ตามไปดู 'บ้านประชารัฐ ริมคลอง' ระวังแก้น้ำท่วมไม่ได้ แถมเพิ่มปัญหาหนี้สิน?
"...บ้านบางหลังยังมีโครงสร้างของบ้านอย่างเช่นเหล็กโผล่ออกมาจากด้านข้างของบ้าน ด้านข้างของบ้านบางหลังนั้น มีสภาพลักษณะคล้ายว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังไม่มีการทาสีแต่อย่างใด นอกจากนี้บริเวณหน้าบ้าน มีการขุดดินเพื่อวางท่อน้ำ ที่อยู่ในสภาพยังไม่แล้วเสร็จ เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านต้องนำแผ่นไม้มาวางพาด เพื่อทำเป็นทางเดินเข้าบ้าน จากการสอบถามจากชาวบ้านที่อาศัยในบ้าน ได้รับแจ้งข้อมูลว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างบ้านนั้น ได้หยุดการก่อสร้างมานานเกือบเดือน และได้บอกว่าจะเข้ามาดำเนินการทำท่อน้ำบริเวณหน้าบ้านให้แล้วเสร็จ แต่ก็ยังคงไม่มาดำเนินการจนถึงทุกวันนี้.."
จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ปี 2554 หลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหายอย่างหนัก
ขณะที่การวางแผนหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นมาอีก ก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการสืบต่อเนื่องในรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา
ในยุคการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมเช่นกัน
คือ นโยบายการป้องกันน้ำท่วม ด้วยการสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กตามแนวคลอง ในเขตพื้นที่กทม. เพื่อการระบายน้ำที่คล่องตัว และไหลออกสู่ทะเลในที่สุด
โดยแนวทางการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมดังกล่าว จะสร้างตั้งแต่คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม ซึ่งปรากฎชื่อ บริษัทริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินการสร้าง หลังชนะประมูลได้งานในวงเงิน 1,645 ล้านบาท จะเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2559 จนถึงวันที่ 27 มิ.ย.2562 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 1,260 วัน
อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมดังกล่าว ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยบริเวณริมคลองพื้นที่เป้าหมายโครงการได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ มีชาวบ้านเข้าไปก่อสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลงไปในคลอง รวมถึงที่ดินของกรมธนารักษ์ด้วย
ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จึงได้จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ภายใต้ชื่อโครงการ “บ้านประชารัฐ ริมคลอง” เพื่อรองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนฯ และเพื่อเป็นการจัดระเบียบชุมชนริมคลองใหม่เช่นกัน
รูปแบบแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่กำหนดไว้ คือ 1. รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้าง ซึ่งชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ แต่จะมีการจัดผังชุมชนใหม่ 2.หากที่ดินไม่เพียงพอ จะมีการจัดหาที่ดินใหม่ ในรัศมี 5-10 กิโลเมตร จากชุมชนเดิม และ 3. จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร เป็นต้น
ล่าสุดในช่วงเดือนมิ.ย.2560 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ แจ้งสื่อมวลชน เกียวกับข่าวการเดินทางไปเป็นประธาน ยกเสาเอกสร้างบ้านสหกรณ์เคหสถานริมคลองสองฯ 356 ครัวเรือน ของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อเพื่อป้องกันน้ำท่วม และให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการ “บ้านประชารัฐริมคลอง” เพื่อรองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน โดยรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิม หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่เพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ ซึ่งในขณะนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้เริ่มดำเนินการแล้วในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ ระยะเวลา 3 ปี มีเป้าหมาย 52 ชุมชน จำนวน 7,081 ครัวเรือน ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้วจำนวน 763 ครัวเรือน
สำหรับชุมชนทั้ง 9 ชุมชนที่จะปลูกสร้างบ้านในที่ดินใหม่ ประกอบด้วย ชุมชนเลียบคลองสอง 167 ครัวเรือน, ชุมชนประชานุกูล 32 ครัวเรือน, ชุมชนพัฒนาหมู่ 1 45 ครัวเรือน, ชุมชนพัฒนาหมู่ 2 8 ครัวเรือน ,ชุมชนเพิ่มสินถมยา 30 ครัวเรือน, ชุมชนเพิ่มสินร่วมใจ 28 ครัวเรือน, ชุมชน กสบ.หมู่ 5 29 ครัวเรือน, ชุมชนสายไหมพัฒนา 5 ครัวเรือน และชุมชนหลังซอยแอนเน๊กซ์ 12 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 356 ครัวเรือน ส่วนแบบบ้านเป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาดบ้าน 4 X 7 ตารางเมตร ราคาบ้าน 212,620 บาท ราคาที่ดิน 253,905 บาท รวมราคาต่อหลัง 466,525 บาท
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. สนับสนุนสินเชื่อในการซื้อที่ดินจำนวน 90.3 ล้านบาท และงบก่อสร้างบ้าน รวม 356 หลัง จำนวน 37.3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภคในชุมชน รวม 17.8 ล้านบาท อุดหนุนที่อยู่อาศัย รวม 8.9 ล้านบาท งบบริหารจัดการ 5% รวม 5 แสนบาท งบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวม 25.6 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณทั้งหมด 180.4 ล้านบาท
ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีต ซึ่งบริษัทริเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท ระยะทางทั้ง 2 ฝั่ง รวม 45 กิโลเมตรเศษ เริ่มจากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำเข้าสู่อุโมงค์พระราม 9 และอุโมงค์บางซื่อ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและลงทะเล ขณะนี้ตอกเสาเข็มเพื่อเป็นฐานรากในการสร้างเขื่อนได้แล้วประมาณ 10,000 ต้น จากทั้งหมดจำนวน 60,000 ต้น ซึ่งตามแผนงานบริษัทมีเป้าหมายจะตอกเสาเข็มให้เสร็จทั้งหมดภายในปี 2560 นี้ หลังจากนั้นจึงจะก่อสร้างพนังเขื่อนและรั้วเหล็กกันตกให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในเดือนมิถุนายน 2562
ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลโครงการ“บ้านประชารัฐริมคลอง” ในพื้นที่เป้าหมายโครงการหลายชุมชน
เริ่มต้นจากในส่วนชุมชนวังหิน เขตจตุจักร พบว่า มีการสร้างบ้านตามโครงการ “บ้านประชารัฐ ริมคลอง” จำนวน 14 หลัง ซึ่งมีชาวบ้านได้เข้าอยู่อาศัยทุกหลัง โดยลักษณะของบ้านเป็นปูน 2 ชั้น ถูกตกแต่งด้วยการทาสี คล้ายกับเป็นการแบ่งพื้นที่ของบ้านในแต่ละหลัง
อย่างไรก็ตาม บ้านบางหลังยังมีโครงสร้างของบ้านอย่างเช่นเหล็กโผล่ออกมาจากด้านข้างของบ้าน ด้านข้างของบ้านบางหลังนั้น มีสภาพลักษณะคล้ายว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังไม่มีการทาสีแต่อย่างใด นอกจากนี้บริเวณหน้าบ้าน มีการขุดดินเพื่อวางท่อน้ำ ที่อยู่ในสภาพยังไม่แล้วเสร็จ เป็นเหตุทำให้ชาวบ้านต้องนำแผ่นไม้มาวางพาด เพื่อทำเป็นทางเดินเข้าบ้าน
จากการสอบถามจากชาวบ้านที่อาศัยในบ้าน ได้รับแจ้งข้อมูลว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างบ้านนั้น ได้หยุดการก่อสร้างมานานเกือบเดือน และได้บอกว่าจะเข้ามาดำเนินการทำท่อน้ำบริเวณหน้าบ้านให้แล้วเสร็จ แต่ก็ยังคงไม่มาดำเนินการจนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ แม้ว่าชุมชนวังหินจะมีการสร้างบ้านประชารัฐ ริมคลอง ขึ้นแล้วก็ตาม แต่การสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น ยังคงไม่มีการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้น มีเพียงแค่นำเสาปูนมาวางเท่านั้น (ดูภาพประกอบ)
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ เขตจตุจักร ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ถัดจากชุมชนวังหิน พบว่า ยังไม่มีการก่อสร้างใด ๆ เกิดขึ้น ทั้งการสร้างเขื่อนฯ และบ้านประชารัฐ ริมคลอง นอกจากการทุบบ้านบริเวณทางเข้าชุมชนเท่านั้น (ดูภาพประกอบ)
นางสมศรี มาทัต ชาวบ้านในชุมชนหลังกรมวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ยังไม่มีการก่อสร้างบ้าน เนื่องจากติดปัญหาอย่างฝนตก ระดับความสูง แต่คาดว่าน่าจะดำเนินการสร้างบ้านภายใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากในสัญญาได้ระบุว่า จะต้องสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม นี้
“บ้านประชารัฐ ริมคลอง ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ สำหรับตนและชาวบ้าน แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินค่าบ้านนานถึง 30 ปี แต่นั้นก็ทำให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมตนและชาวบ้านนั้น ได้ขอกับทางรัฐบาลเพื่ออยู่อาศัย ที่เป็นการอยู่แบบผิดกฎหมาย”
ส่วนชุมชนกสบ. หมู่ 5 และ ชุมชนศาลเจ้าพ่อบุญสม ในเขตสายไหม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีการก่อสร้างบ้านเฟสหลายหลังเสร็จสิ้นแล้ว (ดูภาพประกอบ)
@ ชุมชน กสบ.หมู่5
@ ชุมชนศาลเจ้าพ่อบุญสม
นายสมชาย แซ่ลิ่ม หัวหน้างานการก่อสร้างบ้านชุมชนศาลเจ้าพ่อบุญสม ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการบ้านประรัฐ ริมคลอง ได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559 ในช่วงเดือนเมษายน โดยบ้านจะมีทั้งหมด 3 ไซต์ คือ 1. ไซต์ S ลักษณะของบ้านจะเป็นชั้นเดียว ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 183,000 บาท 2.ไซต์ M ลักษณะของบ้านจะเป็นสองชั้น ขนาด 4 x 6 เมตร ราคาประมาณ 285,000 บาท และ 3. ไซต์ L ลักษณะของบ้านจะเป็นสองชั้น ขนาด 6 x 6 เมตร ราคาประมาณ 360,000 บาท
ในการสร้างบ้านนั้น จะมีเพียงโครงสร้างของบ้านอย่างเช่น ประตู หน้าต่าง ไฟฟ้า ประปา และสุขภัณฑ์ห้องน้ำอย่างชักโครกในห้องน้ำให้เท่านั้น
ส่วนการตกแต่งภายในบ้าน ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเอง เช่นเดียวกับการจัดหาผู้รับเหมาเข้ามารับงาน
สำหรับผู้รับเหมาที่เข้ามารับงานก่อสร้างบ้าน คือ นายธนวัฒน์ ยังประยูร หรือพี่แดง และพันโทสมชาย (ไม่ทราบนามสกุล)
นายสมชาย ยังระบุด้วยว่า “การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเขื่อนที่สร้างนั้นต่ำไป แต่ทางเราได้ยกระดับตัวบ้านให้สูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 40-50 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาได้บ้าง”
ขณะที่นางณิชากร อิ่มสิน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนศาลเจ้าพ่อบุญสม กล่าวว่า เขื่อนที่สร้างนั้นต่ำกว่าถนนทางเดิน คล้ายกับว่าไม่มีการยกระดับขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงฝนตกหนักและตกบ่อย ระดับน้ำในคลองนั้นได้เอ่อล้นเขื่อนขึ้นมาเพียงนิดเดียว หากฝนตกหนักกว่านี้อาจเกิดน้ำท่วมได้
“การดำเนินงานการโครงการนี้ ทำให้ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านดีขึ้น ไม่แออัด แต่โครงการนี้ทำให้ชาวบ้านเกิดภาระหนี้สิน เนื่องจากต้องนำเงินมาใช้จ่ายหลายอย่าง ทั้งการสร้าง การซ่อมแซม และการต่อเติมบ้านซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ค่อนข้างยากจน จึงเป็นเรื่องที่ลำบากมาก”
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลหน้างาน โครงการ “บ้านประชารัฐริมคลอง” ของจริง ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากคนในชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง ที่ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาเป็นทางการ
และข้อมูลบางส่วนก็ชี้ให้เห็นสัญญาณแห่งปัญหาหลายอย่าง ที่กำลังก่อร่างเกิดขึ้นในอนาคตเร็วๆ นี้