“ใครใช้ทรัพยากร ต้องจ่ายให้ชุมชน” สร้างแรงจูงใจลดการทำลาย-เพิ่มการรักษา
ถกหลัก PES แก้ปัญหาการทำลายดิน-น้ำ-ป่า ใครใช้ประโยชน์ทรัพยากรต้องจ่ายค่าตอบแทนจูงใจให้ชุมชนดูแลอย่างยั่งยืน นักวิชาการเผย 5 พื้นที่นำร่อง ดอยอินทนนท์ เขาชะเมา–เขาวง สตูล ห้วยขาแข้ง เกาะตะรุเตา ชาวบ้านขุนกลางมองต้องแทนคุณเพราะระบบนิเวศคือชีวิต แนะจ่ายอย่างไรไม่ให้แตกแยก
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(สพภ.) จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางผลักดันหลักการ PES ให้เป็นรูปธรรมในประเทศไทย” ณ โรงแรมมิราเคล แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยนายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ ผู้อำนวยการ สพภ. กล่าวถึงการพัฒนาแนวคิดและรูปแบบของความรับผิดชอบทางสังคม(CSR) ไปสู่การจ่ายค่าตอบแทนคุณระบบนิเวศ(PES) หรือ Payment for Environmental Services ว่าคือการจัดสรรค่าตอบแทนให้กับชุมชนหรือผู้ที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสร้างแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์แก่ชุมชนและท้องถิ่นที่ปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของระบบนิเวศต่อไป
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการสร้างรูปธรรม PES ในประเทศไทย ควรเลือกพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องทรัพยากรก่อน เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าทำให้ระบบนิเวศถูกทำลาย และหลักการดังกล่าวยกตัวอย่างเช่น น้ำจากดอยอินทนนท์ไหลลงสู่แม่น้ำแม่ปิง เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเมือง ดังนั้นผู้ที่สมควรจ่ายค่าตอบแทนทรัพยากรคือชุมชนลุ่มน้ำตอนล่างและนักท่องเที่ยวตลอดจนบริษัทท่องเที่ยวต่างๆที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้
“เราได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ มี 5 พื้นที่นำร่อง คือ ดอยอินทนนท์ เขาชะเมา–เขาวง สตูล ห้วยขาแข้ง และเกาะตะรุเตา เนื่องจากมีความหลากหลายของประชากร ประเพณีวัฒนธรรม ถ้าชาวบ้านได้เงินจากการตอบแทนคุณระบบนิเวศ น่าจะทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติน้อยลงหรือหมดไปได้”
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ร่วมวิจัย “โครงการนำร่องจ่ายค่าตอบแทนให้ชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นหลักประกันความยั่งยืนด้านการใช้ประโยชน์และการบริหารตามหลัก PES” กล่าวว่าหลักการดังกล่าวจะทำให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม และรักษาไว้อย่างดี ตัวอย่างเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด และมีช้างป่าอาศัยอยู่มากถึง 237 ตัว เมื่อน้ำในป่าแห้งขอดแต่พื้นที่ทำการเกษตรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล อบต. ยังมีน้ำในบ่อจำนวนมาก ส่งผลให้ช้างลงมาหากินนอกป่าจนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้าง และเกิดวิธีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง
ผศ.อิทธิพล กล่าวว่าการแก้ปัญหาที่เหมาะสมสามารถทำได้ด้วยการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและระบบนิเวศ ซึ่งแตกต่างจากเดิมเนื่องจากชุมชนจะได้ค่าตอบแทนจากการดำเนินกิจกรรมและในระยะยาวยังมีโอกาสสร้างงานและรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านไม่ใช่ลูกจ้างของราชการ แต่เป็นผู้มีประโยชน์ร่วมอันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองว่าช้างคือโอกาสไม่ใช่ศัตรู เป็นต้น ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้ PES ประสบความสำเร็จคือการสนับสนุนในระดับนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบที่จะสนับสนุนการจ่ายค่าตอบแทนและการโอนค่าตอบแทนไปให้ชุมชนเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยกรป่าไม้ ตลอดจนการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นฐานในการกำหนดมูลค่าตอบแทนที่จะจ่ายให้กับชุมชน
“จากการสำรวจของ รศ.ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ พบว่ามีประชากรที่เต็มใจจ่ายเงินเพื่อการอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เฉลี่ยปีละ 250 บาทต่อครัวเรือน”
ด้านนายนริศ พนากำเนิน ผู้แทนชุมชนบ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าปัจจุบันชุมชนได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านทางเทศบาล อบต. ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การทำแนวกันไฟ โดยเงินที่ได้รับการสนับสนุนนั้นชาวบ้านนำไปเป็นค่าน้ำค่าอาหารระหว่างช่วยกันทำกิจกรรม เพราะชุมชนมองว่าระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นชีวิตของพวกเขาอยู่แล้ว ทั้งนี้เสนอว่าข้อควรระวังของการทำ PES คือควรจ่ายเงินเข้าชุมชนให้มีการบริหารจัดการเป็นกลุ่มงาน และไม่ควรให้การช่วยเหลือเป็นรายบุคคลเพราะจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นได้
“ในชุมชนของเรา ป่าขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ชุมชนใกล้เคียงยังมีปัญหาการทำลายป่าไม้อยู่ เพราะการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวของรัฐ นอกจากจะทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าแล้วยังทำให้ระบบนิเวศรอบพื้นที่ป่าเสียอีกด้วย”
ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆจากเวทีนี้ จะนำไปสู่การจัดงานมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2553 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 และอาคารศูนย์ประชุม ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ วันที่ 23-24 กันยายน .
ภาพประกอบบางส่วนจาก http://www.lifepitlok.com/images_news/1245665592.jpg