ออร์เดอร์ข้าวฉลุย 2 ชาติซื้อข้าว 5 แสนตัน
ตลาดข้าวนึ่งคึกคักบังกลาเทศ-ศรีลังกาขอนำเข้าข้าวไทย 5แสนตัน ขณะที่ฟิลิปปินส์เตรียมเปิดประมูลข้าวอีก2.5แสนตัน เดินหน้าหารือด้านเทคนิคกับอิรักหลังสนใจข้าวไทย 2 ล้านตันขณะพ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าวพ่นพิษ แรง งานหายจากเดิม 30%
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวนึ่งล่าสุดบังกลาเทศแสดงความสนใจที่จะนำเข้าข้าวนึ่ง 5% และ 100% จากไทยในลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ปริมาณ 2.5 แสนตัน ซึ่งจะได้มีการหารือกันถึงเรื่องแนวทางและเงื่อนไขในการนำเข้าข้าวและช่วงเวลาในการรับมอบต่อไปทั้งนี้เนื่องจากไทยไม่ได้สต๊อกข้าวนึ่งแต่จะผลิตตามปริมาณในสัญญาซื้อขาย เพราะต้องซื้อข้าวเปลือกในการผลิตข้าวและสีแปรเพื่อส่งออก ต้องเป็นข้าวที่ใหม่และสด ดังนั้นความต้องการดังกล่าวจะเป็นตัวดึงซัพพลายข้าวในตลาดทั้งนี้หากสามารถเจรจาตกลงกันแล้วเสร็จทางคต.จะขออนุมัติจากอัยการสูงสุดเพื่อทำสัญญาซื้อขาย คาดจะทันช่วงข้าวใหม่ออกมาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับข้าวที่จะออกมาใหม่ได้พอดี
ขณะเดียวกันศรีลังกาเองก็แสดงความสนใจที่จะนำเข้าข้าวนึ่งจากไทยเช่นกันเนื่องจากผลผลิตในประเทศได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โดยสนใจที่จะนำเข้าข้าวนึ่งปริมาณ 2.5 แสนตันเช่นกันทั้งนี้ศรีลังกาจะเข้ามาหารือกับกรมภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบรับจากศรีลังกา อย่างไรก็ดีศรีลังกามีความต้องการข้าวประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ส่วนอิรักอยู่ระหว่างการหารือในด้านเทคนิค เพราะอิรักต้องการนำเข้าข้าวขาว 5% ปริมาณ 2 ล้านตันซึ่งอาจจะซื้อทั้งจีทูจีและซื้อผ่านผู้ส่งออกข้าวไทย ส่วนจีนอยู่ระหว่างการส่งมอบเบื้องต้น
“ถือว่าขณะนี้ตลาดคึกคักมาก น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ดีในแง่ของตลาดเพราะเริ่มมีสัญญาณที่ดีในครึ่งปีหลังนี้ ไทยมีออเดอร์ส่งออกข้าวเพิ่ม 5 แสนตันเฉพาะ บังกลาเทศกับศรีลังกา ส่วนของฟิลิปปินส์ที่จะเปิดประมูลเร็วๆนี้ปริมาณที่ต้องการน่าจะ 2.5 แสนตัน”
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับขณะนี้การส่งออกข้าวของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นแต่ปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อการส่งออกข้าวในขณะนี้คือเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 เนื่องจากทำให้การขนส่งข้าวล่าช้าออกไป จากเดิมที่ใช้เวลา 7-10 วัน ขณะนี้ต้องใช้เวลาในการขนส่งข้าวเป็น 30 วัน เพราะไม่มีแรงงานมาขนข้าวซึ่งขณะนี้แรงงานหายไปแล้วกว่า 30% ของจำนวนแรงงานที่ขนส่งข้าว ทำให้ผู้ส่งออกลังเลที่จะรับคำสั่งซื้อข้าว เพราะกังวลว่าจะส่งมอบไม่ทันและส่งผลกดดันให้ราคาข้าวอาจจะลดลงในที่สุด ดังนั้นเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วย