“องค์กรประชาชนตรวจสอบท้องถิ่น” สูตรรักษาสารพัดปัญหาชุมชนไทย
กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มีประชากรราว 9.7 ล้านคน การให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างทั่วถึงแต่ก็ยังมีข้อผิดพลาด คนกรุงโซลจึงรวมตัวตั้งองค์กรภาคประชาชนตรวจตราการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ
คนกรุงโซลรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนขนาดย่อมเพื่อตรวจตราการให้บริการของรัฐในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน ระบบสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อพบเจอกับปัญหาก็จะรีบร้องเรียน และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น บอกเล่าโดย ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนา “ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยการทำงานที่โปร่งใส” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาเป็นบทเรียนให้กับพื้นที่ของตนเอง
ดร.วีระศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่าไม่ใช่เฉพาะแค่กรุงโซล เกาหลีใต้ ที่มีกระบวนการทำงานของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง แต่ที่กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีภาคประชาชนที่คอยตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นตนเองอย่างเข้มแข็ง โดยในทุกๆสัปดาห์ประชากรของเมืองนี้จะร่วมประชุมโต๊ะกลม เพื่อบอกเล่าปัญหาในท้องถิ่น เพื่อสรุปให้เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของเมืองช่วยกันแก้ไข ซึ่งผลของการประชุมทุกครั้งแทบไม่มีการปฏิเสธการแก้ปัญหาจากเจ้าหน้าที่รัฐเลยแม้แต่ครั้งเดียว
“การสร้างความโปร่งใสในภาครัฐเป็นเรื่องที่สำคัญ และหัวใจสำคัญของการจัดการเรื่องความโปร่งใสก็คือเราต้องจัดการให้เกิดความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ผมอยากบอกว่าการบริหารท้องถิ่นนั้นอย่ามองเพียงแค่วิธีการเดียวตามระบบราชการ เพราะจะทำให้เกิดความเสื่อมถอย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพัฒนาการทำงานของตนเองให้สอดคล้องกับประชาชนด้วยระบบที่หลากหลายและเหมาะสม ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ในเวทียังมีตัวแทนจากเครือข่ายท้องถิ่นไทยที่ทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่โปร่งใสเพื่อถิ่นฐานตนเอง หลายแห่งมีรางวัลการันตีผลงาน และมีเทคนิค กระบวนการ ขั้นตอนที่ อปท.อื่นๆสามารถนำไปเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ได้ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ(อบต.) อ.เมือง จ.เพรชบุรี นายธีรศักดิ์ พานิชย์วิทย์ นายก อบต.บ้านหม้อ เล่าว่า “การทำงานในท้องถิ่นของผมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเพราะใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นการร่วมกันทำงานของทุกคนในท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของพวกเราก้าวไกล
“เริ่มต้นด้วยการดึงความร่วมมือจากกำนัน และผู้ใหญ่บ้านโดยการให้องค์ความรู้ และปรับโครงสร้างการทำงานให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งให้เครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังดึงความร่วมมือจากโรงเรียน สถานีอนามัย และวัด มีการเปิดเวทีสร้างความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ ใครต้องการพัฒนาส่วนไหนอย่างไรก็จะลงไปช่วยกันอย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญที่เน้นมากที่สุดคือต้องสร้างองค์กรภาคสังคมในท้องที่ให้เติบโตขึ้น เมื่อภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยกันก็จะเกิดการมีส่วนร่วม และความโปร่งใสไปโดยปริยาย” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนที่ภาคเหนืออย่าง ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง เพ็ญภัคร รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีหญิง บอกเล่าถึงกระบวนการทำงานในท้องถิ่นว่า
“เป้าหมายใหญ่ในพื้นที่ของพวกเรา คือต้องการให้ผู้คนของเรามีจิตสำนึกสาธารณะ และเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเสรี ซึ่งทุกๆอาทิตย์เราจะมีการประชุมลานปัญญากันเพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของเราเพื่อรวบรวมให้ อปท.แก้ไขต่อไป ซึ่งการแก้ไขนั้นกระบวนการภาคประชาชนในท้องถิ่นก็สามารถตรวจสอบได้” นายกเทศมนตรีหญิง ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปางกล่าว
………………………….
ตัวอย่างที่ถูกนำเสนอในเวทีนี้ เป็นแค่บันไดก้าวแรกที่ท้องถิ่นหลายแห่งจะได้ร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดสร้างสรรค์สู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งยั่งยืน และหากมีบันไดก้าวต่อๆไปคือการนำไปปฏิบัติด้วยอย่างแท้จริง บุคคลที่จะได้รับผลประโยชน์ก็คือตัวเรา พ่อแม่พี่น้อง ลูกหลาน ที่อยู่ในชุมชนของเรานั่นเอง!