ข้อมูลอีกด้าน!ปมสัญญาทาส'ผู้ประกาศข่าว'ยุคทีวีดิจิทัลได้เงิน3แสน/ด.-'ดัง'แล้วคิดแยกวง?
"..ก่อนที่เขาจะมาอยู่กับเรา ได้เงินเดือนแค่หลักหมื่นบาท แต่พอย้ายมาอยู่กับเรา เราก็ให้เขาเต็มที วันนี้ช่องโตขึ้น เขาก็โตขึ้นด้วย เราสร้างเขาขึ้นมา ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ก็ควรจะทำงานกันต่อไป แต่พอมาวันนี้ กับมีปัญหา มาบอกว่าไม่ทำงานด้วยกันแล้ว แบบนี้มันถูกต้องหรือ ทำไมไม่ช่วยกันทำงานต่อไป..."
"ข้อมูลที่นำเสนอไปไม่ถูกต้อง และมีความคลาดเคลื่อน ..ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากตัวของผู้ประกาศข่าวรายนี้เอง เขาไม่เป็นมืออาชีพพอ"
คือ ข้อมูลยืนยันล่าสุดที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องหนึ่ง
ภายหลังจากที่ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอรายงานเรื่อง เปิดสัญญาทาส 'ผู้ประกาศข่าว' ยุคทีวีดิจิทัล ได้เงิน3แสน/ด. ต้องเจออะไรบ้างรู้ไหม? ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปิดเผยข้อมูลการทำสัญญาว่าจ้าง 'ผู้ประกาศข่าว' ในยุคสื่อทีวีดิจิทัลของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีลักษณะเป็น สัญญาทาส ที่กำหนดให้ผู้ประกาศข่าว ต้องทำงานตามคำสั่งที่นายจ้างมอบหมายไว้ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อยกเว้น แม้กระทั่งการโฆษณาขายสินค้าให้กับสถานี ภายในช่วงระยะเวลาตามสัญญาจ้าง
หากใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถูกสั่ง "ห้ามอ่านข่าว" มีผลทำให้ไม่ได้รับเงินค่าจ้างที่จ่ายให้เป็นรายวันตามอัตราที่ตกลงกันไว้ และห้ามไปรับงานที่อื่น จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาว่าจ้างในสัญญา
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิทัลรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ประกาศข่าวรายหนึ่ง กำลังมีปัญหากับทางสถานี หลังจากทำงานมาประมาณ 3 ปี เหลือสัญญาว่าจ้างอีก 2 ปี โดยตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนการทำงานให้อัตราที่สูงถึงวันละ 1 หมื่นบาท จากการอ่านข่าวจำนวน 4 ชั่วโมงต่อ 1 วัน เมื่อครบหนึ่งเดือนจะจ่ายเงินค่าจ้างรวมให้ครั้งเดียว วันไหนไม่มาอ่านข่าวจะถูกหักเงิน จะจ่ายเงินตามวันที่มีการทำงานจริงเท่านั้น สิริรวมรายได้เฉลี่ยตกอยู่เดือนละประมาณ 3 แสนบาท!
โดยในการว่าจ้างงานผู้ประกาศข่าว รายนี้ จะมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุตำแหน่ง 'พิธีกร' ไม่ใช่ผู้ประกาศข่าว และจะต้องยินยอมทำงานทุกอย่างตามที่สถานีกำหนด ไม่เว้นแม้กระทั่งการเป็นพิธีกรดำเนินรายการโฆษณาขายสินค้าให้กับทางสถานี และผู้ประกาศข่าวไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาว่าจ้างที่ตกลงไว้ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ลงนามเป็นระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี
แต่ล่าสุด ผู้ประกาศข่าวรายนี้ ถูกสั่งห้ามมาอ่านข่าว เพราะมีความขัดแย้งในการทำงานหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการถูกบังคับให้ไปเป็นพิธีกรรายการขายโฆษณาสินค้าให้ จากช่วงแรกที่ตกลงแค่ให้มานั่งอ่านข่าวเท่านั้น
"ทางสถานี ไม่เคยบังคับให้ ผู้ประกาศข่าว ไปเป็นพิธีกรดำเนินรายการโฆษณาขายสินค้าให้"
คือ คำยืนยันของผู้บริหารในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องนี้ ที่ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศรา
ก่อนจะขยายความต่อว่า "ในการโฆษณาขายสินค้า เราจะดูว่าพิธีกรหรือผู้ประกาศข่าวรายไหน พอที่จะพูดถึงสินค้าตัวนี้ได้ สินค้าเหมาะสม เข้ากับเขาไหม ถ้าดูแล้วว่าทำได้ เราก็จะแจ้งให้รับทราบว่า สนใจที่จะมาพูดนำเสนอสินค้าตัวนี้หรือไม่ เป็นข้อตกลงให้ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบอยู่ ถ้าตกลงก็ทำกัน ไม่มีการบังคับว่าต้องทำตามนะ ต้องมาพูดนะ และที่สำคัญมีการจ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนส่วนนี้เพิ่มเติมให้อีก เหมือนกับกรณีออกงาน โชว์ตัวตามที่ต่างๆ ก็จะมีการจ่ายเงินค่าจ้างเพิ่มเติมให้ รวมถึงค่าน้ำมันด้วย"
"เพราะเราไม่ได้มองเขาแค่เป็นผู้ประกาศข่าว แต่มองว่าเขาเป็นศิลปินดาราในสังกัดของเราคน วิธีการตกลงเรื่องงานก็ทำแบบเดียวกัน"
"ดังนั้น เรื่องที่มีคนไปให้ข้อมูลว่า มีการบังคับให้มาขายสินค้าให้ ไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด เป็นการตกลงยินยอมทำงานเพิ่มเติมไว้เท่านั้น และก็ทำแบบนี้กันมาตลอด"
ส่วนสาเหตุจริงๆ ของปัญหาความขัดแย้งกับผู้ประกาศข่าวรายนี้ คือ อะไร นั้น
ผู้บริหารในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องนี้ ยืนยันว่า มาจากความไม่เป็นมืออาชีพของตัวผู้ประกาศข่าวรายนี้ เอง
"เขาขาดงาน ไม่มาทำงาน และก็มักจะมีปัญหากับเพือนร่วมงานตลอด เคยมาแจ้งว่า ไม่ถูกกับคนโน่นคนนี่ ทำงานร่วมกันไม่ได้ เราก็ยอมให้ไปหลายครั้ง เปลี่ยนตัวไม่ให้มาชนกัน แก้ไขปัญหาให้ตลอด แต่เขาก็ยังทำตัวมีปัญหามาตลอด จนกระทั่งมาหยุดงานไป เราก็พยายามตามให้กลับมาทำงาน บอกให้มาคุยกัน แต่ก็ติดต่อไม่ได้
"ซึ่งการที่เขาหยุดงานไป ไม่มาทำมันเป็นปัญหามาก มันมีผลกระทบกับคนอื่น เราต้องไปหาคนมาทำงานแทน ทีมงานเดือดร้อนมีปัญหา แบบนี้มันถูกต้องหรือ"
"ล่าสุดเขาก็ไปโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ไปบอกว่าถูกห้ามไม่ให้มาอ่านข่าวแล้ว และถูกดอง ไปพูดแบบนั้น มันเสียหายมาก ทำให้บริษัทเสียหาย ทำแบบนี้ ถือว่าเขาไม่เป็นมืออาชีพเลย"
เมื่อย้อนถามถึงเงื่อนไขในสัญญา เรื่องการจ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนเป็นรายครั้ง ไม่ใช่เป็นรายเดือน และห้ามไปทำงานที่ไหน จนกว่าจะครบระยะเวลาในสัญญา ว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
ผู้บริหารในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลนี้ ระบุว่า สัญญาตัวนี้ เป็นสัญญาแบบเดิม ที่ทำไว้ตั้งแต่ตอนสมัยที่ช่องทีวียังเป็นเคเบิลอยู่ เรามีการดูรายละเอียดเปรียบเทียบเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าจ้าง ของช่องอื่นๆ มาพิจารณาประกอบด้วย หลายๆ ช่องก็ทำกันเป็นแบบนี้
"ก่อนที่เขาจะมาอยู่กับเรา ได้เงินเดือนแค่หลักหมื่นบาท แต่พอย้ายมาอยู่กับเรา เราก็ให้เขาเต็มที วันนี้ช่องโตขึ้น เขาก็โตขึ้นด้วย เราสร้างเขาขึ้นมา ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ก็ควรจะทำงานกันต่อไป แต่พอมาวันนี้ กับมีปัญหา มาบอกว่าไม่ทำงานด้วยกันแล้ว แบบนี้มันถูกต้องหรือ ทำไมไม่ช่วยกันทำงานต่อไป"
เมื่อถามว่า คิดว่ามีช่องใหม่มาติดต่อให้ไปทำงานด้วย?
ผู้บริหารในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลรายนี้ ตอบว่า "เรื่องนี้เราไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมาเราก็พยายามติดต่อเขามาตลอด แต่ก็ติดต่อไม่ได้ และเขายังเคยมาขู่เราว่า จะเอาเรื่องนี้ไปเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ด้วย นั้นคือสิ่งที่เขาบอกเรา"
เมื่อถามว่า สถานการณ์ตอนนี้ ผู้ประกาศข่าว สามารถเจรจาที่จะขอยกเลิกสัญญาได้หรือไม่ ถ้าไม่พอใจที่จะทำงานร่วมกันแล้ว ปล่อยตัวไปได้หรือไม่
ผู้บริหารในสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลรายนี้ ตอบว่า "ตอนนี้ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว ถือว่าบริษัทได้รับความเสียหายมาก ไม่รู้ว่าเขาไปพูดกับใครบ้าง และมันเป็นเรื่องของสัญญา ยังไงก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ก็ต้องอยู่กันไปแบบนี้ ตามเงื่อนไขสัญญาที่เหลือ"
"จริงๆ แล้วเรื่องสัญญาว่าจ้าง ทางบริษัทฯ เคยคิดกันว่า จะปรับปรุงรายละเอียดใหม่อยู่แล้ว เพราะรูปแบบสัญญาเดิมใช้กันมานานแล้ว แต่ตอนนี้ สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลง ก็กำลังดูกันอยู่ว่าจะปรับปรุงแก้ไขใหม่กันอย่างไร ทางบริษัทก็มีการคิดเรื่องนี้กันอยู่เหมือนกัน"
ทั้งหมดนี้ คือ คำชี้แจงข้อมูลอีกด้าน จากฝั่งสถานีทีวีดิจิทัล ที่พอจะทำให้สาธารณชนได้เห็นภาพข้อเท็จจริงที่ซ้อนกันอยู่ในเรื่องนี้มากขึ้น
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขสัญญาว่าจ้างผู้ประกาศข่าว ที่ถูกมองว่าเป็นสัญญาทาส ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้ ว่า มีจุดข้อสังเกตที่น่าสนใจอะไรบ้างนั้น
'อิศรา' จะนำข้อมูลมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ แบบชัดๆ ในตอนต่อไป