...ดูเหมือนกิจกรรมนี้ จะเบียดบังเวลาว่างในชีวิตวัยรุ่น แต่เด็ก ๆ กลับคิดว่า นี่เป็นการผ่อนคลาย เพราะการตีกลอง การฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ดังเช่นในอดีต ที่บรรพบุรุษของชาวล้านนาใช้การตีกลอง และการฟ้อนดาบฟ้อนเจิงวอร์มร่างกายก่อนออกรบ เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม และมีกำลังใจ...
ขึ้นชื่อว่า “ของเก่า” ทั้งที่เป็นสิ่งของจับต้องได้ หรือที่เป็นวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม การแสดงหรือการละเล่นต่าง ๆ หากขาดคนรับช่วงสืบทอด ย่อมสูญหายเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะในยุคที่รอบตัววัยรุ่นมีแต่สิ่งเร้า การจะกระตุ้นหรือรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่มารับ “ภาระ” แทนคนรุ่นปู่ย่า ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
และสำหรับคนล้านนา เสียงที่เป็นมงคล 3 เสียง เสียงฆ้องเสียงกลอง เสียงมองตำข้าว และเสียงตุ๊เจ้าเทศน์ธรรม ซึ่งหากไม่นับ “เสียงมองตำข้าว”ที่หายไปตั้งแต่โรงสีข้าวเข้ามาในชนบท และสิ่งที่กำลังเบาเสียงลงก็คือ “เสียงฆ้องเสียงกลอง” ที่เป็นเสมือนอาณัติสัญญา การสื่อสารในพิธีกรรม บอกสัญญาณวันโกนวันพระ ให้ความบันเทิง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนหอก ฟ้อนลายการ ฟ้อนผางประทีป ก็เพราะขาดคนสนใจสืบทอด ประกอบกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ในการตีกลองปูจาต่างก็ทยอยจากไป
สถาพร จันต๊ะยอด หรือที่เด็ก ๆ เรียก “ครูอาร์ท” ก็เห็นปัญหานี้และเห็นปัญหาที่จะตามมาในอีกหลายอย่าง เพราะ “เสียงกลอง” ผูกโยงไปกับอีกหลาย ๆ เรื่อง พูดง่าย ๆ คือหากไม่มีการตีกลองให้จังหวะ การเต้น การฟ้อน ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน…
ครูอาร์ท จึงชวน เจ-อากิระ ฝีปากเพราะ ฟิว-วัชรพงษ์ พรมมา มิกซ์-ภูมิพันธ์ จันทร์งาม แป๊ป-ศุภกร ปาระ เสก-พสิษฐ์ สุทธการ เกมส์-สุรพงษ์ บุญรอด เกด-สวพล เทพอินทร์ ให้มาร่วมกัน “สืบทอดและถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน”
“เพราะเรื่องกลองปูจาเป็นวาระของจังหวัดที่กำลังต้องการการรื้อฟื้นให้คนรุ่นใหม่ได้มาสืบสาน และเห็นว่าเด็กๆ หลายคนมีศักยภาพ หลายคนก็สนใจสืบสานประเพณีคนรุ่นปู่รุ่นย่า จึงชวนมาฝึกตีกลอง มาหัดฟ้อน ดาบ ฟ้อนเจิง ทุกวันพระก็จะพาเด็ก ๆ ไปตีกลองในวัดใกล้ ๆ ผู้ใหญ่เห็นก็จะชื่นชม เด็ก ๆ ก็เกิดความภาคภูมิใจ”
แต่ความสนใจของเด็ก ๆ ไม่ใช่แต่ตีได้ ร่ายรำเป็น ครูอาร์ทบอกว่า เด็ก ๆ สนใจอยากมีความรู้เรื่องประวัติ เรื่องจังหวะระบำ การตี จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปสอบถามจากปราชญ์ในชุมชนแล้วนำมาบันทึกไว้ ดังนั้นในการสอนตี หรือสอนฟ้อนในแต่ละครั้งก็จะมีการสอดแทรกเรื่องราวประวัติความเป็นมาไปพร้อม ๆ กันด้วย ข้อมูลที่ได้รับทราบ กลายเป็นความรู้ติดตัวที่ทำให้เวลามีคนมาถามว่า ตีกลองปูจาเพื่ออะไร ทำไมต้องทำ ทีมงานทุกคนจะสามารถตอบได้อธิบายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมการยอมรับจากผู้คนในยามที่ต้องออกแสดงหรือช่วยกิจกรรมของชุมชน
กลองปูจา
ครูอาร์ทเล่าว่า การเรียนรู้เรื่องการตีกลองปูจา และฟ้อนดาบฟ้อนเจิง มีส่วนในการขัดเกลาให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนตนเองในหลายๆ ด้าน เช่น
"การที่เด็กมาเรียนเรื่องนี้ จะพัฒนาเด็กจากที่สังเกตคือ 1.ด้านกิริยามารยาท เราจะเน้นเรื่องกิริยามารยาทในการเข้าหาผู้ใหญ่ 2.สมาธิ พัฒนาสมาธิจากเด็กที่ลุกลี้ลุกลน อยู่กับอะไรได้ไม่นาน ก็จะจดจ่อมีสมาธิ เพราะว่าการตีกลองต้องใช้ทักษะของมือ การจำ และการฟ้อนก็เป็นเรื่องการจำ ซึ่งเป็นการพัฒนาสมาธิ และ3.จิตอาสา ทำให้เด็กไม่เก็บตัว ไม่ปิดกั้นตัวเอง เวลามีกิจกรรมในชุมชนเด็กก็สามารถเข้าไปเป็นตัวประสานในการดำเนินกิจกรรมได้ เด็กกล้าแสดงออก”
ครูอาร์ทสะท้อนว่า บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนนั้น ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะอดกลั้น อดทนต่อความอยากบอก อยากสอน โดยจะปล่อยให้เยาวชนได้คิดเองทำเองก่อน ส่วนการกระตุ้นนั้นจะทำเมื่อเห็นว่า เหนือบ่ากว่าแรง ก็จะเข้าไปแนะนำเพิ่มเติม หรือบางครั้งก็จะใช้วิธีการคุยตัวต่อตัวเพื่อปรับทัศนคติสำหรับเด็กบางคน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเห็นว่า มีสิ่งใดที่สามารถสอนได้บอกได้ก็จะสอนไปพร้อมๆ กัน เช่น เรื่องประวัติความเป็นมา ความสำคัญของท่ารำต่างๆ
สำหรับเด็ก ๆ เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะสืบสานและสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทำให้องค์ประกอบของทีมต้องประกอบด้วยเยาวชนหลายวัย ตั้งแต่น้องมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึง พี่ ๆ มัธยมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนั้นยังมีพี่ ๆ ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่ยังคงแวะเวียนเข้ามาช่วยสอน ช่วยดูแลน้อง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการสอนเพื่อนรุ่นน้องที่ได้ผลดี เพราะทำให้มีคนที่สามารถสืบทอดรุ่นต่อรุ่นได้โดยไม่ขาดตอน
เมื่อทีมครบ...เด็ก ๆ ก็ต้องรู้ว่า สิ่งที่ตัวเองกำลังรับภาระสืบสอดอยู่นั้น มีความหมายกับชีวิต และชุมชนอย่างไร
เด็ก ๆ จึงไปสัมภาษณ์คุณตาศรีลัย สุทธการ ครูภูมิปัญญาด้านกลองปูจา ทำให้รู้ประวัติความเป็นมา คุณค่าความสำคัญของกลองปูจาที่มีต่อคนล้านนา นอกจากคุณปู่ เด็ก ๆ ยังไปพูดคุย สอบถาม สัมภาษณ์ รวมทั้งสังเกตวิธีการหุ้มกลองปูจาในแต่ละขั้นตอนจากผู้ใหญ่ท่านอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อให้รู้วิธีการทำกลอง
การเก็บข้อมูลของเยาวชนรุ่นใหม่ อาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น การถ่ายทำวิดีโอ ซึ่งทำให้มีทั้งภาพและเสียง เก็บทั้งอารมณ์ความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูล การเข้าไปเรียนรู้จากของจริงในชุมชน ทำให้เข้าใจได้ว่า การตีกลองปูจานั้น ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เงื่อนไขด้านบุคลิกภาพเป็นตัวตัดสินว่า ใครจะสามารถตีกลองได้บ้าง คนที่ไม่สามารถตีกลองก็ต้องเลือกตีฆ้อง หรือตีฉาบ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดงที่มีความสำคัญเช่นกัน
จากการสอบถามพูดคุย เด็ก ๆ ได้สัมผัสถึงความเชื่ออันลึกซึ้งของภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ เช่น การทำกลองปูจาชุดหนึ่งที่มีกลองแม่และกลองลูก ต้องเลือกใช้ไม้ชนิดเดียวกัน และเป็นไม้ต้นเดียวกัน เพราะจะทำให้เสียงตีออกมาในโทนเดียวกัน หนังที่หุ้มกลองปูจาต้องเป็นหนังวัวหรือหนังควายเพศผู้เท่านั้น หรือการตีกลองปูจามี 2 รูปแบบคือ การตีชัยมงคล ซึ่งจะใช้ระบำสะบัดชัย ที่ในอดีตเป็นการตีเพื่อปลุกใจ สร้างความฮึกเหิม แต่ในปัจจุบันมักตีในการต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ในงานกฐิน ผ้าป่า หรืองานมงคลต่าง ๆ ส่วนการตีพุทธบูชาซึ่งจะตีในวันโกน (ก่อนวันพระ) โดยจะมีการตี 4 ระบำตามลำดับคือ สะบัดชัย ตุปี้สิก เสือขบช้าง และจบด้วยระบำล่องน่าน ในจังหวะที่กระชับเร็วและเร้าใจ และในวันพระยังมีการตีรับศีลหลังจากพระสงฆ์ได้เทศนาแล้วอีกด้วย
เมื่อรู้ซึ้งถึงคุณค่า และความหมาย การจะออกไปช่วยกันสืบทอด จึงไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ เด็ก ๆ จึงนัดหมายกันเพื่อเรียนการตีกลอง และการฟ้อน ทุกวันพฤหัสบดีหลังเลิกเรียน และวันเสาร์หลังจากเรียนพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกิจกรรมนี้ จะเบียดบังเวลาว่างในชีวิตวัยรุ่น แต่เด็ก ๆ กลับคิดว่า นี่เป็นการผ่อนคลาย เพราะการตีกลอง การฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ดังเช่นในอดีต ที่บรรพบุรุษของชาวล้านนาใช้การตีกลอง และการฟ้อนดาบฟ้อนเจิงวอร์มร่างกายก่อนออกรบ เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม และมีกำลังใจ
มิกช์ เล่าว่า รู้สึกสนุกกับการทำงานลักษณะนี้เพราะได้คุยแลกเปลี่ยน ได้อธิบายสิ่งที่ทำให้คนอื่นได้รับรู้ โดยส่วนตัวของมิกซ์เองบอกว่า ทำให้ตนเองกล้าแสดงออก ซึ่งสามารถปรับใช้ในการเรียน ที่ต้องมีการรายงานหน้าชั้นหรือการนำเสนอต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับเสกบอกว่า การได้เรียนรู้ การฟ้อนเจิง การตีกลองปูจา ทำให้สามารถนำไปต่อยอด เช่น ใช้ในการแสดง การสอนคนรุ่นหลังคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังการฝึกซ้อมถือเป็นการออกกำลังกาย เพราะได้ขยับตัวทำท่าทางต่างๆ ส่งผลทำให้สุขภาพดีขึ้นทั้งร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่ได้ผ่อนคลายจากความเครียด ความเมื่อยล้าจากการเรียน
การเรียนรู้ทั้งในมิติของความเป็นมา คุณค่า และการฝึกฝนลงมือทำจนตีได้ ฟ้อนเป็น ได้สร้างความผูกพันกับรากเหง้าที่เป็นตัวตนของคนเมืองน่านให้หยั่งรากฝังลึกลงในตัวของทีมงานทุกคน อย่างที่เกมส์สรุปบทเรียนการเรียนรู้ของตนเองว่า “รู้สึกภูมิใจเป็นคนเมืองน่าน เพราะเกิดมามีวัฒนธรรมที่อบอุ่น”
ถึงตอนนี้ เชื่อมั่นได้ว่า เสียงกลองปูจายังจะคงดังก้องอยู่คู่เชียงกลางและเมืองน่านไปอีกนานเท่านาน