เปิดแนวทางสู้คดี 6 พันล. ธพว.ในศาลฎีกา ต้องกล้าโยง‘ผู้มีอำนาจเหนือ’สั่งการ
เปิดแนวทางสู้คดีบัตรเงินฝาก 6 พันล. ธพว.ในศาลฎีกา หลังแพ้คดีชั้นอุทธรณ์ ชดใช้หนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด พร้อมดอกเบี้ยอีกพันล. ต้องชี้ให้ถึง ผู้มีอำนาจเหนือสั่งการ ร่วมกันกระทำมิชอบ ไม่ใช่ผู้บริหารแค่ 4 คน บอร์ดสำคัญผิด
หลังจาก ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นฝ่ายแพ้คดี โดยต้องชำระหนี้ตามสัญญาป้องกันความเสี่ยงให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีคือประมาณ 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ชำระเสร็จสิ้นอีกเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท
การต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาของ ธพว. จะต้องยื่นฎีกาภายใน 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หรืออาจขอขยายเวลาฎีกาออกไปอีก 30 วัน ซึ่งเมื่อขยายเวลาแล้วจะครบกำหนดฎีกาในปลายเดือนสิงหาคม 2560 นี้ โดย ธพว.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยละเอียด เพื่อหาช่องทางหักล้างเหตุผลในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่าสัญญาไม่เป็นโมฆะ ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญเพียงประเด็นเดียวในคดีนี้
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยคดีนี้ไว้โดยละเอียดในคำพิพากษากว่า 400 หน้า หากฎีกาของ ธพว. ไม่มีเหตุผลเพียงพอ หรือไม่มีสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
@เจาะลึกเหตุ ธพว.แพ้คดีในศาลอุทธรณ์
เมื่อเจาะลึกสำนวนคดีนี้ ในส่วนของคำให้การแก้ฟ้องของ ธพว.ในฐานะจำเลยในคดี ได้นำเอาสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง มาวางโครงสร้างและหลักการของคำให้การเพื่อต่อสู้คดี ดังนี้
1) หลักการสำคัญของคำให้การคือ แยกบุคคลผู้เกี่ยวข้องของ ธพว. ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1คณะกรรมการ ธพว. และกลุ่มที่ 2 ผู้บริหาร ธพว. โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีอำนาจที่แท้จริงในการทำนิติกรรมสัญญาแทน ธพว. ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่รับมอบอำนาจจากกลุ่มที่ 1 ผ่านทางมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว.เพื่อนำไปปฏิบัติ
2) โต้แย้งความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมสัญญาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บริหารในกลุ่มที่ 2 โดยอ้างถึงการไม่มีอำนาจและความไม่สุจริตของผู้บริหารในกลุ่มที่ 2 ในการเข้าทำสัญญากับ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ทั้งขั้นตอนการคัดเลือกตัวแทนการจัดจำหน่ายบัตรเงินฝาก (Underwriter) และขั้นตอนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง โดยอ้างว่าไม่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการจากกลุ่มที่ 1 ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรมสัญญา เพื่อนำไปสู่การแจ้งโมฆะกรรมของนิติกรรมสัญญา และปฏิเสธการชำระค่าปรับ
3) นำพยานเข้าสืบเพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่า หากคณะกรรมการ ธพว.ได้รู้ถึงรายละเอียดหรือเงื่อนไข ต่าง ๆ ของนิติกรรมสัญญาที่ ธพว.ทำกับ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) อย่างครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการ ธพว.จะไม่อนุมัติให้ทำสัญญา เนื่องจากเป็นสัญญาที่ ธพว. มีข้อเสียเปรียบอย่างมาก และจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ธพว.ในอนาคต
4) อ้างถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่สรุปว่าผู้บริหารในกลุ่มที่ 2 มีความผิดวินัยร้ายแรง ด้วยการระบุถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารในกลุ่มที่ 2 กระทำไปโดยพลการด้วยเจตนาที่ไม่สุจริต และร่วมมือกันกระทำการกับผู้บริหารของกลุ่ม ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โดยที่คณะกรรมการ ธพว.,คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการการเงิน ของ ธพว. ไม่ได้รับรู้ว่าผู้บริหารในกลุ่มที่ 2 ได้เพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในสัญญา ที่นำไปสู่การถูกเรียกให้ชำระค่าปรับ
5) กำหนดตัวผู้บริหารในกลุ่มที่ 2 ที่จะต้องรับผิดและถูกลงโทษทางวินัยไว้จำนวนหนึ่ง (ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น) เฉพาะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพียงเพื่อชี้ให้เห็นถึงตัวผู้กระทำทุจริต ที่จะนำไปเหตุผลในการแจ้งโมฆะกรรมของนิติกรรมสัญญาที่ทำไว้กับ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
6) พยายามไม่ให้ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและคำให้การแก้ฟ้องพาดพิงไปถึงกลุ่มที่ 1 ที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการ ธพว.,คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการการเงิน ของ ธพว. อีกทั้งไม่ให้เชื่อมโยงไปถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ ธพว.
จากแนวทางการต่อสู้คดีของ ธพว.ดังกล่าว ประสบความสำเร็จในศาลชั้นต้น สามารถทำให้ศาลแพ่ง
วินิจฉัยว่าสัญญาเป็นโมฆะ โดยเชื่อตามพยานหลักฐานที่ ธพว.นำสืบว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ธพว. ในเรื่องการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษ ทำให้คณะกรรมการ ธพว.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงสำคัญผิดในสาระสำคัญ ส่งผลให้นิติกรรมสัญญาที่ ธพว.ทำกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นโมฆะ ธพว. จึงไม่ต้องรับผิดต่อยอดหนี้ตามฟ้อง
แต่เมื่อถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ได้กลับคำวินิจฉัยของศาลแพ่ง โดยไม่เชื่อว่าคณะกรรมการ ธพว.จะไม่รู้ถึง
ข้อกำหนดพิเศษที่เพิ่มเข้าไปในภายหลัง เนื่องจากคณะกรรมการ ธพว.อยู่ในสถานะที่ควรจะรู้ถึงข้อกำหนดพิเศษที่เพิ่มเข้าไป ดังนั้นสัญญาจึงไม่เป็นโมฆะ
เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการ ธพว.รู้ถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญา ดังนั้น เหตุการณ์จึงกลับเป็นว่า คณะกรรมการ ธพว.ร่วมกระทำหรือเป็นตัวการที่ทำให้เกิดสัญญาที่ ธพว.มีข้อเสียเปรียบ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นนิติกรรมสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำทุจริตของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดใน ธพว.ซึ่งนอกจากผู้บริหาร ธพว.แล้ว ยังรวมถึงคณะกรรมการการเงิน, คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการ ธพว.ด้วย
@ความหวังของ ธพว.ในการชนะคดีในชั้นฎีกา
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การยื่นฎีกา ธพว. จะต้องแสดงเหตุผลหักล้างคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังและเชื่อในเหตุผลที่ยกขึ้นมาอธิบายเพิ่มเติมใหม่ว่าสัญญาควรจะเป็นโมฆะ โดยเหตุผลที่จะนำมาต่อสู้ในศาลฎีกาต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้นำสืบกันไว้แล้วในศาลชั้นต้น แต่การฟังข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบไว้นั้น มีความแตกต่างกันในเรื่องการรับรู้ของคณะกรรมการ ธพว.ต่อรายละเอียดของข้อตกลงในสัญญา
ดังนั้น แนวทางการต่อสู้คดีในศาลฎีกาที่จะทำให้ ธพว.มีโอกาสชนะคดีอาจจะต้องเปลี่ยนไปจากที่
อ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะคณะกรรมการ ธพว. สำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญา โดย ธพว.ควรรับตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลสูงกว่าฟังเป็นยุติว่า คณะกรรมการ ธพว.รับรู้ในรายละเอียดของสัญญาในส่วนของการเพิ่มข้อกำหนดพิเศษเข้าไปในภายหลัง แล้วจึงต่อสู้ว่าแม้ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟัง ก็เป็นกรณีที่คณะกรรมการ ธพว.,คณะกรรมการบริหาร, คณะกรรมการการเงิน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของ ธพว.ได้ร่วมกันกระทำผิด อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 โดยมีผู้บริหารของ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) อาจเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างผู้ที่เป็นคู่สัญญาย่อมไม่มีผลผูกพันกัน เพราะกฎหมายจะยอมรับให้การกระทำมีผลเป็นนิติกรรมที่ผูกพันคู่สัญญา ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายของบุคคลที่เป็นคู่สัญญา ตามหลักพื้นฐานของนิติกรรมที่บัญญัติไว้ในมาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“ธพว.จึงอาจจะต้องนำเอาคณะกรรมการ ธพว.และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับผิดด้วย โดยจะต้องชี้ให้ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการร่วมกันกระทำทุจริตต่อหน่วยงานของรัฐของผู้มีอำนาจของฝ่าย ธพว. และผู้มีอำนาจของฝ่าย ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ ทั้งในขั้นตอนการคัดเลือกตัวแทนการจัดจำหน่ายบัตรเงินฝาก (Underwriter) และขั้นตอนการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยง การกระทำของผู้ที่เป็นคู่สัญญาจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย”แหล่งข่าวกล่าว
ดังนั้น การต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาตามแนวทางดังกล่าว ก็ยังคงเป็นไปตามหลักการในข้อต่อสู้เดิมของ
ธพว. คือ ชี้ให้ศาลเห็นว่านิติกรรมไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ธพว.จึงไม่ต้องชำระค่าปรับตามสัญญา และเป็นการต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติ
@การสอบสวนข้อเท็จจริงอาจไม่ชอบ...หาแพะรับบาปแทนบอร์ด?
การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการ ธพว.รู้เห็นในรายละเอียดต่าง ๆ ของสัญญา ทำให้เห็นได้ว่า สรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ของ ธพว.ที่ระบุว่ามีเพียงผู้บริหารภายในของ ธพว. 4 คน เป็นผู้กระทำความผิดวินัยร้ายแรง โดยบอร์ดชุดต่าง ๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้ อาจเป็นการสอบสวนที่ไม่ปกติ โดยพยายามละเว้นไม่ให้มีความผิดไปถึงคณะกรรมการ ธพว.ที่เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง
ซึ่งผลการสอบสวนดังกล่าวต่อมาถูกนำไปใช้เป็นส่วนสำคัญในการทำคำให้การแก้ฟ้องคดี และ ธพว.ต้องแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของ ธพว.ว่าคณะกรรมการ ธพว.จะไม่รู้เห็นด้วย
การที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโยนความผิดทั้งหมดให้ผู้บริหารเพียง 4 คน เพื่อปกป้องคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ทั้งสามชุด และไม่ให้มีความผิดเชื่อมโยงไปถึงตัวการใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง จึงเป็นการแลกเปลี่ยนกับความเสียหายจำนวนมหาศาลของ ธพว.ที่จะเกิดขึ้นจากการแพ้คดี ซึ่งเหตุผลหนึ่งมาจากการไม่เชื่อในผลการสอบสวนของ ธพว.
@ธพว.กล้าที่จะเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ในชั้นฎีกา หรือไม่ ?
สำหรับการต่อสู้ตามแนวทางใหม่โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังเป็นยุติ จะทำให้มีจำนวนผู้ที่
กระทำไม่สุจริตของ ธพว.เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก คือ บุคคลที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการ ธพว.,คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการการเงิน ของ ธพว. แต่ก็เป็นแนวทางที่จะทำให้ ธพว.มีโอกาสชนะคดี เพียงแต่จะมีการเชื่อมโยงไปยังบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูงและบุคคลที่สายการเมืองส่งเข้ามาเป็นบอร์ด ธพว.ครั้งนั้น
ทีมกฎหมายของ ธพว. ที่ดูแลคดีนี้ ซึ่งประกอบด้วย สำนักกฎหมายอินดิเพนเด็นซ์, ทีมที่ปรึกษา
กฎหมาย และฝ่ายนิติการของ ธพว. จะกล้าต่อสู้คดีในแนวทางนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารของกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ควรจะต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐต้องเสียค่าโง่อีกครั้ง
อ่านประกอบ :
คดี 6 พันล. ธพว.ปล่อยให้ผู้บริหารแค่ 4 คนทำธุรกรรมหมื่นล. ‘ไอ้โม่ง’ลอยนวล?
เปิดสำนวนในศาลแพ่งคดี 6 พันล. ธพว.รับฮั้วประมูล ผู้บริหารทุจริต บอร์ดไม่รู้เห็น
ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวยเอื้อ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ เบื้องลึกคดี 6 พันล.ธพว.
ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
ธพว.แพ้คดีในศาลอุทธรณ์ต้องใช้หนี้แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 6 พันล.