครื่องเก่าที่มีอายุเกิน 20 ปี เนื่องจากต้นทุนการซ่อมบำรุง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องบินรุ่นใหม่ จำนวน 24 ลำ และ การคืนเครื่องบินเช่าที่หมดสัญญาเช่า จำนวน 11 ลำ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีเครื่องบินที่รอรับมอบตามโครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 2554 -2560 จำนวน 12 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยกลาง จำนวน 10 ลำ และ พิสัยกลาง-ไกล จำนวน 2 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินพิสัยไกล จำนวน 5 ลำ และพิสัยกลาง จำนวน 2 ลำ
ส่วนแผนการจัดหาเครื่องบินเพื่อทดแทน ระหว่างปี 2560-2564 จำนวน 19 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่มาอายุเกิน 20 ปี ที่ปลดระวาง ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยกลาง-ไกล ขนาด 300-350 ที่นั่ง จำนวน 9 ลำ พิสัยกลาง ขนาด 300-350 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ และพิสัยใกล้ลำตัวแคบ จำนวน 2 ลำ
ทั้งนี้ บริษัทมีเครื่องบินที่ได้รับอนุมัติให้ปลดระวาง แต่ยังไม่สามารถขายเครื่องบินดังกล่าว ได้จำนวน 20 ลำ โดยข้อมูลสรุปการขายเครื่องบินปลดประจำการระหว่างปี 2558 -2559 และแผนการขายเครื่องบิน ปี 2559-2560 ระบุเกี่ยวกับเครื่องบินปลดระวางที่อยู่ระหว่างดำเนินการขายจำแนกตามปีที่ปลดประจำการประกอบด้วย เครื่องบินที่ปลดประจำการในปี 2555 จำนวน 12 ลำ ปี 2556 จำนวน 1 ลำ ปี 2558 จำนวน 6 ลำ และปี 2560 จำนวน 1 ลำ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากสตง. ให้สัมภาษณ์ยันยืนสำนักข่าวอิศรา ว่า เหตุผลสำคัญที่ สตง. ต้องทำหนังสือแจ้งถึงประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย เพื่อขอให้พิจารณาวางแผนการปลดระวางเครื่องบิน และจัดหาเครื่องบินใหม่ทดแทน ดังกล่าว
เพราะเห็นว่าคณะกรรมการบริหารการบินไทย มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หรือลดจุด่อนที่ทำให้เสียประโยชน์หรือเสียโอกาสหรือไม่รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
โดยข้อมูลใน Summer 2017 Traffic Programme Information ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2560 -28 ต.ค.2560 ระบุประเภทเครื่องบินที่ใช้ในแต่ละเส้นทาง โดยจำแนกเส้นทางบินออกเป็น international Services และ Dmestic Services จำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 234 เที่ยวบิน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเวลาการเดินทางที่ระบุในข้อมูลเที่ยวบินในเว็บไซต์ของการบินไทย พบว่า บริษัทเลือกใช้เครื่องบินพิสัยไกล สำหรับเวลาการเดินทางมากกว่า 10 ชม.และเครื่องบินพิสัยกลางถึงไกล สำหรับเวลาการเดินทาง 8-10 ชม. ในเส้นทางบินที่ใช้เวลาการเดินทางไม่เกิน 7 ชั่วโมง จำนวน 72 เที่ยวบิน
ขณะที่ สตง.พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการบริษัทการบินไทย ควรพิจารณาให้มีการวางแผนการขายเครื่องบินที่คาดว่าจะปลดระวางเป็นการล่วงหน้าก่อนครบกำหนดเวลา ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการตามแผนการขาย เพื่อลดภาระของบริษัทจากการด้อยค่าของเครื่องบินและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินภายหลังจากการปลดระวาง รวมถึงพิจารณาวางแผนการขาย เครื่องบินให้เป็นประโยชน์กับบริษัทสูงสุด
และควรพิจารณาความเหมาะสมประเภทเครื่องบินที่จัดหาเข้ามาทดแทนในฝูงบิน โดยให้ความสำคัญในการเลือกประเภทเครื่องบิน และประเภทเครื่องยนต์ทดแทน ที่มีสมรรถนะและอัตราการใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสม รวมทั้งมีพิสัยการบินที่สอดคล้องกับเวลาการเดินทางในแต่ละเส้นทางบินตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท ทั้งนี้ ให้นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนประกอบในการพิจารณา รวมถึงพิจารณาทางเลือกอื่นการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจากการจัดซื้อเช่น การเช่า การเช่าซื้อ (ระยะสั้น/ยาว) เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจแต่ละช่วง โดยให้พิจารณาปัจจัยต้นทุนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ให้ครอบคลุมถึงฐานะทางการเงินของบริษัท ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และการรับซื้อเครื่องบินคืนเมื่อครบกำหนดการปลดระวาง โดยให้วิเคราะห์ศึกษาเปรียบเทียบในทุกมิติ และวิธีการที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ยังควรพิจารณากำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงและแผนสำรองฉุกเฉิน ทั้งในด้านต้นทุนรายได้ การบริหารจัดการรายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศในหลากหลายสกุล แผนการตลาด แผนการบิน เส้นทางบิน และตารางการบินให้รัดกุม และสามารถรองรับกับสถานการที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งกำหนดกลไกในการติดตามปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในทุกด้านที่บริษัทได้ทำการศึกษาไว้ในขั้นตอนการวางแผน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้อย่างทันเวลา
"การบินไทยควรนำข้อเสนอของสตง.ประกอบการพิจารณาการวางแผนขายเครื่องบิน และแผนการจัดการเครื่องบินทดแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการป้องกันและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับประเทศชาติ เพราะการบินไทย ถือเป็นสมบัติของประเทศ" แหล่งข่าวจากสตง.ระบุ
ส่วนข้อเสนอของสตง.ครั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทการบินไทย จะตอบรับอย่างไร คงติดติดตามดูกันต่อไป
แต่ที่แน่ๆ คือ สตง.ย้ำเรื่องนี้ชัดเจนว่า หากไม่รับฟัง และปฏิบัติข้อเสนอแนะ หากมีปัญหาในอนาคตเกิดขึ้น จะต้องมีผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
เพราะถือว่าได้แจ้งเตือนเป็นทางการไปแล้ว