กสม.รับเรื่องร้องมาบตาพุด เตรียมหารือ “อานันท์” สัปดาห์หน้า
ที่ประชุม กสม.พิจารณาเร่งด่วนกรณีชาวมาบตาพุดร้องให้ตรวจสอบประเภทกิจการรุนแรงฯ เชื่อมีหลายประเด็นเชื่อมโยงต้องพิจารณาร่วมแบบบูรณาการ ตั้งโจทย์ใหญ่หาให้ได้ว่าเหตุใดจึงตัดจาก 18 เหลือ 11 นพ.ชูชัยเผย อานันท์ ไฟเขียว ให้ กสม. เข้าพบหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลสัปดาห์หน้า
เมื่อวันที่ 8 กันยายนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประชุมวาระเร่งด่วนพิจารณารับเรื่องร้องเรียนกรณีเครือข่ายประชาชนภาคตะวันขอให้ตรวจสอบความถูกต้องในการออกประกาศประเภทโครงการหรือกิจการที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา ๖๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จังหวัดระยอง
ทั้งนี้ผลการพิจารณาของ กสม. มีดังนี้ 1. กสม. เห็นว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสิทธิบุคคล ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม จึงพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกันแบบบูรณาการ มีประเด็นที่เชื่อมโยงกันหลายประเด็น ไม่ว่าเรื่องธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม กระบวนการยุติธรรม ผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น เด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ใช้แรงงาน ผลกระทบต่อสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม
2. กสม. เห็นว่าโจทย์ในการพิจารณาเบื้องต้นคือ การพิจารณาหาความจริงว่ามีเหตุผลใดที่ข้อเสนอของคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุดที่ให้มี 18 โครงการกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เหตุใดทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาตัดเหลือเพียง 11 โครงการกิจการ
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการ กสม. กล่าวว่า ได้ประสานงานติดต่อไปยังคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด ในขั้นต้น นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้ตอบรับแล้วที่ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. จะไปพบปะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลในสัปดาห์หน้า
นพ.ชูชัย กล่าวต่อไปว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อขอข้อมูลทั้งหมด ในกระบวนการพิจารณา ตลอดจนมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการได้มาซึ่ง 11โครงการกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ว่ามีเหตุผลหลักฐานทางวิชาการรองรับแค่ไหนเพียงใด เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป.