สมอ. เดินหน้าพัฒนามาตรฐานแปรรูปยางพาราให้ผู้ประกอบการ SMEs ตะวันออก
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ให้มีความรู้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สามารถนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน จนมีความพร้อมในการยื่นขอ มอก.
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการ สมอ. เปิดเผยว่า สมอ. ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง พาราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผลิตที่นอนและหมอน ยางพารา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยจัดการสัมมนาเรื่อง “ยกระดับสินค้ายางพาราไทยด้วยมาตรฐาน มอก.” ณ โรงแรมคามิโอ จังหวัดระยอง ขึ้นในวันนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมสร้างความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการยื่นขอ มอก.
การส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพาราพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน มอก. เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีการนำยางพารามาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ยางพาราที่เกษตรกรผลิตขึ้นมีการซื้อขาย ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่ายางในประเทศ ขานรับนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤติราคายางพาราอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน สมอ. ดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราและประกาศใช้แล้วจำนวน 155 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานทั่วไปจำนวน 152 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานบังคับที่ต้องมีความปลอดภัยเป็นพิเศษจำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.683–2530 ยางในรถจักรยานยนต์ มอก.969-2533 หัวนมยางสำหรับขวดนม และ มอก.1025–2539 หัวนมยางดูดเล่น นอกจากนี้ สมอ. ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยยางของประเทศในการผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางที่กำหนดขึ้นจากการวิจัยในประเทศ ไปประกาศเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) หลายมาตรฐาน และยังได้ปรับมาตรฐานสาขาผลิตภัณฑ์ยางให้สอดคล้องกันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 56 มาตรฐาน โดยมาตรฐานเหล่านี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมทั้งในด้านกระบวนการผลิตและการตรวจสอบรับรองจะเป็นกุญแจและใบเบิกทางที่สำคัญในการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และเสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขันในตลาดการค้าสากล
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจ ด้านการ ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs หลังจากที่ได้ดำเนินการ ไปแล้วในพื้นที่ภาคใต้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดย สมอ.มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนา มีความรู้และสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้ายางพาราให้ได้ มาตรฐานเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตแสดง เครื่องหมายมาตรฐาน สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม จะยื่นขอการรับรอง สมอ. ได้เตรียมความพร้อมของห้องแล็ปที่ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางพาราไว้แล้ว 5 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันยานยนต์ ศูนย์วิจัยยาง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี