ขมวดปมฉาวสร้างอาคาร รร.รุกป่าสงวน มทร.ศรีวิชัย-ตรัง เสียหาย 64 ล. ยังไม่มีใครติดคุก?
“..จะต้องหาคนรับผิดชอบค่าเสียหาย มิใช่มหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้จ่าย 21ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพิทักษ์ผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อเสนอแนวทางในการนำเงินมาชดใช้ในครั้งนี้ ซึ่งจะต้องมีคนรับผิดชอบ.." ปธ.กก.สภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.ศรีวิชัย-ตรัง กล่าว
กรณีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว นอกเขตการได้รับอนุญาตการใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ บริเวณท้องที่ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งถูกร้องเรียนว่าการบังคับใช้กฎหมายในการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องไม่มีความคืบหน้า ตามที่ปรากฏข่าวก่อนหน้านี้
ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาระหว่าง หจก.มหานครการช่าง (ผู้ฟ้องคดี) ผู้รับเหมากับ มทร.ศรีวิชัย (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองสงขลา) เป็นให้ มทร.ศรีวิชัย ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ หจก.มหานครการช่าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48,091,638.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ หจก.มหานครการช่าง โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด กับให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ หจก.มหานครการช่าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น (อ่านประกอบ : ศาล ปค.สูงสุด สั่ง มทร.ศรีวิชัย ชดใช้ บ.รับเหมา 48 ล.หลังถูกระงับสร้าง รร.รุกป่า จ.ตรัง)
คำพิพากษาของศาลปกครองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปมปัญหาทั้งหมดในกรณีนี้ เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพและเข้าใจในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลำดับเหตุการณ์มานำเสนอ ดังนี้
จุดเริ่มต้นโครงการนี้ เริ่มจากมหาวิทยาลัยฯ ได้สำรวจพื้นที่เพื่อทำการออกแบบ และขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ เพื่อจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง
เดือน มี.ค. 2534 นายมณฑล ฉายอรุณ ผอ.วิทยาเขตภาคใต้ มอบหมายให้ทำการสำรวจพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อจัดทำแผนที่ภูมิประเทศที่จะมาใช้ในการจัดทำผังแม่บท (Master Plan) และใช้ประกอบการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ กรณีที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลประสงค์ที่จะจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เพื่อเปิดสอนระดับปริญญาตรีในด้านการประมงที่ จ.ตรัง โดยแนวเขตของพื้นที่จะครอบคลุมบริเวณพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ตามที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จ.ตรัง กำหนดให้ และได้มีการจัดทำแผนที่ ซึ่งบริเวณพื้นที่ที่ทำการสำรวจไม่ได้ครอบคลุมบริเวณที่ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยวในปัจจุบัน และได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ด้านทิศใต้จดบริเวณป่าชายเลน"
โดย การขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้จัดทำเอกสารโครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง ระบุรายละเอียด อาทิ วัตถุประสงค์ เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป้าหมาย เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาประมง (หลักสูตร 4 ปี) ส่วนสถานที่ตั้งโครงการ ระบุพื้นที่ 1,645 ไร่ หมู่ที่ 3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง โดยพื้นที่ของโครงการทั้งหมดจะอยู่เหนือเส้นละติจูด 7 องศา 29 ลิปดาเหนือ และไม่ปรากฏพื้นที่ที่ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
และได้จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย ปรากฏรายละเอียดที่สำคัญ คือ นายประชีพ ชูพันธ์ เป็น 1 ในคณะกรรมการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 2534 (หลังจากที่ทำการสำรวจพื้นที่เสร็จสิ้นไม่นาน) ระบุโครงการมีเนื้อที่ประมาณ 1,700 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศและอาณาเขตที่ตั้งพื้นที่ที่ขอใช้ประโยชน์เป็นป่าที่ราบ ตั้งอยู่ติดอ่าวสิเกา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติคลองกะลาเส และป่าคลองไม้ตาย ท้องที่ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง
ขณะที่ การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ กรมป่าไม้ได้มีประกาศกรมฯ เรื่อง กำหนดบริเวณให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับที่ 48/2535 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2535 ให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกะลาเสและป่าคลองไม้ตาย เพื่อจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง เนื่อที่ 1,700 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2535 จนถึงวันที่ 30 มี.ค. 2565
30 เม.ย. 2535 กรมป่าไม้ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล โดย รศ.ธรรมนูญ ฤทธิมณี อธิการบดี (ขณะนั้น) และ นายประชีพ ชูพันธ์ ซึ่งขณะนั้นรักษาราชการแทนในตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ในฐานะพยาน ได้ลงนามในบันทึกรับรองยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้พื้นที่ โดยกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญ ดังนี้
ข้อ 1 ผู้ใช้พื้นที่ต้องไม่กระทำการหรือยินยอมให้ตัวแทน คนงาน หรือลูกจ้าง กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าไม้ หรือของป่า นอกเขตพื้นที่ที่ประกาศกำหนด หากปรากฏว่ามีการกระทำดังกล่าวให้เรียกปรับผู้ใช้พื้นที่ในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ถ้าทำให้ต้นไม้เสียหายให้เรียกปรับในอัตราต้นละไม่เกิน 500 บาท
ข้อ 3 ผู้ใช้พื้นที่ต้องจัดทำป้ายถาวรที่มีขนาดโตไม่น้อยกว่า 60 x 120 ซม. ติดไว้ใกล้เส้นทาง ณ จุดที่ผ่านเข้าพื้นที่ประกาศกำหนดทุกเส้นทางให้เห็นได้ชัดเจน โดยระบุข้อความที่ป้ายว่า "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่แห่งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้แล้ว" ฯลฯ
ข้อ 7 ผู้ใช้พื้นที่ต้องคอยสอดส่องตรวจตรา ระมัดระวังมิให้มีการบุกรุกแผ้วถางป่าในบริเวณติดต่อใกล้เคียง หรือตามแนวทางเข้าออกพื้นที่ที่ประกาศกำหนด ถ้ามีการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ผู้ใช้พื้นที่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ทราบทันที หากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นโดยที่ผู้ใช้พื้นที่ควรจะทราบ แต่ละเลยมิได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ ผู้ใช้พื้นที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ป้ายที่ระบุข้อความดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นเด่นชัด ส่วนบริเวณก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมฯ อยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 7 องศา 29 ลิปดาเหนือ หลายร้อยเมตร และจากรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมและบันทึกรับรองยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขในการใช้พื้นที่ แสดงให้เห็นว่า นายประชีพ ชูพีนธ์ ได้รับทราบอาณาเขตพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาต และเงื่อนไขในการใช้พื้นที่เป็นอย่างดี ในฐานะพยานและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง
สำหรับ การก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2548 ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขึ้นมา 9 แห่ง ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัยด้วย
และต่อมา นายประชีพ ชูพันธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย คนแรก เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2548 โดยระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงเพื่อจัดตั้งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยฯ นายประชีพได้แต่งตั้ง นายกฤษฎา พราหมณ์ชูเอม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช้วยอธิการบดี และมอบหมายให้กำกับดูแลการบริหารงานในพื้นที่ในพื้นที่คณะวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีการประมง (ตามโครงสร้างเดิม)
และเมื่อเดือน ต.ค. 2548 ได้ทำการสำรวจพื้นที่ของคณะวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีการประมงอีกครั้ง เพื่อจัดทำแผนที่ภูมิประเทศที่จะนำไปออกแบบก่อสร้างศูนย์ศึกษาธรรมชาติและโรงแรม โดยมี นายกฤษฎา เป็นผู้นำไปยังพื้นที่ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ที่ทำการสำรวจอยู่ห่างจากเขานุ้ยหรือเขายายนุ้ยทางด้านทิศใต้ เข้าไปในเขตป่าชายเลนประมาณ 50 เมตร และอยู่ห่างจากตำแหน่งป้ายแสดงอาณาเขตที่กรมป่าไม้อนุญาตเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร ซึ่งนายกฤษฎาบอกว่า ไม่เป็นไร ได้เคลียร์กับเจ้าหน้าที่ป่าชายเลนแล้ว
14 พ.ย. 2549กระทรวงศึกษาธิการได้มีกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการใน มทร.ศรีวิชัย พ.ศ. 2549 ทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ถูกยุบไป บริเวณพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่จึงเปลี่ยนมาอยู่ในความดูแลของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมีหน่วยงานตามกฎกระทรวง ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง วิทยาลัยการโรงแรมและการท่องเที่ยว และสถาบันวิจัยและพัฒนา และนายประชีพได้เสนอสภามหาวิทยาลัยฯ แต่งตั้ง นายกฤษฎา พราหมณ์ชูเอม เป็นรองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง
กระทั่ง เดือน ธ.ค. 2552 นายสุพร ฤทธิภักดี ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.ศรีวิชัย ได้รับหนังสือจากชาวบ้าน ต.ไม้ฝาด ให้ช่วยติดตามข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานที่ผิดกฎหมายของ นายประชีพ ชูพันธ์ อธิการบดีฯ ที่ได้ร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ว่า
1.บุกรุกป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติใกล้กับ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อปลูกสวนปาล์มของตนเอง
2.กระทำผิดวินัยร้ายแรงและมีพฤติกรรมที่สอไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างโรงแรม ตัดไม้ชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาก่อสร้างโรงแรม
3.เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาสร้างบ่อพะยูน ขุดทรายบริเวณป่าชายเลนใน มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มาถมบริเวณที่ก่อสร้างบ่อพะยูน
23-25 ธ.ค. 2552 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้ง นายก อบต.ไม้ฝาด เข้าตรวจสอบพื้นที่สวนปาล์ม ปรากฏว่า ได้มีการบุกรุกป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกสวนปาล์มจริง จึงยึดพื้นที่ และแจ้งความดำเนินคดีกับ นายประชีพ ชูพันธ์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฯ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่มีการตัดไม้ป่าชายเลน เพื่อนำมาก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมฯ ด้วย ปรากฏว่า ไ้ด้มีการก่อสร้างบุกรุกป่าชายเลนและอยู่นอกเขตพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ ซึ่งตำแหน่งที่เริ่มต้นในการก่อสร้างอยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตประมาณ 300 เมตร
ต่อมา พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้ถ้อยคำ และได้ส่งสำนวนฟ้องคดีไปยังพนักงานอัยการ จ.ตรัง แต่ปรากฏว่า พนักงานอัยการ จ.ตรัง มีคำสั่งไม่ฟ้องทั้ง 2 คดี
1 ส.ค. 2554 นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ขณะนั้น) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเพิ่มเติมเนื่องจากคดีดังกล่าวได้มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีที่แสดงให้เห็นว่า นายประชีพ ชูพันธ์ มีเจตนาบุกรุกป่าชายเลน
10 ส.ค. 2555 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหนังสือถึง นายประชีพ ชูพันธ์ อธิการบดี มทร.ศรีวิชัย และ หจก.มหานครการช่าง (ผู้รับเหมา) ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำลายป่า เป็นเงินจำนวน 2,591,131.18 บาท แต่จนปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
ส่วนการดำเนินการของสภา มทร.ศรีวิชัย สภามหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริง และผลการสอบสวนกรณีการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมฯ บุกรุกป่าชายเลน สรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงยุติได้ว่ามีผู้กระทำการบุกรุกก่อสร้างโรงแรมราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้ทำการก่อสร้างอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้จริง และมีความเสียหายเกิดขึ้นจนเป็นเหตุให้หัวหน้าหน่วยคุ้มครองป้องกันป่าชายเลนที่ 8 (กันตัง-ตรัง) แจ้งความดำเนินคดีกับมหาวิทยาลัยฯ เกิดจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ นายประชีพ ชูพันธ์ อธิการบดี และ นายกฤษฎา พราหมณ์ชูเอม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง ซึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
และจากที่คณะกรรมการสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงไว้ พบว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารโรงแรม มทร.ศรีวิชัย ดังกล่าวมีการดำเนินการที่ไม่เรียบร้อย และไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางการอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 โดยการกระทำดังกล่าวของบุคคลทั้งสองเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 39
17 พ.ย. 2553 นายประชีพ ชูพันธ์ อธิการบดี มทร.ศรีวิชัย ได้มีคำสั่งที่ 973/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นายกฤษฏา พราหมณ์ชูเอม กับพวกถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสีสยหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง แต่จนถึงบัดนี้ คณะกรรมการฯ ยังไม่เคยเรียกพยานที่มีส่วนรู้เห็นไปให้ถ้อยคำ แต่อย่างใด และไม่เคยตอบรับหนังสอบถาม อีกทั้ง สภาฯ ยังคงแต่งตั้งให้ นายกฤษฎา เป็นรองอธิการบดีประขำวิยาเขตตรัง จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กรรมการสอบสวนบางคนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร
สำหรับการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 12 พ.ย. 2553 ถึงนายกสภามหาวิทยาลัยฯ ระบุสาระสำคัญว่า "รศ.ประชีพ ชูพันธ์ ปฏิบัติหน้าราชการโดยประมาทเลินเล่อ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า รศ.ประชีพ ออกจากราชการด้วยเหตุเกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2550 จึงไม่สามารถเอาดำเนินการทางวินัยได้"
โดยการดำเนินการของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เข้ามาดำเนินการสอบสวนเนื่องจากเห็นว่า การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้รับจ้างในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมฯ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้มีหนังสือที่ ยธ 0800/2893 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2555 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รายระเอียดสรุปว่า DSI ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ดำเนินการกับบุคคลซึ่งได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ในการประกวดราคาจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมฯ 1 หลัง โดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งผลการสืบสวนสอบสวนพบว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้กระทำความผิดอันอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. จึงขอส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการต่อไป โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันเดียวกันนี้ ตามเลขรับที่ 15832
24 มี.ค. 2557 เลขาฯ สกอ. ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ร่วมลงนามในคำสั่ง สกอ. ที่ 117/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีนายประชีพ ชูพันธ์ กับพวก บุกรุกป่าชายเลน และผลสรุปข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นายประชีพ ชูพันธ์ กับพวก ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 66,800,131.18 บาท กรณีเบิกเงินค่าก่อสร้าง 64.2 ล้านบาทจากวงเงินที่ทำสัญญาประมาณ 125.9 ล้านบาท และกรณีความเสียหายจากที่พื้นที่ป่าไม้ถูกแผ้วถาง 2,591,131 บาท (อ่านประกอบ : ร้อง มทร.ศรีวิชัย ตรัง สร้างโรงแรมบุกรุกป่า เสียหาย 66 ล. คดีไม่คืบหน้า)
14 ก.พ. 2560 ผศ.รุจา ทิพย์วารี อธิการบดี มทร.ศรีวิชัย (ปัจจุบัน) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง นายประชีพ ชูพันธ์ อดีตอธิการฯ ให้ชดใช้ค่าเสียหายตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน 64,209,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้ (อ่านประกอบ : มทร.ศรีวิชัยส่งหนังสือแจ้งอดีตอธิการฯชดใช้ค่าเสียหาย 64.2 ล. สร้าง รร.รุกป่า)
29 มี.ค. 2560 นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีฯ ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับอดีตอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย กับพวก 6 คน 2,591,131 บาท (กรณีบุกรุกป่าไม้) แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเหตุเกิดตั้งแต่ 24 ธ.ค. 2552 คดีใกล้ขาดอายุความ จาก 10 ปี เหลือประมาณ 2 ปี (อ่านประกอบ : คดีจะขาดอายุความ! แจ้ง อสส.ฟ้องแพ่งอธิการฯมทร.ศรีวิชัย ตรัง สร้างรร.รุกป่า)
22 พ.ค. 2560 นายประชีพ ชูพันธ์ อดีตอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย (ปัจจุบันเป็นกรรมการสภา มทร.สุวรรณภูมิ อีกแห่งหนึ่ง) ได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งเรียกค่าเสียหายของ มทร.ศรีวิชัย ต่อศาลปกครองสงขลา
7 มิ.ย. 2560 นายสุพร ฤทธิภักดี ประธานพิทักษ์ผลประโยชน์ กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการการะทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้ตรวจสอบอาคารและสิ่งก่อสร้างของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อาจจะมีการบุกรุกป่าชายเลนเพิ่มเติมหรือไม่ โดยระบุสิ่งก่อสร้าง 9 รายการ คือ บริเวณรีสอร์ทและแฟลต 5-6, บ้านพักข้าราชการ (บ้านเดี่ยว), แฟลตใหม่ 32 ยูนิต, หอพักนักศึกษาหญิง, สนามฟุตบอล และสระเก็บน้ำจืดด้านหน้า, อาคารวิศวกรรมประมง, ถนนสายหลัก และลาดยางบริเวณป่าชายเลนด้านหลังกลุ่มอาคารโรงแรม (อ่านประกอบ : กก.สภาฯยื่น รมว.ทส.สอบเพิ่ม 9 อาคาร มทร.ศรีวิชัย ตรัง รุกป่าหรือไม่)
8 มิ.ย. 2560 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาระหว่าง หจก.มหานครการช่าง (ผู้ฟ้องคดี) คู่สัญญาก่อสร้างกลุ่มอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยวของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ตามสัญญาเลขที่ สอ.งปม. 4/2550 ลงวันที่ 27 ก.ค. 2550 วงเงินค่าก่อสร้าง 125.9 ล้านบาท กับ มทร.ศรีวิชัย (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองสงขลา) เป็นให้ มทร.ศรีวิชัย ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ หจก.มหานครการช่าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48,091,638.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ หจก.มหานครการช่าง โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด กับให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ หจก.มหานครการช่าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น (อ่านประกอบ : ศาล ปค.สูงสุด สั่ง มทร.ศรีวิชัย ชดใช้ บ.รับเหมา 48 ล.หลังถูกระงับสร้าง รร.รุกป่า จ.ตรัง)
9 มิ.ย. 2560 คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชิญผู้เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล มี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการแทน พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ร่วมพิจารณาความเป็นมาของเรื่องทั้งหมดโดยในส่วนของคดีที่อดีตผู้บริหารถูกฟ้องเป็นคดีอาญานั้นอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ประธานที่ประชุมเห็นว่า อาจมีเงื่อนปมบางอย่าง ขอให้เอาสำนวนมาพิจารณา และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่
21 มิ.ย. 2560 คณะอนุกรรมการฯ ประชุมเป็นครั้งที่ 2 มี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน และ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธานอนุกรรมการฯ โดยที่ประชุมได้ข้อยุติว่า
1.จะส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาและจัดการแก้ไข
2.เสนอแนะให้หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายคือ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือผู้เสียหาย ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (ศาล ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลต่อไป (อ่านประกอบ : ส่งนายกฯฟัน มทร.ศรีวิชัย ตรังสร้าง รร.รุกป่าเสียหาย 66 ล.-เล็งฟ้องศาลคอร์รัปชัน)
22 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ปัจจุบัน อาคารโรงแรมดังกล่าวมีสภาพเป็นอาคารร้าง มีหญ้าขึ้นรก อุปกรณ์ต่างๆ ระบบไฟฟ้าถูกขโมยสูญหาย (อ่านประกอบ : ภาพซากโรงแรม มทร.ศรีวิชัย ตรัง จ่ายเงินแล้ว 66 ล. - เอาผิดใครไม่ได้)
26 มิ.ย. 2560 นายชากรี รอดไฝ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (นครศรีธรรมราช)ทำหนังสือถึงอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย แจ้งให้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เข้าตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องในวันที่ 28 มิ.ย. 2560
4 ก.ค. 2560 นายประชีพ ชูพันธ์ อดีตอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย ยืนยันว่าได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ยังไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ ยังไม่สบายใจที่จะให้ข่าว และเรียนตามตรงว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน ถูกลูกน้องรังแก เป็นเรื่องการเมืองภายในองค์กร (อ่านประกอบ : อ้างถูกลูกน้องรังแก! อดีตอธิการ มทร.ศรีวิชัย ยื่นฟ้องศาล ปค.ถอนคำสั่งชดใช้ 64 ล.)
7 ก.ค. 2560 พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป รองประธานกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทำหนังสือเชิญ นายสุวิทย์ จิตรภักดี ประธานหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการประมง, นายเรวัตร เจยาคม อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา และ นายสุพร ฤทธิภักดี กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการในวันที่ 14 ก.ค. 2560 (อ่านประกอบ : สปท.ชุดปราบทุจริตเรียกผู้ร้อง มทร.ศรีวิชัย-ตรัง ถกปมสิ่งก่อสร้างรุกป่ารอบ 3)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ระบุให้ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรฯ ต้องร่วมมือกันในการพิสูจน์ความจริง โดยเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นายเรวัตร เจยาคม ได้มอบให้แล้ว ทั้งนี้ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง และต้องสรุปรายงานส่งให้กรรมาธิการรับทราบก่อนวันที่ 31 ก.ค.นี้ โดยกรรมาธิการฯ จะรายงานให้นายกฯ ทราบ และจะติดตามต่อถึงแม้จะหมดวาระแล้วก็ตาม รวมถึงให้ DSI ทำหนังสือทวงคดีฮั้วประมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และให้คณาจารย์ตามคดีดังกล่าวที่ ปปช.ตรัง ด้วย หรือหากติดขัดข้อสงสัยให้ปรึกษา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และกำชับด้วยว่า ข้าราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันกำจัดคนทุจริต ส่วนเรื่องเครื่องที่อ้างว่า แผนที่คลาดเคลื่อนในตอนแรก ๆ ระบุอย่าอ้างว่าเครื่องมือไม่ทันสมัย เพราะสมัย ร.5 ยังทำแผนที่ได้ถูกต้อง แม่นยำ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน (อ่านประกอบ :สปท.กำชับ จนท.เร่งสางปม มทร.ศรีวิชัย-ตรัง รุกป่า จี้ DSI ทวงคดีฮั้วฯ ป.ป.ช.)
ขณะที่ นายสุพร ฤทธิภักดี ประธานกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้ว่า “จะต้องหาคนรับผิดชอบค่าเสียหายมิใช่มหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้จ่าย 21ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพิทักษ์ผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อเสนอแนวทางในการนำเงินมาชดใช้ในครั้งนี้ ซึ่งจะต้องมีคนรับผิดชอบ"
สรุป ณ ตอนนี้คือ เกิดความเสียหายขึ้นแล้วต่องบประมาณแผ่นดิน มีผู้รับผิดทางแพ่ง แต่คดียังไส่สิ้นสุด ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายในคดีอาญาและวินัย ยังไม่มีการลงโทษ และยังไม่มีใครติดคุก
ต้องติดตามต่อไป