ก.เกษตรฯ เร่งควบคุมปัจจัยเสี่ยง หนุนผลิตข้าว 34 ล้านตัน-มัน 24 ล้านตันปี 56
ก.เกษตรฯ วางมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงศัตรูพืช-ราคา-พื้นที่ผลิต ป้องผลผลิตข้าวให้ได้ 30 ล้านตัน ข้าวเปลือก-มันสำปะหลัง 24 ล้านตันในปี 56 นำร่องควบคุมเพลี้ยข้าวที่ปทุมฯ พัฒนาอุตส.มันสู่ระบบไร้ของเสีย
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยว่า มีพืชสำคัญ 2 ชนิด ซึ่งแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศอย่างมาก คือ ข้าวและมันสำปะหลัง ที่อาจจะต้องประสบภัยคุกคาม เช่น การแข่งขันด้านราคา ปัจจัยเรื่องน้ำ และการระบาดของศัตรูพืช ที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตในปี 2556 ทั้งในด้านพื้นที่การผลิตและปริมาณผลผลิต กษ. จึงเร่งวางมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจทั้งสองชนิดเป็นไปตามเป้าหมายในปี 2556 ที่วางไว้เบื้องต้น คือ ผลิตข้าว 30 ล้านตันข้าวเปลือก และมันสำปะหลัง 24 ล้านตัน
แนวทางการดำเนินการในส่วนของข้าว นอจากแผนพร่องน้ำในเขื่อนเพื่อเตรียมป้องกันปัญหาอุทกภัย คาดว่าจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว ประกอบกับการจัดระบบการปลูกข้าวของ กษ.ที่เริ่มดำเนินการมากอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะสามารถทำให้เกษตรกรมีปริมาณน้ำใช้อย่างเพียงพอในฤดูกาลผลิต ส่วนการกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่มักจะพบการแพร่ระบาดในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท ปทุมธานี ซึ่งเบื้องต้นขณะนี้ได้ใช้แผนบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าว ดำเนินการ อาทิ หาวิธีใช้ยาปราบศัตรูพืชในสัดส่วนที่เหมาะสม ควบคุมศัตรูพืชโดยชีวภาพ ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่นำร่องที่ จ.ปทุมธานี เพื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในการยับยั้งและควบคุมพื้นที่การระบาด ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่พบการระบาดอื่นต่อไป
นายนิวัติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มันสำปะหลังกำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณผลผลิต เนื่องจากเกษตรกรจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น รวมทั้งการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูที่ที่ทำให้ผลผลิตหัวมันลดลง ซึ่ง กษ.จะเร่งดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาด สำหรับการแก้ไขปัญหาราคาจะเร่งส่งเสริมให้มีการแปรรูปส่งออกในรูปแป้งมันให้ได้ทั้งหมด 100% จากปัจจุบันมีแค่ 62% ในขณะที่การแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด ยังมีอยู่ถึง 38 % หากทำได้ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและลดการแข่งขันกับอินโดนีเซียที่ปัจจุบันมีปริมาณการส่งออกในรูปวัตถุดิบเบื้องต้นมากกว่าไทย ที่สำคัญยังลดปัญหาคุณภาพ เนื่องจากการส่งออกเป็นแป้งมันจะสามารถควบคุมความชื้นไม่ให้เกิดเชื้อราหรือแบคทีเรีย รวมทั้งกำจัดสารตกค้างหรือโลหะหนักในขั้นตอนการทำมันเส้นหรือมันอัดเม็ดที่อาจจะปลอมปน
ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนให้เกิดการแปรรูปหัวมันสำปะหลังไปเข้าสู่ระบบโรงงานแป้งมันนั้น จะใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจ และจะมอบให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประชาสัมพันธ์ให้แต่ละประเทศทราบว่าปัจจุบันโรงงานผลิตแป้งมันในประเทศไทยถูกกำหนดให้มีโรงบำบัดน้ำเสีย และนำน้ำเสียกลับมาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพป้อนกลับเข้าสู่ระบบการผลิต ซึ่งนโยบายรัฐบาลจะให้ค่ายูนิตในการจำหน่ายไฟฟ้าที่เกิดจากน้ำเสียแป้งมันสูงขึ้นกว่าจากที่รับซื้อจากพลังงานน้ำและน้ำมันแก๊สถึง 2 เท่าตัว นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเข้าสู่ Zero waste system ซึ่งเป็นระบบที่นำสิ่งเหลือจากระบบการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งไม่เหลือสิ่งเหลือทิ้งออกนอกระบบการผลิต อันจะนำไปสู่ความต้องการของกระแสการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความต้องการในการบริโภค green products ของประชากรโลกในอนาคต .