กรมสุขภาพจิต เจาะกลุ่มพระ-ผู้นำชุมชน แก้ปัญหาชาวบ้านติดเหล้า-บำบัดเอดส์
กรมสุขภาพจิต ชี้คนไทยติดเชื้อเอชไอวี 1 ล้านคน ติดเหล้า 3 ล้านคน ดึงพระใช้ศาสนธรรม-ดึงพลังผู้นำชุมชน ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพชาวบ้าน
วันที่ 8 มี.ค.55 ที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการถวายความรู้พระสังฆาธิการ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส กว่า 200 รูป และผู้นำชุมชน 50 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมบทบาทผู้นำศาสนาในการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ และผู้ติดสุรา โดยวิทยากรจากกรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมควบคุมโรค
รมว.สธ. กล่าวว่าปัจจุบันมีผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าสภาพจิตใจมีผลต่อภูมิต้านทานโรคในร่างกายอย่างมาก การมีอารมณ์ดีและคิดดีจะทำให้ภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาการป่วยบางโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น โรคเอดส์ ซึ่งขณะนี้คาดประมาณว่ามีคนไทยติดเชื้อเอชไอวี 1 ล้านกว่าราย และมีผู้ป่วยสะสมที่ยังมีชีวิต 376,690 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงาน ซึ่งอยู่ในภาคกลางมากที่สุด 152,545 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 113,022 ราย ผู้ป่วยดังกล่าวไม่สามารถใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียวได้ ต้องอาศัยการเยียวยาใจควบคู่ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่าในการร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ติดเหล้า สธ.มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนเข้ามาเป็นแกนนำในการดูแลช่วยเหลือ โดยใช้หลักศาสนธรรมให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ให้กำลังใจ และการเยี่ยมบ้านเสริมกำลังใจ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย สามารถดำเนินชีวิตและดูแลตนเองได้ในสังคมอย่างปกติสุข โดยในปีนี้ได้ให้กรมสุขภาพจิตจัดทำหลักสูตรถวายความรู้การส่งเสริมสุขภาพจิตแก่พระสงฆ์ทั่วประเทศให้พระเป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนทั้งที่ปกติและผู้ที่ปัญหา เพราะชาวพุทธจำนวนมาก เมื่อมีปัญหาหรือมีความทุกข์ มักจะปรึกษาพระ
อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีปัญหา ต้องการคำปรึกษา ขณะนี้กรมสุขภาพจิต ได้เปิดสายด่วนที่พึ่งทางใจ บริการให้คำปรึกษาฟรีโดยนักจิตวิทยาและพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ทางหมายเลข 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถขอรับคำปรึกษาจากโรงพยาบาลของรัฐที่มีคลินิกให้คำปรึกษา และกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนโดยอาสาสมัครที่เป็นผู้ติดเชื้อด้วยกัน จะมีการให้คำปรึกษาให้กำลังใจกันและกัน สอนทำสมาธิ เพื่อให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างปกติ
รมว.สธ.กล่าวต่อไปอีกว่า ผลสำรวจล่าสุดในปี 2554 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มสุราประมาณ 17 ล้านคน จำนวนนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงติดสุรา 3 ล้านคน และเป็นกลุ่มดื่มอันตราย คือดื่มแล้วก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตนเองและเกิดปัญหาต่อผู้อื่นประมาณ 2 ล้านคน บุคคลเหล่านี้ต้องมีผู้ที่เข้าไปดูแล พูดคุยให้กำลังใจในการลด ละ เลิกดื่มในที่สุด ในรายที่ติดสุรามากๆ การเลิกสุราระยะแรกอาจมีอาการหลอน และมือสั่น แต่จะเป็นระยะสั้นๆ ต้องมีการประเมินและใช้ยารักษาแทนการขาดสุรา ถ้ารักษาไปได้ระยะหนึ่งแล้วยังเกิดอาการหูแว่ว ต้องกินยาโรคจิตเพิ่มเติม โดยบุคคลเหล่านี้ต้องเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ .
ที่มาภาพ : http://www.mohanamai.com/index.php?name=news&file=readnews&id=43