เจ้าพระยา...กับการพัฒนาเมือง ชงรื้อโครงสร้างจัดการน้ำ รวบเหลือองค์กรเดียว ยก ‘อังกฤษ’ ต้นแบบ
ทีดีอาร์ไอ จัดเสวนา ถนนเลียบเจ้าพระยา จะพัฒนากันอย่างไร 'ดร.อดิศร์' ชี้ไทยยังขาดการมองระบบนิเวศภาพรวม เสนอปฏิรูปโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการเเม่น้ำ-ลำคลอง ยกโมเดล 'อังกฤษ' ตั้งหน่วยงานเดียว 'สนง.กองทุนเเม่น้ำลำคลอง' ดูเเลทั้งระบบ
ปี 2560 รัฐบาลภายใต้การนำรัฐนาวาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแผนจะเริ่มตอกเสาเข็มโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ทางเดิน-ปั่น เลียบแม่น้ำ) เพื่อหวังส่งเสริมศักยภาพพัฒนาการท่องเที่ยวให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียม
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กทม.ได้เข้ารื้อย้ายบ้านเรือนในชุมชนเขียวไข่กา เพื่อก่อสร้างเขื่อนและปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม รองรับโครงการพัฒนาฯ ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเสียงสะท้อนตามมาถึงแนวทางในการพัฒนาอาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงจัดเสวนา เรื่อง ถนนเลียบเจ้าพระยา จะพัฒนากันอย่างไร ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดยผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ ให้มุมมองการบริหารจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยยังแยกส่วนกัน โดยจะเห็นได้ว่า กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน ทำให้ภารกิจในการบริหารจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาสะเปะสะปะ
ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างต้องการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเช่นกัน แต่มีรูปแบบไม่เหมือนกัน ทำให้โอกาสเห็นแม่น้ำสายนี้ตอบสนองความต้องการของคนไทยเกิดขึ้นได้ยาก
“น่าจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ ให้มีการปฏิรูประบบบริหารจัดการดูแลแม่น้ำสายหลักของไทย โดยการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกันให้เป็นองค์กรเดียว ทั้งหมดเหล่านี้ต้องการสะท้อนไปยังรัฐบาลว่า หลังจากปฏิรูปตำรวจเสร็จแล้ว ให้ลองมาปฏิรูปเรื่องนี้กันบ้าง”
ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างความสำเร็จของ ‘อังกฤษ’ ที่มีองค์กร Canal & River Trust หรือสำนักงานกองทุนแม่น้ำลำคลอง ทำหน้าที่ดูแลแม่น้ำสายหลักทั้งหมดของประเทศกว่า 2 พันไมล์ ให้อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว มีลักษณะคล้ายกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
องค์กรดังกล่าวทำหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่เรื่องสะพาน คลอง อ่างเก็บน้ำ ระบบระบายน้ำ ท่าเรือ การเดินเรือ พื้นที่ขยะ ของเสีย การอนุรักษ์สัตว์น้ำ อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว สันทนาการ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตลิ่ง แม่น้ำ และสถานีสูบน้ำ
ทั้งนี้ การบริหารจัดการมิได้เน้นเฉพาะเชิงโครงสร้างอย่างเดียว แต่องค์กรจะสามารถสร้างรายได้จากการลงทุน เช่น ธุรกิจเดินเรือ จำหน่ายน้ำ กล่าวคือ ใครจะสูบน้ำจากแม่น้ำไปใช้จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ไทยให้ใช้ฟรี หรือกรณีเขื่อนภูมิพลนำน้ำมาปั่นกระแสไฟฟ้าจำหน่าย แต่กลับพบว่า รายได้เหล่านั้นกลับไม่นำมาพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา
“แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ของคนกรุงเทพฯ แต่เป็นระบบนิเวศใหญ่ของคนไทยทุกคน ที่ผ่านมาหลายสิบปีขาดหน่วยงานดูแลโดยตรง ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้สร้างองค์กรบริหารจัดการแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรรับ อาจมีผู้แทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและนำรายได้มาพัฒนาแม่น้ำและคลองสาขา” ดร.อดิศร์ ระบุ
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพเเห่งประเทศไทย
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ฉายภาพให้เห็นถึงตัวอย่างการสร้างทางจักรยานเลียบแม่น้ำใน ‘ไทเป’ มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณชน โดยในปี 2550 รัฐบาลเสนอแผนการก่อสร้าง ซึ่งมีรูปแบบตอกเสาลงไปในแม่น้ำคล้ายกับไทยตอนนี้ ซึ่งคนไทเปเดิมไม่คัดค้าน แต่คนไทเปใหม่ ซึ่งอาศัยฝั่งตรงข้ามแม่น้ำคัดค้าน เพราะกังวลจะกระทบกับภูมิทัศน์ และเสี่ยงเกิดน้ำท่วม ทำให้มีการยกเลิกแผนในปี 2551
กระทั่งปี 2552 มีการพูดคุยกันอีกครั้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และมีข้อสรุปยอมรับแผนทางเลือก โดยการสร้างทางจักรยานเลียบแม่น้ำบนบก ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มิได้โยนลงมาจากผู้บริหารประเทศว่าอีก 4 ปีจะประมูล เพราะเป็นเช่นนั้นจริงเชื่อว่าจะไปไม่รอด
“ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีทางจักรยานเลียบแม่น้ำได้ เพราะประเทศเหล่านั้นมีพื้นที่ราบริมแม่น้ำอยู่แล้ว และประชาชนส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานห่างออกไป ขณะที่ไทยใช้ชิวิต ปลูกบ้านริมน้ำมาตั้งแต่อดีต จึงไม่มีที่ราบริมแม่น้ำอย่างต่างประเทศ ดังนั้น การพัฒนาโครงการฯ ตามแบบอย่างดังกล่าวจึงทำไม่ได้ เพราะบริบทแตกต่างกัน”
ถามว่า มีประเทศใดในโลกบ้างก่อสร้างทางจักรยานลงไปในแม่น้ำ ประธานชมรมจักรยานฯ บอกมี ‘จีน’ แต่สร้างในระยะทางสั้น ๆ ไม่ได้สร้างระยะทางมากถึง 14 กม. เหมือนไทยที่คิดเพียงเรื่องโครงสร้างขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ยังเห็นว่าควรให้มีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment :EIA) แม้กฎหมายจะไม่ระบุไว้ก็ตาม
ทางจักรยานริมเเม่น้ำบนสะพานที่เเยกตัวจากส่วนเเผ่นดินในกวางโจว ประเทศจีน
ขณะที่ สาธิต ดำรงพล ชาวชุมชนบางอ้อ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโครงการฯ ว่า คน กทม.เสียผลประโยชน์ยังพอรับได้ แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ ทันทีที่เสาตอม่อถูกตอกลงในแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. จะทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนไป ไหลเชี่ยวมากขึ้น มีขยะติดค้าง ถามว่า ใครจะมาเก็บขยะเหล่านี้ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย
“เคยนั่งมองแม่น้ำได้ ตอนนี้นั่งมองกำแพง ไม่มีแม่น้ำ เหมือนอยู่ในคุก หากสร้างทางเลียบริมแม่น้ำต่ำกว่าเขื่อน คนอาจจะปีนขึ้นมาได้ แล้วจะหาความปลอดภัยได้จากที่ไหน” ชาวชุมชนบางอ้อ กล่าว และว่า ผู้ใหญ่ใน กทม.พูดว่า ปัจจุบันคนริมแม่น้ำรักษาความปลอดภัยกันเองอยู่แล้ว ขอให้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยอีกหน่อยไม่ได้หรือ ถามว่า นี่คือการแก้ไขปัญหาของบุคคลที่เราเสียภาษีจ้างมาทำงานให้ประชาชน พูดแล้วกลุ้มใจประเทศไทย .