เปิดสำนวนในศาลแพ่งคดี 6 พันล. ธพว.รับฮั้วประมูล ผู้บริหารทุจริต บอร์ดไม่รู้เห็น
เปิดสำนวนคดี 6 พันล. ธพว.ยอมรับฮั้วประมูล ผู้บริหารทุจริต ปกปิดข้อมูล บอร์ดไม่รู้เห็น ศาลแพ่งชี้ คกก.บริหาร - การเงิน ทำหน้าที่เป็น คกก.จัดจ้าง ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ ยันปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ก่อนพลิกในชั้นศาลอุทธรณ์ ลุ้นผลฎีกา
กรณีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นจำเลย เพื่อเรียกค่าเสียหายตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate /IRS) บนบัตรเงินฝากชนิดดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวนคดีมีทุนทรัพย์รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2558 ล่าสุด ต่อมา วันที่ 22 มิ.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ ธพว. ชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าว ตามข่าวในสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2560 (อ่านประกอบ : ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวยเอื้อ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ เบื้องลึกคดี 6 พันล.ธพว.)
ล่าสุดเรียบเรียงคำฟ้องในศาลชั้นต้นมาเสนอ
คำฟ้องของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) สรุปได้ว่า ธพว.ได้ทำสัญญาให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(คนละนิติบุคคลกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) ที่ฟ้องคดีนี้) ทำหน้าที่ Underwriter ในการออก FRCD วงเงิน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยมีอัตราต้นทุนรวมไม่เกินอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล บวก 1.0% และ ธพว.ได้ทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Cross Currency Swap หรือ CCS) กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 กำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 7 สิงหาคม 2549
ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมธุรกรรม โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดพิเศษ (Range Accrual Feature) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา สำหรับวงเงินครึ่งหนึ่ง หรือ 150,000,000 เหรียญสหรัฐ และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 ได้เพิ่มเติมข้อกำหนดพิเศษสำหรับวงเงินส่วนที่เหลืออีก 150,000,000 เหรียญสหรัฐ ต่อมาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 6 M USD LIBOR (อัตราดอกเบี้ยประเภท 6 เดือน ในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารที่กรุงลอนดอน) เคลื่อนไหวต่ำลงกว่ากรอบที่ตกลงกันไว้ ทำให้ ธพว.ต้องชำระดอกเบี้ยส่วนเพิ่ม แต่ ธพว.ไม่ชำระ โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาหลักของสมาคมสว็อปและตราสารอนุพันธ์ระหว่างประเทศ (The Multi Currency Cross Border ISDA Master Agreement) หรือสัญญาหลักอิสด้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาหลักกันไว้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2548 จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ ธพว.ชำระหนี้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ย
คำให้การแก้ฟ้องของ ธพว. สรุปได้ว่า คณะกรรมการ ธพว.มีมติที่ประชุมให้คณะกรรมการการเงินดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินเพื่อทำหน้าที่ Underwriter ในการออก FRCD โดยกระบวนการคัดเลือกถือเป็นการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มีสถาบันการเงินให้ความสนใจ(ในเบื้องต้น) จำนวน 7 แห่ง (ยื่นเสนอราคาจริง 5 แห่ง) คณะกรรมการการเงินได้คัดเลือกให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยคณะกรรมการการเงินให้คะแนนเต็มทุกข้อของหลักเกณฑ์การพิจารณา (จำนวน 500 คะแนน) ซึ่งเป็นความผิดปกติ หลังจากนั้น ธพว.ได้จัดทำอนุพันธ์ทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง กับ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
ต่อมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กับผู้บริหาร ธพว.ได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระระหว่างกันของสัญญา CCS เดิม มาเป็นสัญญา IRS โดยมีการกำหนดเบี้ยปรับพิเศษสำหรับข้อตกลงที่เป็น Range Accrual ในอัตราที่สูงมาก จึงมีผลทำให้เป็นสัญญา IRS ที่มีลักษณะซับซ้อนและเก็งกำไร และทำให้ ธพว.มีภาระต้นทุนในการออก FRCD สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล + 1.0% ซึ่งไม่เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว.ครั้งที่ 4/2549 และไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ธพว. โดยคณะกรรมการ ธพว.สำคัญผิดมาโดยตลอดว่า ธพว.ผูกพันตามสัญญา IRS ในแบบธรรมดา
และต่อมา ธพว.ตรวจพบว่าเกิดจากการกระทำทุจริตของผู้บริหาร ธพว.ร่วมธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการพิจารณาวินัย ผลการสอบสวนสรุปว่าผู้บริหาร ธพว.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดวินัยร้ายแรงและถูกลงโทษ ดังนั้นการที่ ธพว.เข้าผูกพันตามสัญญา IRS จึงเป็นไปโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญ สัญญา IRS จึงเป็นโมฆะ
นอกจากนี้การสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องการคัดเลือก Underwriter ได้พบข้อเท็จจริงแจ้งชัดว่า ผู้บริหาร ธพว.ได้เอื้อประโยชน์ และ/หรือได้ร่วมกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กระทำทุจริตเพื่อให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้รับการคัดเลือกเป็น Underwriter อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 สัญญาแต่งตั้งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็น Underwriter ตลอดจนสัญญา CCS และสัญญา IRS ระหว่าง ธพว.กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และ/หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ โดย ธพว.ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินคดีกับผู้บริหาร ธพว.และบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้ว ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อ ธพว.
@อ้าง ผู้บริหารทุจริต ปกปิดข้อมูล ทำให้บอร์ดสำคัญผิด ไม่ต้องรับผิดชอบ
ในคำให้การ และการสืบพยานของ ธพว.ได้อ้างอิงพยานหลักฐานในหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหาร ธพว.มีการกระทำทุจริต และปกปิดข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการ ธพว. ทำให้คณะกรรมการ ธพว.สำคัญผิดในสาระสำคัญ ส่งผลให้นิติกรรมที่ ธพว.ทำกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นโมฆะ ธพว. จึงไม่ต้องรับผิดต่อยอดหนี้ตามฟ้อง
การพิจารณาของศาลแพ่ง ในชั้นชี้สองสถาน ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาท 4 ประเด็น แต่ที่สำคัญมีเพียงประเด็นเดียวคือ สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายบัตรเงินฝาก และสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย เป็นโมฆะหรือไม่
หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยมีเหตุผลสำคัญที่เป็นเหตุยกฟ้อง คือ
1) ในช่วงของการจัดซื้อจัดจ้างหรือการคัดเลือก Underwriter มีการกระทำที่ไม่สุจริต โดยศาลแพ่งฟังข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบให้คัดเลือก Underwriter โดยผู้ทำหน้าที่ Underwriter จะได้รับค่าตอบแทนจากการดำเนินการ จึงเป็นการจ้างอย่างหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติที่ประชุมให้คณะกรรมการบริหาร(ตนเอง) และคณะกรรมการการเงิน เมื่อได้ผลสรุปแล้วให้นำเสนอคณะกรรมการ ธพว.ต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่า กรรมการผู้จัดการได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2547 ในการแต่งตั้งให้คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการการเงิน ร่วมกันเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อว่าจ้างสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดเป็น Underwriter จึงถือได้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ เป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับ
2) ในช่วงดำเนินการจัดให้มีอนุพันธ์ทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้บริหาร ธพว.ปิดบังข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญของทำนิติกรรมต่อคณะกรรมการ ธพว.ทำให้คณะกรรมการ ธพว.สำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม ส่งผลให้หนังสือยืนยันการทำนิติกรรมสองฉบับเป็นโมฆะ โดยคำพิพากษาของศาลได้ระบุถึงพฤติการณ์ 6 ประการ ที่ฟังเป็นยุติและชี้ให้เห็นว่ามีการปิดบังข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อคณะกรรมการ ธพว. คือ
ประการที่ 1 การรายงานของหน่วยงานของ ธพว.ต่อคณะกรรมการ ธพว.ว่า ธพว.เคยออก FRCD มาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง เมื่อปี 2548 โดยได้บริหารความเสี่ยงด้วยการทำสัญญา CCS และ IRS แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าสัญญา CCS และ IRS ในครั้งนั้น เป็นรูปแบบ Range Accrual หรือไม่ แต่อย่างใด
ประการที่ 2 ส่วนบริหารความเสี่ยงและสภาพคล่อง ได้ทำบันทึกภายในลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ให้ความเห็นว่าหากจะทำธุรกรรม IRS ตามโครงสร้างที่มีลักษณะ Range Accrual แล้ว ควรจะลดต้นทุนจากสัญญาอนุพันธ์ดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 3,187,778 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นนั้นเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว.
ประการที่ 3 ก่อนที่จะทำสัญญาอนุพันธ์ให้เป็นแบบ Range Accrual ครั้งที่ 2 สำหรับวงเงินที่คงเหลืออีก 150,000,000 เหรียญสหรัฐฯ ธพว.ได้รับแจ้งจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ว่า มีผลขาดทุนจากการทำสัญญา IRS แบบ Range Accrual ครั้งที่ 1 เป็นจำนวน 3,747,212 เหรียญสหรัฐฯ แต่ไม่มีการรายงานเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการ ธพว.
ประการที่ 4 การทำสัญญา IRS แบบ Range Accrual ครั้งที่ 2 โดยเพิ่มวงเงินอีกเท่าตัวจนครอบคลุมวงเงินทั้งหมด ไม่ปรากฏว่ามีการนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการ ธพว.พิจารณา
ประการที่ 5 พนักงานของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ส่ง Email ถึงพนักงาน ธพว. ในวันที่ 4 สิงหาคม 2549 แสดงความขอบคุณ ธพว.ที่จะทำสัญญา IRS ต่อไป เป็นการผิดปกติวิสัย ส่อไปในทางไม่สุจริตอย่างยิ่ง เนื่องจากขณะนั้นผู้มีอำนาจของ ธพว.ยังไม่ได้พิจารณาแต่อย่างใด
ประการที่ 6 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 พนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ บาร์เคลย์ แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยสำหรับสัญญา IRS ที่มีโครงสร้าง Range Accrual ให้กับพนักงาน ธพว. เพื่อเป็นทางเลือกแก่ ธพว.ในการเข้าทำธุรกรรมอนุพันธ์ ซึ่งตามความเห็นของส่วนบริหารความเสี่ยงด้านตลาดและสภาพคล่อง เห็นว่า โครงสร้างตามที่บริษัทดังกล่าวเสนอมาสามารถต้านทานความเสี่ยงได้สูงกว่าตลาดในขณะนั้น แต่ไม่มีการนำเสนอต่อไปยังคณะกรรมการ ธพว.แต่อย่างใด
โดยศาลแพ่งรับฟังข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้วใช้เป็นเหตุยกฟ้องทั้ง 3 สำนวน
@ศาลอุทธรณ์ชี้ บอร์ด ธพว.ควรรู้ถึงเหตุการณ์-ธ.รับ ปย.มานาน
คำอุทธรณ์และการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2559 โดยอุทธรณ์หักล้างคำพิพากษาของศาลแพ่ง ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญเพื่อหักล้างการวินิจฉัยพฤติการณ์ทั้ง 6 ประการ ที่ศาลแพ่งฟังเป็นยุติและเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ที่ส่งผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะ โดยชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการ ธพว.ควรจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ทั้งหมด หากเป็นการสำคัญผิดก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคณะกรรมการ ธพว. ซึ่งจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ตามมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ ธพว.ยังได้ยอมรับเอาประโยชน์ภายใต้ธุรกรรมที่ทำสัญญากันมากว่า 1 ปี โดยไม่ได้โต้แย้งและบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่เป็นโมฆะ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว เห็นว่าอุทธรณ์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ฟังขึ้น โดยเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องของ ธพว.และคณะกรรมการ ธพว.รับรู้ถึงรายละเอียดในสัญญา ทำให้สัญญาไม่เป็นโมฆะ จึงพิพากษากลับให้ ธพว.ชำระหนี้ให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ตามที่ฟ้อง เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ชำระเสร็จ อีกประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินมากกว่า 7,000 ล้านบาท
@ลุ้นผลศาลฎีกา
ขณะที่การต่อสู้คดีชั้นศาลฎีกา ธพว.จะต้องยื่นฎีกาภายใน 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดย ธพว.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยละเอียด เพื่อหาช่องทางหักล้างเหตุผลในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่าสัญญาไม่เป็นโมฆะ เนื่องจากประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญมีเพียงประเด็นเดียวคือ สัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดในคำพิพากษามากกว่า 400 หน้า หากฎีกาของ ธพว. ไม่มีเหตุผลเพียงพอ หรือไม่มีสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อ่านประกอบ:
ไล่ออกผู้บริหาร 4 คน สังเวยเอื้อ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ เบื้องลึกคดี 6 พันล.ธพว.
ไขที่มาคดีบัตรเงินฝาก FRCD ธพว.ต้องใช้หนี้ ‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ 6 พันล.
ธพว.แพ้คดีในศาลอุทธรณ์ต้องใช้หนี้แบงก์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 6 พันล.