กระทรวงวิทย์ฯ จับมือ 35 ม.ทั่วประเทศ บ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์สตาร์ทอัพไทย”
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 เวลา 12.30 น. ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในการลงนามแถลงการณ์ร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ลงนาม ร่วมกับ อธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้ง 35 แห่ง ณ Pitching Stage Hall A ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการสร้างความตระหนักและความตื่นตัว (Awareness) จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial mindset) สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ (Incubation) เพื่อสนับสนุนการเร่งพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและสังคมฐานความรู้
การพัฒนาสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนในการพัฒนาคน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ หรือ Entrepreneurial Universities ที่จะบ่มเพาะกำลังแรงงานยุคใหม่ ที่ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และน่าดีใจที่วันนี้ เราได้เห็นความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลง และพร้อมเข้ามามีบทบาทในการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย
การดำเนินงาน โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง ร่วมกับมหาวิทยาลัย 35 แห่ง ทั่วประเทศ มีเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ด้วยการ 1) สร้างแรงบันดาลใจ 2) เสริมสร้างความรู้ 3) และสุดท้ายส่งเสริมให้เกิดแนวคิดธุรกิจใหม่
ความร่วมมือจากภาคสถาบันการศึกษา โดยมหาวิทยาลัย 35 แห่งทั่วประเทศ ในการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ขึ้นในสถาบันการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยการประกอบการ (Entrepreneurial University) และยกระดับบทบาทของสถาบันการศึกษาในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการความตระหนักและการตื่นตัวในการเป็น ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และเสริมสร้างความร่วมมือ 4 ฝ่าย (Quadruple Helix) ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและ ประชาคมวิสาหกิจเริ่มต้น ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นการยกระดับ และพัฒนาคุณภาพของวิสาหกิจเริ่มต้นอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ในที่สุด