ภาษาไทย มลายู อังกฤษ และจีน กับประชาคมอาเซียน (1)
"ประชาคมอาเซียน" อาจเป็นความหวังใหม่เพียงหนึ่งเดียวของนักเรียนหนุ่มสาวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ เป็นความหวังอันเนื่องมาจากพวกเขาเริ่มเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและอยากหนีให้พ้นสภาพปัจจุบันที่เกิดเหตุร้ายขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ทั้งๆ ที่เหตุประทุรอบใหม่นี้เกิดขึ้นมานานแล้ว คือตั้งแต่ พ.ศ.2547 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
มีคำถามว่า ถ้าประชาคมอาเซียนมาถึงในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า ภาษาอะไรที่จะมีบทบาทสูงสุดและสูงต่ำลดหลั่นลงมา?
เฉพาะในพื้นที่ 3 และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมในโครงการสามเหลี่ยมแห่งความเจริญอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle = IMT-GT) คนในพื้นที่ก็คงเห็นแล้วว่า ภาษามลายูจะมีบทบาทสูงที่สุดรองลงมาจากภาษาอังกฤษ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในโลกมลายูเดิมใช้ภาษามลายูทั้งในฐานะภาษาแม่ (mother tongue) และภาษากลาง (lingua franca)
คำว่า "โลกมลายู" (Malay World) หมายถึงประเทศหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย สำหรับมาเลเซียนั้นมี 2 รัฐ คือ รัฐซาราวักและรัฐซาบาห์ซึ่งรวมเรียกว่า "มาเลเซียตะวันออก" ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว กับอีก 10 รัฐตั้งอยู่บนปลายแหลมมลายู เมื่อรวมส่วนหนึ่งของภาคใต้ของไทย โลกมลายูซึ่งเรียกกันในสมัยโบราณว่า "นูซานตารา" (Nusantara) มีประชากรรวมกันทั้งสิ้นเกือบ 300 ล้านคน
เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแน่นอนว่าภาษามลายูเป็นหรือกำลังจะเป็นภาษาที่จะใช้กันมากที่สุดภาษาหนึ่งใน "ประชาคมอาเซียน" โดยนอกจากภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาไทยแล้ว ภาษามลายูจะเป็นภาษาที่มีความสลักสำคัญอย่างมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จากตัวเลขประชากรจำนวนมหาศาลดังกล่าว
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ
ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดในฐานะภาษาทางการ ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสื่อกลางที่ใช้กันทั่วโลกอยู่แล้ว ในอาเซียนภาษาอังกฤษถูกบรรจุในหลักสูตรของทุกโรงเรียนในฐานะภาษาที่ 2 จึงมีผู้ใช้ภาษานี้จำนวนมากในอาเซียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ดารุสสลาม ซึ่งเป็นอดีตเมืองขึ้นของอังกฤษ รองลงมาคือภาษาจีน จากบทบาทและอิทธิพลของคนจีนในมาเลเซีย สิงคโปร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และไต้หวัน รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
เมื่อมองอดีตความเป็นมา ภาษาอังกฤษเริ่มค่อยๆ กลายเป็น "ภาษากลาง" ในการติดต่อสื่อสารของโลกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18-20 ซึ่งเป็นช่วงของการก่อรูปของจักรวรรดิอังกฤษ (English Empire)[1] ในอเมริกา อาฟริกา และอินเดีย (สมัยนั้นปากีสถานและบังคลาเทศยังไม่ได้แยกออกจากอินเดีย); ในเอเชีย-แปซิฟิค ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นอาณานิคมของอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18; ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งของโลกมลายู (ปัจจุบันกลายเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ดารุสสลาม) และสหภาพพม่า ล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในเวลาไล่เลี่ยกันในราวต้นศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดประมาณ ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) จักรวรรดิอังกฤษก็ยังมีอาณานิคมในครอบครองจำนวนมากทั่วโลกจนกระทั่งเกิดคำกล่าวที่ว่า "ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตก" (the sun never set on the British Empire, circa 1937)[2]
ในประเทศอาณานิคมเหล่านี้ อังกฤษได้จัดตั้งโรงเรียนอังกฤษ (English School) ซึ่งเปรียบได้กับโรงเรียนมิชชั่นซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยคณะมิชชั่นนะรี การเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ตัวอย่างเช่นใน "แผ่นดินแหลมมลายู" (Semenanjung Tanah Melayu ชื่อเรียกมาเลเซียตอนนั้น) แม้ว่าในช่วงแรกๆ มีแต่บุตรหลานชนชั้นนำเท่านั้นที่เข้าเรียนในโรงเรียนอังกฤษ (ซึ่งในภาษามาเลย์เรียกว่า Sekolah Inggeris) แต่ต่อมาลูกหลานชาวบ้านธรรมดาก็เข้าเรียนในโรงเรียนอังกฤษจนกลายเป็นความนิยม แม้ว่าส่วนใหญ่ยังคงเรียนในโรงเรียนมลายู
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศได้รับเอกราช อดีตอาณานิคมของอังกฤษเหล่านี้รวมทั้งบางประเทศที่ยังไม่ได้รับเอกราชรวม 53+1 ประเทศได้รวมกันเป็นประเทศเครือจักรภพ (British Common Wealth หรือ The Commonwealth of Nations)[2] ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย-แปซิฟิค หมู่เกาะในทะเลคาริบเบียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อาฟริกา มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 2.1 พันล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ภาษาอังกฤษแพร่หลายอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนของประเทศต่างๆ เหล่านี้ และกลายเป็น "ภาษากลาง" ของโลกไปโดยปริยาย
สาเหตุที่ภาษาจีนมีความสำคัญ
จีนนอกจากเป็นประเทศใหญ่แล้ว ยังมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก คือประมาณ 1,300 ล้านคน นี่เฉพาะที่เป็นพลเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีนประเทศเดียว แต่คนจีนและเชื้อสายจีนยังมีในประเทศอื่นๆ อีก เช่น ไต้หวัน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยจีน) และสิงคโปร์ ประมาณกันว่าคนจีนโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่าพวกหัวเฉียว อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมกันเกือบ 40 ล้านคน[3]
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคนจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในอินโดนีเซียประมาณ 8.8 ล้านคน ไทย 7.1 ล้านคน มาเลเซีย 6.96 ล้านคน สิงคโปร์ 2.8 ล้านคน เวียดนาม 1.34 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 1.17 ล้านคน พม่า 1.12 ล้านคน กัมพูชา 8.58 แสนคน ลาว 1.9 แสนคน บรูไน ดารุสสลาม (ไม่มีตัวเลข) รวมกันแล้วประมาณ 30.5 ล้านคน
นอกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีคนจีนอาศัยอยู่มากกว่าหนึ่งล้านคนขึ้นไปมีเพียง 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา 3.8 ล้านคน คานาดา 1.34 ล้านคน และเปรู 1.3 ล้านคน นอกนั้นมีตั้งแต่ 1-9 แสนคน เช่น ฝรั่งเศส 7 แสนคน เกาหลีใต้ 6.96 แสนคน ออสเตรเลีย 6.69 แสนคน ญี่ปุ่น 6.55 แสนคน รัสเซีย 5 แสนคน อังกฤษ 4 แสนคน อาฟริกาใต้ 3.5 แสนคน อาร์เจนตินา 3.2 แสนคน อิตาลี 2.1 แสนคน
นอกจากนี้มีอีก 9 ประเทศที่มีคนจีนอาศัยอยู่น้อยลงไปตามลำดับตั้งแต่ 1.9- 1.0 แสนคน ได้แก่ อินเดีย (1.96 แสนคน) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1.8 แสนคน บราซิล 1.56 แสนคน นิวซีแลนด์ 1.47 แสนคน ปานามา 1.35 แสนคน สเปน 1.34 แสนคน คิวบา 1.14 แสนคน เนเธอร์แลนด์ 1.1 แสนคน และเยอรมนี 1.09 แสนคน
ที่สำคัญคนจีนเหล่านี้ถือว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสูงยิ่ง คนจีนโพ้นทะเลค่อยๆ สร้างฐานะจนกระทั่งเป็นเจ้าของกิจการ มีบทบาทและอำนาจทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ คนจีนโพ้นทะเลยังมีบทบาททางการศึกษาและการเมืองสูงขึ้นโดยลำดับจนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มชนชั้นนำ (elite) ในสังคมของประเทศนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ปี ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย และอินโดนีเซีย ส่วนในมาเลเซียและสิงคโปร์ คนจีนก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันในประเทศต่างๆ เหล่านั้นคนจีนเป็น "เจ้าสัว" ระดับเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐีเกือบทุกตำแหน่งใน 100 อันดับ ในสิงคโปร์นายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นคนจีน เช่น นายลี กวนยิว และนายลี เซียนลุง ในประเทศไทยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งมีเชื้อสายจีน เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีเชื้อสายจีนแคะ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เป็นต้น
ในสมัยโบราณนั้นคนจีนเดินทางออกนอกประเทศทั้งทางบกและทางน้ำด้วยจุดประสงค์ทางการค้าและศาสนา ในปี ค.ศ.1405 คนจีนทั้งที่เป็นทหาร พ่อค้า ผู้เชี่ยวชาญ และลูกเรือ เดินทางด้วยขบวนเรือภายใต้การบังคับการของ นายพลเจิ้งเหอ ขุนนางมุสลิมในราชวงศ์หมิง เพื่อสำรวจเส้นทางสายไหมทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ แต่จุดประสงค์จริงๆ ก็เพื่อกระชับอำนาจของจีนเหนือรัฐบรรณาการทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้[4]
การเดินทางหลายครั้งในช่วง ค.ศ.1405 – ค.ศ.1433 (พ.ศ.1948 – พ.ศ. 1976) นี้เองที่เกิดนิคมที่ตั้งของชาวจีนอพยพครั้งแรกบนเกาะบอร์เนียว (กาลีมันตัน) เกาะชวา และมะละกา คนจีนบางตระกูลบนเกาะชวาสามารถนับบรรพบุรุษของตนในฐานะ "พวกหัวเฉียว" ได้ถึง 10 ชั่วรุ่นคนทีเดียว
-----------------------(โปรดอ่านต่อตอน 2)---------------------------
บรรยายภาพ :
1 แผนที่อาเซียนในสมัยโบราณ
2 จักรวรรดิอังกฤษ: ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
3 เส้นทางเดินเรือสมัยราชวงศ์หมิง นำโดย นายพลเจิ้งเหอ เมื่อต้นศตวรรษที่ 15
อ้างอิง :
[1] โปรดดูรายชื่ออาณานิคมของอังกฤษถึงปี 1924 ได้จาก http://www.britishempire.co.uk/timeline/colonies1924.htm สืบค้นเมื่อ 09/03/55
[2] จักรวรรดิอังกฤษได้ชื่อว่า ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งใดของโลก ก็จะมีดินแดนในจักรวรรดิอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งแห่งเสมอที่พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งเที่ยงวัน โปรดดูรายละเอียดจาก http://blog.rakeshchintha.com/?p=328 (ที่ปรากฏในรูปเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่อาณานิคมทั้งหมดของจักรวรรดิอังกฤษ) สืบค้นเมื่อ 09/03/55
[3] โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Overseas_Chinese สืบค้นเมื่อ 09/03/55
[4] โปรดดู http://www.roebuckclasses.com/105/regions/eastasia/easiahuman/chinesestarfleet.htm สืบค้นเมื่อ 09/03/55