'หมอเกรียงศักดิ์' ชู 3 หัวใจบัตรทอง ฉะแก้กฎหมายถอยหลังเข้าคลอง
ประธานชมรมแพทย์ชนบท ย้ำหัวใจบัตรทอง ต้องเป็นธรรม-เสมอภาค-มีประสิทธิภาพ ฉะแก้กฎหมายแทนที่จะทำให้ดีขึ้นกลับถอยหลังเข้าคลอง
เมื่อเร็วๆ นี้ ในการเสวนา "แก้ กม. บัตรทองอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์" ณ โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท หนึ่งในผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้เน้นย้ำถึงหัวใจสำคัญของบัตรทองว่า ต้องเกิดความเป็นธรรม มีความเสมอภาคในทุกมิติอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หมายถึงเม็ดเงินงบประมาณที่เพียงพอ และสุดท้ายคือต้องมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าไม่มีวิธีการควบคุมที่ดีพอต่อให้มีเงินลงมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ
ต่อรองราคา 'เข้าถึงยา' ได้
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในอดีตยามีราคาแพงเพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือผู้ซื้อบริการ แต่อยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยเกิดปรากฏการณ์โกงการจัดซื้อยา หรือเมื่องบประมาณรถพยาบาลมาก็โกงเรื่องรถพยาบาล หรืออาจมีการซื้อของที่ไม่จำเป็น โดยตั้งราคาที่สูงเกินความเป็นจริงเพื่อบังคับเรียกส่วนต่างในการเอาเงิน ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน สีไหนก็เป็นเหมือนกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้นำไปสู่การที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงยาหรือบริการได้
"ความแตกต่างเปรียบเทียบกันเมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เห็นชัดคือ กรณีที่เราทำ CL (compulsory licensing - มาตรการใช้สิทธิ์เหนือสิทธิบัตรยาเพื่อให้ได้ยาราคาถูก) ยาละลายลิ่มเลือดสำหรับคนไข้หัวใจที่คนไข้ต้องกินตลอด ในขณะนั้นยาราคา 70 กว่าบาทต่อเม็ด แต่เมื่อทำ CL ยา ตอนที่ต่อรองครั้งแรก ปกติเขาไม่มีทางลดราคาต่ำลงกว่าครึ่ง แต่พอทำตรงนี้เขาขอลดลงเหลือ 10 บาท เมื่อมีตรงนี้อำนาจต่อรองมันเกิดขึ้น"
เช่นเดียวกับกลุ่มคนไข้ต้อกระจก นายแพทย์เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ถึงปัจจุบันสามารถผ่าเลนส์ตาได้นับล้านดวงและกำลังต่อรองจากเลนส์ 1 ข้าง ราคากว่าหมื่นบาท ให้เหลือ 2,800 บาท หลักการที่สำคัญก็คือต้องให้บริการประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ภายใต้มาตรฐานที่ไม่ใช่ต้องดีที่สุด แต่เป็นมาตรฐานที่รับได้
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการจัดซื้อยาหลักแห่งชาติจะมีคณะกรรมการที่จัดตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรีองค์ประกอบที่สำคัญของคณะกรรมการยาหลักแห่งชาติคือการมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นหลักในการพิจารณาเรื่องนั้น และมีราชวิทยาลัยต่างๆมาช่วยในการกลั่นกรองความจำเป็นของยาที่ต้องใช้ ซึ่งส่วนนี้คืองบประมาณที่กันไว้ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น แต่สามารถต่อรองราคาทำให้ประหยัดลงมาได้ถึงปีละ 5,000 ล้านบาท แต่หากให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดซื้อยาจัดซื้อยา เมื่อรัฐมนตรีสั่งข้าราชการประจำได้ก็เคยมีคดีโกงการจัดซื้อยา 1,400 ล้านบาทมาแล้ว
"ที่ สปสช.สามารถต่อรองราคาได้ สมมติซื้อเลนส์ต้อกระจก ถ้าต่างคนต่างทำอาจจะผ่าได้แค่หลักพันราย แต่เมื่อ สปสช.ไปต่อรองว่าจะมีโครงการผ่ามากกว่าปีละ 100,000 -120,000 ราย ปีหนึ่งพันรายกับปีหนึ่งแสนรายราคาต่างกันทันที ก็สามารถลดราคาลงมาได้ เป็นการต่อรองที่ผู้ขายก็มั่นใจว่าซื้อแน่ ส่วนเจ้าอื่นกลัวขายไม่ได้ ราคาก็ลดลงตามมาโดยปริยาย เหมือนผลิตโมเดลโทรศัพท์มือถือ สมมติมีค่าออกแบบหนึ่งหมื่นบาท ถ้าผลิตหนึ่งเครื่องก็ราคาหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าผลิตหมื่นเครื่องเหลือเท่าไหร่ บาทเดียว ถ้าผลิตเป็นแสนเครื่องก็ลดลงได้อีกใช่ไหม นี่คืออำนาจของผู้ซื้อในการเจรจา"
'แยกเงินเดือน' ยิ่งแย่
สิ่งที่กังวลในการแก้กฎหมายครั้งนี้ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า การแยกเงินเดือนเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ยืนยันว่าแยกไม่ได้ เพราะถ้าไม่รวมเงินเดือนกับเงินรายหัวประชากร หากมีความต้องการย้ายจากชนบทไปอยู่ในเมือง โรงพยาบาลในเมืองจะรับทันทีเพราะไม่ต้องมีภาระสำนึกทางการเงิน ยอมรับว่าโรงพยาบาลในชนบทจะไม่สามารถดึงบุคลากรให้อยู่ได้ แต่การมีตรงนี้จะช่วยชะลอเวลาการไหลออกได้
"ที่โรงพยาบาลชุมแพที่ตอนผมอยู่ใหม่ๆ มีหมอแค่ 7 คน ดูแลประชากร 120,000 คน พอจัดเขตจังหวัดด้านสุขภาพใหม่ตอนนี้มีหมออยู่ 40 คน มีเครื่องล้างไต 16 เครื่อง มีเครื่องซีทีสแกนตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เราต้องจัดระบบใหม่ หมอที่โรงพยาบาลก็ให้บริการตรงนี้ได้อย่างดี เพราะเรามองว่ามันคือสิทธิชาวบ้าน แล้วดีกับหมอตรงไหน ดีเพราะหมอไม่ถูกกีดกันห้ามใช้เครื่องมือเหล่านี้เพราะแพง จะรักษาเหมือนเขาคือพ่อแม่พี่น้องคนหนึ่งไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตาม"
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมแพ เป็นโรงพยาบาลอำเภอที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีอาจารย์แพทย์ทำเรื่องระบบประสาทศัลยกรรม การมีเครื่องซีทีสแกน สามารถรักษาโรคเส้นเลือดตีบอุดตันในสมอง ได้จนเป็นที่ดูงานของโรงพยาบาลศูนย์ต่างๆ ในอดีตหากมีคนไข้โรคเส้นเลือดตีบอุดตันในสมองพยากรณ์ไว้ได้เลยว่าใน 3วันกลายเป็นสภาพผัก(ภาวะสมองสูญเสียการรับรู้ ความเข้าใจ การตอบโต้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา)แต่ใน 6 เดือนแรกหลังมีเครื่องซีทีสแกนมีคนไข้มารักษา 24 คน และรักษาได้ผลสัมฤทธิ์มากถึง 23 คน
"ถามว่าเงินพอไหม พูดตรงๆ ติดลบ แต่จะบอกว่าเงินที่ติดลบนั้นคือเงินที่ลงทุนพัฒนาโรงพยาบาล เพราะกระทรวงไม่ให้งบประมาณ แต่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำ ไม่เคยบอกว่าขาดทุนเพราะ 30 บาท เพราะเม็ดเงินก้อนอื่นมันมีอยู่ ถามว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ดีขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ในอนาคตทรัพย์สินโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 300-400 ล้านบาท จากโรงพยาบาล 120 เตียง ภายในอีกสองปีข้างหน้าจะกลายเป็น 400 กว่าเตียง"
ถ้าแก้ต้องดีกว่าเดิม
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ย้ำในช่วงท้ายว่า หากจะมีการแก้ไขหลักประกันสุขภาพ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และประสิทธิภาพ 3 หัวใจหลักต้องดีขึ้น เรามาไกลมากแล้วแทนที่จะแก้ให้ดีขึ้น มันถอยหลังเข้าคลอง เหตุผลไม่มีเลย อย่างเรื่องปรับสัดส่วนบอร์ด สปสช.เดิมมีภาครัฐส่วนหนึ่ง ประชาชนส่วนหนึ่ง ผู้ให้บริหารส่วนหนึ่ง แต่จะไปปรับไปเอียงน้ำหนัก ใครๆ ก็รู้ระบบการจัดการตรงนี้ทำผ่านบอร์ด ถ้าไปกำหนดสัดส่วนที่เอียงก็ไปรื้อมาใหม่ได้เช่นเรื่องการร่วมจ่าย หรือห้ามให้บริการตรงนั้นตรงนี้ มันต้องมีสัดส่วนที่ถ่วงดุลกันได้ แค่คิดก็ผิดแล้วที่ให้เหตุผลว่า เราเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ถูกบังคับให้เข้าร่วมต้องดูแลประชาชนบัตรทอง ดังนั้นต้องเปลี่ยนสัดส่วน เปิดโอกาสให้เราปลดล็อค ไม่ต้องดูแลบัตรทองได้ไหม
"ผมไม่เข้าใจ อะไรทำให้คิดไปได้ขนาดนั้น เหมือนกรณีหมอตาคนหนึ่งที่ผ่าตัดตาเสร็จแล้วเอาออก เพราะพบว่าคนไข้ไม่มีจ่าย นี่เรื่องเกิดขึ้นจริง แต่ผมไม่เคยโทษที่ตัวหมอเลย ผมโทษที่ระบบที่บ้านเรามีเม็ดเงินแต่ไม่สามารถนำไปสู่ตรงนี้ได้ ข้าราชการต้องอยู่กับประชาชนเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำ มันแยกกันไม่ออก หน้าที่คุณ คุณมีเงินเดือนมีเกียรติทุกวันนี้เพราะชาวบ้านจ่ายให้ภาษีให้ และอยากสื่อถึงรัฐบาลด้วยว่ามันไกลกว่าเรื่องการเมืองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคไปแล้ว" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.bangkokbiznews.com